xs
xsm
sm
md
lg

PTTGC จับมือ KTIS-กลุ่มน้ำตาลใหญ่ภายในประเทศ ศึกษาลงทุนพัฒนา Biohub ในภูมิภาคเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการความร่วมมือศึกษาการลงทุนพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรมเคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Biohub) ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทย ประกอบด้วย บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ซูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS กลุ่มน้ำตาลมิตรผล และบริษัท คริสตอลลา จำกัด

โดยบริษัทพันธมิตรจะร่วมกับ PTTGC ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง Biohub โดยใช้วัตถุดิบจากการเกษตรในการผลิตไบโอพลาสติก (พลาสติกชีวภาพ) เชื้อเพลิงชีวภาพ และผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพขึ้นในประเทศไทย เพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พืชผลการเกษตร สอดคล้องต่อนโยบายของภาครัฐที่มีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพและเคมีชีวภาพ สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม Biohub ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพสามารถจะนำไปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปต่างๆ ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ ภาชนะใส่อาหาร ชิ้นส่วนรถยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้า และเส้นใยสังเคราะห์ในส่วนเคมีชีวภาพ นอกจากใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตพลาสติกชีวภาพแล้ว ยังสามารถใช้เป็นสารเติมแต่งอาหาร และเครื่องสำอาง

สำหรับวัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อสร้างประเทศไทยให้เป็น Biohub ในเอเชีย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ส่งเสริมเศรษฐกิจของไทยทั้งในภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมไปพร้อมกัน โดยกรอบการศึกษาจะครอบคลุมโครงสร้างธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐานของโครงการ วัตถุดิบ การลงทุน และพื้นที่โครงการ คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 6-8 เดือน

โดยการสร้าง Biohub ในประเทศไทย จะส่งผลดีหลายประการ ได้แก่ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรด้วยอุตสาหกรรมพลาสติก เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพเพื่อต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมแปรรูปและอุตสาหกรรมปลายทาง นำไปสู่การจ้างงาน และสร้างรายได้ให้ประเทศในภาพรวม รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติก เชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพและอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้เติบโตอย่างยั่งยืน และดึงดูดการลงทุนจากผู้พัฒนาและเจ้าของเทคโนโลยีการผลิต ผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ PTTGC ได้กำหนดทิศทางและกลยุทธ์ในการเป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ โดยคำนึงถึงความสมดุลใน 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม บริษัทได้ดำเนินธุรกิจด้านไบโอพลาสติกเละเคมีชีวภาพโดยการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทผู้ผลิตไบโอพลาสติกในอเมริกา และจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาขยายฐานการผลิตในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีความพร้อมด้านวัตถุดิบการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของวัตถุดิบจากภาคเกษตรกรรม และยกระดับรายได้ของเกษตรกรไทย

สำหรับในปัจจุบัน อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพมีการพัฒนาอย่างมากในประเทศที่มีบทบาทในเศรษฐกิจโลก เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คาดว่าความต้องการพลาสติกชีวภาพของโลกจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1 ล้านตันต่อปี เป็น 3 ล้านตันต่อปีในปี 63 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1% ของความต้องการใช้เม็ดพลาสติกของโลก โดยคาดว่าในอีก 10-15 ปี โครงการ Biohub จะสร้างรายได้รวมแก่ประเทศได้มากกว่า 50,000-140,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานมากกว่า 28,000 คน และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีก 227,000 ตันต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น