“ปิยสวัสดิ์” ติงนโยบายรัฐทำ ปตท.มีฐานะการเงินไม่แข็งแกร่ง เหตุไม่กล้าต้านกระแสสังคมขยับขึ้นราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ส่งผลให้ ปตท.ต้องแบกรับภาระปีละ 3 หมื่นล้านบาท และ ROIC ลดลงทุกปีอยู่ที่ 9% นับจากนี้ ปตท.ต้องเร่งขยายการลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างความยั่งยืน หลังจากปิโตรเลียมในประเทศลดลง โดยต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมแทนการพึ่งพาทรัพยากรในประเทศ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ปตท. (นัดพิเศษ) เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดทิศทางและกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท.ในช่วง 5 ปีข้างหน้าเพื่อใช้ประกอบการจัดทำแผนวิสาหกิจและงบประมาณประจำปี 2558-2562 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายวิสัยทัศน์การเป็นบริษัทพลังงานไทยข้ามชาติชั้นนำ โดยยอมรับว่าที่ผ่านมา ปตท.เติบโตจากการพึ่งพาทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศ และนับวันทรัพยากรในประเทศมีจำกัดแม้ว่าจะได้รับการต่อสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมในไทยก็ตาม ทำให้ไทยยังต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น ปตท.จำเป็นต้องพัฒนาและพึ่งพาองค์ความรู้มากกว่าการพึ่งพาทรัพยากรในประเทศ โดยพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ และให้ความสำคัญด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เป็นองค์กรที่มีความยั่งยืนเหมือนกับบริษัท โททาล ของฝรั่งเศส ซึ่งแต่ละปี ปตท.มีการตั้งงบในการวิจัยและพัฒนา 3% ของยอดขาย และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ปตท.ยังได้หารือเพื่อวางกลยุทธ์ระยะยาว 14 ปีข้างหน้า (2558-2571) เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ในโอกาสที่ ปตท.ครบรอบ 50 ปี ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสม เพื่อให้ ปตท.เติบโตไปข้างหน้าภายใต้การเปลี่ยนแปลงทิศทางกระแสโลกอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านสังคมการเมือง เทคโนโลยีที่จะพลิกเศรษฐกิจและธุรกิจ และแนวโน้มอุตสาหกรรมพลังงานที่มีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ และพลังงานทางเลือกที่เพิ่มขึ้น
นายปิยสวัสดิ์กล่าวต่อไปว่า นับจากนี้กลุ่ม ปตท.ต้องแสวงหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) เนื่องจากสัญญาสัมปทานต่างๆ จะทยอยหมดอายุลง และปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยก็จะลดลงอย่างรวดเร็วในปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนในการเปิดประมูลสัมปทานรอบที่ 21 และการต่อสัญญาสัมปทานที่จะสิ้นสุดลง รวมไปถึงการเจรจาพัฒนาพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-กัมพูชาที่จะต้องใช้เวลาอีกนาน
การลงทุนในต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นของ ปตท.ทำให้ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น แต่ปัจจุบันอัตรากำไรของ ปตท. (Profit Margin) อยู่ระดับต่ำเพียง 2.7% ของยอดขาย ซึ่งต่ำกว่าบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานด้วยกัน และมีผลตอบแทนการลงทุน (ROIC)ต่ำลงทุกปี โดยปี 2556 อยู่ที่ 9% จากปกติควรอยู่ระดับ 16% ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของ ปตท.ไม่แข็งแกร่ง ทั้งนี้เนื่องจากนโยบายรัฐที่ไม่กล้าตัดสินใจหรือต้านกระแสสังคมได้ ทำให้ ปตท.ต้องแบกรับภาระจากก๊าซหุงต้ม (LPG) และ NGV ปีละ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งนับวันภาระดังกล่าวจะเพิ่มมากขึ้น
ที่ผ่านมาผลการดำเนินงานของ ปตท.มีกำไรสุทธิประมาณ 90,000-100,000 ล้านบาทมานานถึง 7 ปี แต่ยอดขาย ปตท.เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้อัตรากำไรขั้นต้น ปตท.ลดลงต่ำกว่า 3% ของยอดขาย และมีประชาชนบางกลุ่มเข้าใจว่า ปตท.กำไรเยอะมาก ทั้งที่กำไรจะมากหรือน้อยต้องเปรียบเทียบกับเงินลงทุนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาการลงทุนของ ปตท.จำนวนมากทั้งในและต่างประเทศมาจากกำไรจากการดำเนินงานโดยไม่สร้างภาระให้กับรัฐ โดยปีนี้ ปตท.มีการทบทวนงบการลงทุนใหม่ โดยมีการปรับลดงบลงทุนในต่างประเทศลง
“ROIC ของ ปตท.ลดลงเรื่อยๆ ในปี 2556 อยู่ที่ 9% เป็นผลมาจากนโยบายรัฐที่ไม่กล้าขยับราคาพลังงานตามกลไกราคา ถ้ารัฐยังคงนโยบายเช่นนี้ ปตท.ก็คงต้องลดค่าใช้จ่ายลง และชะลอการลงทุน เพื่อรักษาฐานะการเงินให้เข้มแข็ง สวนทางกับนโยบายการเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ”
ดังนั้น ราคาพลังงานควรสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง หากรัฐยังคงอุดหนุนพลังงาน แม้ว่า ปตท.จะเป็นของรัฐ 100% ปตท.จะกลายเป็นองค์กรที่ไม่มีประสิทธิภาพ คนที่จะปลดโซ่ตรวนตรงนี้ได้คือผู้ที่มีอำนาจ รวมทั้งพยายามประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ส่วนแนวคิดที่จะเปลี่ยนแบรนด์ปั๊ม ปตท.เป็นปั๊มสามทหาร ถือเป็นการแก้ไขไม่ตรงจุด และแบรนด์ ปตท.ก็ติดตลาดอยู่แล้ว โดยบอร์ด ปตท.ได้สั่งให้ฝ่ายบริหารไปเร่งทำความเข้าใจกับสังคมให้ทราบข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ ที่ ปตท.ถูกโจมตีให้เสร็จภายใน 1 ปี
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บมจ.ปตท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ปตท.ได้มีการลงทุนพลังงานทดแทน ทั้งการส่งเสริมการใช้เอทานอล ล่าสุดมีโครงการนำร่องในการนำเปลือกอ้อย ฟางข้าวมาสกัดเป็นเอทานอล โดยพบว่าต้นทุนการผลิตสามารถแข่งขันได้ รวมทั้งมีการร่วมทุนกับต่างชาติตั้งโรงงานผลิตไบโอพลาสติกชนิด PBS คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในอีก 18 เดือนข้างหน้านี้ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฮับด้านพลาสติกชีวภาพ