xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ดันพลาสติกชีวภาพ จีบเจ้าของวัตถุดิบเข้าไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน–ปตท.เผยโรงงานพลาสติกชีวภาพชนิดPBS เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ก.ค.นี้ เผยเจรจาเจ้าของเทคโนโลยีสารตั้งต้นผลิตพลาสติกดังกล่าวแล้ว หวังดึงมาตั้งโรงงานในไทย ส่วนโรงงานผลิตPLA คงต้องรอเนเชอร์เวิร์คส์เข้าตลาดหุ้นก่อนกลางปี 58 ยอมรับราคาน้ำมันดิบถูก กระทบอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกเกิดยาก
นายชวลิต ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจนต่ำกว่า 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ เนื่องจากแนฟทาที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกมีต้นทุนที่ถูกลง ทำให้พลาสติกชีวภาพแข่งขันได้ลำบากขึ้น แต่โครงการร่วมทุนระหว่าง ปตท. กับมิตซูบิชิ เคมิคอล (MCC) ผลิต Polybutelene Succinate (PBS) ซึ่งเป็นพลาสติกชีวภาพชนิดย่อยสลายได้ ขนาดกำลังผลิต 2 หมื่นตัน/ปี จะแล้วเสร็จต้นปี 2558 หลังจากนั้นจะส่งผลิตภัณฑ์ PBSไปรับรองคุณภาพสินค้า คาดว่าจะผลิตเชิงพาณชิย์ได้ในเดือนก.ค.นี้ สร้างรายได้ปีละ 3,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปตท.ยังศึกษาต่อยอดการลงทุนโครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PBS โดยมีแผนตั้งโรงงานผลิตสารตั้งต้นของ PBS ทั้ง 2 ตัว ได้แก่ Bio-Succinic Acid (BSA) และ Butanediol โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรากับเจ้าของเทคโนโลยี 2-3 รายเพื่อดึงเข้ามาตั้งโรงงานดังกล่าวในไทย โดยเบื้องต้นจำเป็นต้องนำเข้าสารตั้งต้นทั้ง 2 ชนิดมาใช้ป้อนโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ PBS ก่อน
นายชวลิตกล่าวถึงความคืบหน้าการดึงบริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ ที่สหรัฐฯ เข้ามาตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA ในไทยว่า ขณะนี้ทางเนเชอร์เวิร์คส์ อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กร รวมทั้งมีแผนจะนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นที่สหรัฐฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีกลางปี 2558 โดยเม็ดเงินเพิ่มทุนของเนเชอร์เวิร์คส์ จะนำมาใช้ในการสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA แห่งที่ 2 จากปัจจุบันที่มีโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA อยู่ในสหรัฐฯ
"ปตท.จะผลักดันให้เนเชอร์เวิร์คส์เข้ามาตั้งโรงงานดังกล่าวในไทย โดยที่ผ่านมา รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางไบโอพลาสติก เพราะไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบ"
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าขณะนี้ทางคู่แข่ง คือ Corbion หรือเพียวแรคเดิม ซึ่งมีโรงงานผลิตแลคไทด์ (Lactide) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA ในไทย ซึ่งเดิมนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ก็มีแผนจะขยายกำลังการผลิตแลคไทด์ เพิ่มขึ้นอีก 7.5 หมื่นตัน เพื่อนำใช้ผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA ด้วย ทำให้ปตท.ต้องเร่งผลักดันโครงการดังกล่าวให้เกิดขึ้นโดยเร็วในไทย คาดว่าจะมีความชัดเจนในครึ่งหลังปี 2558
ทั้งนี้ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมีคอล มีแผนจะดึงเนเชอร์เวิร์คส์มาลงทุนตั้งโรงงานในไทย PLA เฟสแรก 7.5 หมื่นตัน/ปี ใช้เงินลงทุน 250 ล้านเหรียญสหรัฐ และเฟสที่ 2 อีก 7.5 หมื่นตัน ใช้เงินลงทุน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเนเชอร์เวิร์คส์ต้องการให้รัฐบาลไทยสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและอื่นๆ เพื่อให้โครงการมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุด
นอกจากนี้ คาร์กิล ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 50% ของเนเชอร์เวิร์คส์ที่สหรัฐฯ ร่วมกับบมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล (PTTGC) นั้นเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการผลิต แลคไทด์ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิต PLA ดังนั้น จึงต้องเจรจาเพื่อให้เนเชอร์เวิร์คส์เป็นเจ้าของเทคโนโลยีผลิตแลคไทด์ด้วย หลังจากนั้นค่อยนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น