xs
xsm
sm
md
lg

คลังจูงเอกชนพบ “ประจิน” ชูไทยเป็นฮับไบโอพลาสติก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลังนำทีมภาครัฐ-เอกชนตบเท้าพบ “ประจิน” วันนี้ เพื่อถกขอมาตรการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% หนุนไทยเป็นฮับไบโอพลาสติก “เนเชอร์เวิร์คส์” เผยหาก คสช.ไฟเขียวส่งเสริมก็เตรียมชงบอร์ดอนุมัติตั้งโรงงานผลิต PLA ในไทยต้นปี 58 เงินลงทุน 8 พันล้านบาท ยอมรับหากไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐคงต้องพับแผนลงทุนไปตั้งประเทศเพื่อนบ้านแทน

นายวิบูลย์ พึงประเสริฐ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชียแปซิฟิก จำกัด เปิดเผยความคืบหน้าการลงทุนโครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA แห่งที่ 2 ว่า พรุ่งนี้ (20 ส.ค.) ทางกระทรวงการคลัง กระทรวงการอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ปตท. และเนเชอร์เวิร์คส์ฯ ไปหารือกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศและหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อหารือมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพครบวงจร(ฮับไบโอพลาสติก) ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยภาคเอกชนขอให้รัฐออกมาตรการช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ดอกเบี้ย 2% เพื่อให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกแบบครบวงจร

ทั้งนี้ หาก คสช.เห็นชอบให้คลังออกมาตรการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ บริษัทฯ จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ฯ ที่สหรัฐฯ เพื่ออนุมัติแผนการลงทุนผลิต PLA ในไทย แต่หาก คสช.ไม่เห็นชอบหรือออกมาตรการสนับสนุนโครงการลงทุนไบโอพลาสติก ก็คงต้องพับแผนการลงทุนผลิต PLA ในไทย แต่จะหันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านสนับสนุนเงินทุนให้เปล่าและดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ คาดว่าในปีนี้จะมีความชัดเจนที่ตั้งโรงงานผลิต PLA แห่งที่ 2 หลังจากโครงการดังกล่าวล่าช้ามานาน 2 ปี

อย่างไรก็ตาม หากตัดสินใจลงทุนโครงการผลิต PLA ในไทยปีหน้า จะเริ่มก่อสร้างเฟสแรกกำลังการผลิต 7.5 หมื่นตัน/ปี ใช้เงินลงทุน 8 พันล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2560 หลังจากอีก 3-5 ปีจะเริ่มโครงการเฟส 2 อีก 7.5 หมื่นตัน เงินลงทุน 5 พันล้านบาท โดยเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PLA จะใช้ในประเทศส่วนหนึ่ง ที่เหลือส่วนใหญ่ส่งออกไปในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งปัจจุบันความต้องการใช้ไบโอพลาสติกโลกอยู่ที่ 1% ของความต้องการใช้พลาสติกรวม

นายวิบูลย์กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีความได้เปรียบคู่แข่งทั้งจำนวนผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ต่างๆ และเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซึ่งน้ำตาลถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA หากได้มาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจะทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกพลาสติกชีวภาพที่มีต้นทุนต่ำแข่งขันกับผลิตภัณฑ์พลาสติกทั่วไปได้ จากปัจจุบันราคาพลาสติกชีวภาพสูงกว่าพลาสติกทั่วไปถึง 30%

นายชวลิต ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ พัฒนาธุรกิจและบริหารโครงการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การส่งเสริมโครงการลงทุนอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกสอดคล้องกับนโยบายของ คสช.ที่สนับสนุนใช้วัตถุดิบจากสินค้าเกษตรเพื่อช่วยเพิ่มมูลค่า ซึ่ง ปตท.สนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยได้พัฒนานิคมฯ เอเชียรองรับการลงทุนไบโอพลาสติก บนพื้นที่ 1,500 ไร่ เบื้องต้นมีโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PBS ขนาด 2 หมื่นตัน/ปี ส่วนโครงการผลิต PLA จะประกาศการลงทุนในไตรมาสแรกปี 2558 โดยนิคมฯ นี้จะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลด้วย

ทั้งนี้ ปตท.ได้ร่วมทุนกับมิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น ตั้งบริษัทร่วมทุนพีทีที เอ็มซีซี เพื่อโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PBS กำลังการผลิต 2 หมื่นตัน/ปี ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จ.ระยอง ใช้เงินลงทุน 160-180 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปีหน้า ขณะเดียวกัน บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เข้าไปถือหุ้นในเนเชอร์เวิร์คส์ที่สหรัฐฯ 50%

วันนี้ (19 ส.ค.) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ เนเชอร์เวิร์คส์ฯ และบริษัท แดรี่โฮม เปิดตัวถ้วยโยเกิร์ตที่ใช้ไบโอพลาสติก PLA เป็นครั้งแรกในไทยและเอเชีย ซึ่งจะเป็นการวางฐานของการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้แม้ว่าต้นทุนจะสูงกว่า 20% เพื่อประกาศเจตนารมณ์การดำเนินธุรกิจที่มุ่งดูแลผู้บริโภคควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนของสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น