xs
xsm
sm
md
lg

“เนเชอร์เวิร์คส์” ลุ้น ครม.อนุมัติเงินกู้ ดบ.ต่ำ หวังผุด รง. PLA ปีหน้าในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

            นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)   ลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการความร่วมมือศึกษาการลงทุนพัฒนา ไบโอฮับ กับผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทย
ลุ้น ครม.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในโครงการผลิตพลาสติกชีวภาพในเดือน ต.ค.นี้ หวังเพื่อดันให้ไทยเป็นไบโอฮับ ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของไทย “เนเชอร์เวิร์คส์ฯ” ลั่นหาก ครม.ไฟเขียวก็พร้อมลงทุนตั้งโรงงานผลิต PLA แห่งที่ 2 ในไทยทันที

นายวิบูลย์ พึงประเสริฐ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชียแปซิฟิก จำกัด เปิดเผยความคืบหน้าการลงทุนโครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA แห่งที่ 2 ว่า ตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และบริษัทฯ ได้หารือกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอมาตรการช่วยเหลือเพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพครบวงจรในไทยนั้น ทาง พล.อ.อ.ประจินได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) คาดว่าจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในเดือนตุลาคมนี้

หาก ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแล้ว ทางบริษัทฯ จะเสนอแผนการลงทุนตั้งโรงงานผลิต PLA แห่งที่ 2 ในไทยต่อบริษัท คาร์กิล ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 50% ของเนเชอร์เวิร์คส์ที่สหรัฐฯ เพื่ออนุมัติการลงทุน หลังจากปี 2558 ก็จะดำเนินการหาผู้รับเหมาและก่อสร้างโรงงานในไทยได้ทันที ใช้เวลาดำเนินการจนแล้วเสร็จใน 3 ปีถัดไป

นายวิบูลย์กล่าวต่อไปว่า เดิมภาคเอกชนเสนอขอให้รัฐช่วยเหลือด้านวัตถุดิบ คือ น้ำตาล โดยรัฐเห็นว่าให้เอกชนไปเจรจาซื้อน้ำตาลจากโรงงานโดยตรงเอง โดยใช้น้ำตาลโควตา ค. ซึ่งเป็นน้ำตาลเพื่อส่งออก เพื่อไม่ให้กระทบต่อปริมาณน้ำตาลที่ใช้บริโภคภายในประเทศ โดยโครงการนี้ทาง คสช.สนับสนุนเนื่องจากเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร

โดยบริษัทฯ มีแผนลงทุนโครงการผลิต PLA แห่งที่ 2 โดยแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกจะผลิต 7.5 หมื่นตัน/ปี ใช้เงินลงทุน 250 ล้านเหรียญสหรัฐ และเฟสที่ 2 อีก 7.5 หมื่นตัน ใช้เงินลงทุน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย PLA ที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน

เมื่อเร็วๆ นี้ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ได้ลงนามเอ็มโอยูโครงการความร่วมมือศึกษาการลงทุนพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรมเคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Biohub) ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทย ประกอบด้วย บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ซูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS กลุ่มน้ำตาลมิตรผล และบริษัท คริสตอลลา จำกัด ของกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี

นายปฏิภาณ สุคนธมาน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล กล่าวว่า การผลักดันให้เกิด Biohub ในไทยจะทำให้การตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานผลิต PLA แห่งที่ 2 ของเนเชอร์เวิร์คส์ง่ายขึ้น เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางด้านวัตถุดิบในการผลิตไบโอพลาสติกทั้งน้ำตาลและแป้งมัน ทำให้มีความมั่นคงด้านวัตถุดิบ โดยการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน Biohub เบื้องต้นกำหนดผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ของโครงการไว้ที่ 14% โดยจะแบ่งเป็นเฟสในการลงทุน ซึ่งอาจจะดึงเนเชอร์เวิร์คส์ เอเชียแปซิฟิกเข้ามาร่วมทุนด้วย รวมทั้งโครงการนี้ยังดึงดูดการลงทุนจากผู้พัฒนาและเจ้าของเทคโนโลยีการผลิต ผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วย

ในการจัดตั้ง Biohub โดยใช้วัตถุดิบจากการเกษตรในการผลิตไบโอพลาสติก (พลาสติกชีวภาพ) เชื้อเพลิงชีวภาพ และผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพขึ้นในประเทศไทย ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวจะใช้เวลา 6-8 เดือน เพื่อศึกษาครอบคลุมโครงสร้างธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐานของโครงการ วัตถุดิบ การลงทุน และพื้นที่โครงการ เป็นต้น

ปัจจุบันความต้องการใช้ไบโอพลาสติกเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯ จะชะลอตัว โดยปีที่แล้วการใช้ไบโอพลาสติกในสหรัฐฯ โตขึ้น 15% เช่นเดียวกับปีนี้ แต่นับจากนี้ไปเชื่อว่าความต้องการใช้จะเพิ่มมากขึ้นหลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้มั่นใจว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าการใช้กำลังการผลิตโรงงาน PLA แห่งแรกที่สหรัฐฯ จะเต็มกำลังการผลิตได้ จากปัจจุบันที่เดินเครื่องจักรเพียง 60-70% ของกำลังการผลิต 1.4 แสนตัน/ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น