xs
xsm
sm
md
lg

ซีอีโอ PTTGC สั่งเดินหน้าลงทุนทั้งใน-ตปท. ชี้ปี 58 ชัดเจนตั้ง รง.ปิโตรฯ ในสหรัฐฯ-อิโดนีเซีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สุพัฒนพงษ์” CEO “พีทีที โกลบอล เคมิคอล” เดินหน้ากลยุทธ์ 3 ประสานเพื่อสร้างการเติบโตให้บริษัทอย่างยั่งยืน ลั่นปีหน้ามีความคืบหน้าทุกโครงการ หากพบว่าโครงการใดอืดก็จะยกเลิกการลงทุนไป หลังพบว่าหลายโครงการดีเลย์มานาน แย้มสบช่อง Shale Gas ถูก เจรจาพันธมิตรร่วมทุนตั้งโรงงานปิโตรเคมีในสหรัฐฯ คาดมีความชัดเจนกลางปี 58 กล่อม Cargill เข็นเนเชอร์ เวิร์คส์ เข้าตลาดหุ้นในสหรัฐฯ รวมทั้งเร่งเจรจาเปอร์ตามิน่าลุยโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ที่อินโดนีเซีย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เปิดเผยว่า ยังเดินหน้ากลยุทธ์ 3 ประสานเพื่อสร้างความเติบโตของบริษัทอย่างยั่งยืนท่ามกลางสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่สูง คือ 1. การสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจในปัจจุบัน (Core Uplift Project) ที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว 2. การขยายธุรกิจต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ และ 3. การเข้าสู่ธุรกิจสีเขียว จะเห็นความชัดเจนในปี 2558 หากโครงการใดล่าช้าก็อาจยกเลิกการลงทุนไป หลังพบว่ามีบางโครงการยังไม่มีความคืบหน้า

การขยายธุรกิจต่อเนื่องจะมีทั้งการเข้าไปลงทุนในพื้นที่ใหม่ที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ อาทิ โครงการร่วมทุนกับเปอร์ตามิน่า ในโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ที่บาลองกัน ประเทศอินโดนีเซีย มูลค่าเงินลงทุน 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะได้ข้อสรุปผลการศึกษาความเป็นไปได้โครงการว่าจะคุ้มการลงทุนหรือไม่ในไตรมาสแรกของปี 2558 และจะตัดสินใจลงทุนหรือไม่ในปลายปี 2558 เพราะต้องรอให้ทางเปอร์ตามิน่าหาพันธมิตรในการขยายโรงกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 1.2 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 3.2 แสนบาร์เรล/วัน เพื่อให้มีแนฟทาและแอลพีจีเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในโรงโอเลฟินส์และโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกต่อเนื่อง

โดยบริษัทฯ จะเร่งเดินหน้าเจรจาโครงการดังกล่าว หลังจากอินโดนีเซียมีรัฐบาลใหม่ และเชื่อว่าไม่กระทบโครงการร่วมทุนดังกล่าวเนื่องจากอินโดนีเซียมีความต้องการใช้เม็ดพลาสติกจำนวนมาก แต่กำลังการผลิตไม่เพียงพอทำให้ต้องนำเข้าเป็นหลัก ซึ่งโครงการนี้จะตอบสนองความต้องการใช้ภายในประเทศ

นอกจากนี้ บริษัทยังสนใจที่จะเข้าไปลงทุนโรงงานปิโตรเคมีที่สหรัฐฯ หลังจากสหรัฐฯ พบ Shale Gas ที่มีต้นทุนราคาก๊าซฯ ต่ำ หลังจากบริษัทได้ติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งการลงทุนนี้จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ล่าสุดบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศที่จะร่วมทุนในโครงการดังกล่าว คาดว่าจะมีความชัดเจนและเปิดเผยรายชื่อพันธมิตรร่วมทุนได้กลางปีหน้า รวมทั้งจะเร่งหาข้อสรุปการร่วมทุนกับไซโนเปคในการตั้งโรงงานผลิตโพลียูรีเทนที่ประเทศจีนด้วย

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวถึงการรุกธุรกิจสีเขียวซี่งเป็นไปตามเทรนด์ของโลกนั้น มองว่าไทยมีศักยภาพที่จะเป็นฮับด้านไบโอพลาสติกได้ ทำให้บริษัทฯ มีการซื้อกิจการที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี และการเข้าร่วมทุนกับ Cargill ในบริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพชนิด PLA มีโรงงานอยู่ที่สหรัฐฯ โดยหวังจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาตั้งโรงงานในไทย

เบื้องต้นบริษัทฯ ได้มีการเจรจากับพาร์ตเนอร์ คือ Cargill ที่จะนำบริษัท เนเชอร์ เวิร์คส์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพื่อประเมินธุรกิจสีเขียวได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมากน้อยแค่ไหน ทำให้เนเชอร์ เวิร์คส์ ต้องมีการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ให้มีความสมบูรณ์ จากเดิมที่ต้องซื้อแลกติก แอซิดจากบริษัทย่อยของ Cargill มาผลิต PLA และการเข้าตลาดหุ้นในสหรัฐฯ ยังได้เงินจากการระดมทุนมาใช้ในการขยายโรงงานผลิต PLA แห่งใหม่ในไทยด้วย

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวถึงโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการและจะแล้วเสร็จในปีหน้า มีทั้งสิ้น 3 โครงการหลัก คือ 1. การขยายกำลังการผลิตฟีนอลอีก 250,000 ตันต่อปี 2. การปรับปรุงประสิทธิภาพ (Plant Improvement) โรงงานทีโอซี ไกลคอล (TOCGC) เพิ่มการผลิต EO อีก 90,000 ตันต่อปี และ 3. การขยายกำลังการผลิตของโรงงานอะโรเมติกส์ 2 เพื่อเพิ่มการผลิตพาราไซลีน อีก 115,000 ตันต่อปี โดยทั้ง 3 โครงการมีเป้าหมายแล้วเสร็จในครึ่งหลังปี 2558 ทำให้ปีหน้าบริษัทฯ มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 4-5 แสนตัน คาดว่าจะช่วยเสริมให้กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและภาษี (EBITDA) เพิ่มขึ้นอีก 180 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือโตขึ้น 10% จากปีนี้

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 4 นี้ คงต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด โดยมีความกังวลว่าจะขาดทุนสต๊อกน้ำมัน หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับราคาที่ปิดช่วงสิ้นไตรมาส 3/2557 ที่ 95 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยไตรมาสนี้บริษัทมีการรับวัตถุดิบอีเทนจากโรงแยกก๊าซฯ หน่วย 5 ได้เต็มที่ และมาร์จิ้นเม็ดพลาสติกยังสูงอยู่ถึงตันละ 800 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ราคาพาราไซลีนก็น่าจะพ้นจุดต่ำสุดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทคาดว่าจะมี EBITDA Margin ใกล้เคียงปีที่แล้วที่ 11% (ไม่รวมผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน) ปัจจุบัน PTTGC ใหญ่เป็นอันดับ 6 ในเอเชียรองจากบริษัทจากจีนและเกาหลี และใหญ่เป็นอันดับ 22 ของโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น