มจธ.จับมือ อุตสาหกรรม เปลี่ยนของเสียให้เป็น “ดินไบโอ” ที่มาพร้อมคุณสมบัติกักเก็บฟอสฟอรัสแร่ธาตุที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลงานคุณภาพเพื่อการเกษตรที่ช่วยประหยัดทั้งน้ำ ปุ๋ย และค่าใช้จ่าย แต่ให้ผลผลิตดีกว่าที่เป็น และขจัดปัญหามลพิษในดิน
ในทุกๆ วันอุตสาหกรรมโรงงานจะมีของเสียในรูปแบบต่างๆ จำนวนไม่น้อยที่รอการกำจัด ซึ่งจะตามมาทั้งแรงงานและค่าใช้จ่าย แต่ล่าสุด ผศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญศรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้จับมือกับบริษัท สิทธินันท์ จำกัด หรือผู้ผลิตวุ้นเส้นตราต้นสน ในการแปรรูปของเสียจากโรงงานให้กลายเป็นผลพลอยได้ขึ้นมา
ผศ.ดร.ธิดารัตน์ กล่าวถึงผลงานวิจัยนี้ว่าคือ “ดินไบโอ หรือดินสังเคราะห์เพื่อการเกษตร” ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ให้กับภาคอุตสาหกรรมโดยตรง ในโรงงานผลิตวุ้นเส้นจะมีเถ้าลอยที่ได้จากเตาเผาชีวมวลโดยเฉพาะวัสดุเหลือใช้อย่างเปลือกถั่วและลำต้น รวมถึงตะกอนจุลินทรีย์ที่ได้จากระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงาน เมื่อวิเคราะห์คุณสมบัติของตะกอนจุลินทรีย์จากระบบบำบัดน้ำเสีย พบว่ามีไนโตรเจนอยู่สูงสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยบำรุงพืชผักที่กินใบอย่างคะน้า กวางตุ้งได้ดีเช่นเดียวกับปุ๋ยคอก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือทั้งในปุ๋ยคอกและตะกอนจุลินทรีย์นั้นมีเชื้อราและจุลินทรีย์กลุ่มฟีคัลโคลิฟอร์ม โดยเฉพาะอีโคไล (E.coli) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์บ่งชี้การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่มาจากสิ่งปฏิกูล
“เราจึงพัฒนาดินไบโอโดยการนำเถ้าลอยและตะกอนจุลินทรีย์มาผสมเข้าด้วยกันกับปูนขาวทิ้งไว้ประมาณ 72 ชั่วโมงจะทำให้เกิดปฏิกิริยาคายความร้อนจนกระทั่งแห้ง ซึ่งความร้อนที่เกิดขึ้นนี้จะมีอุณหภูมิสูงกว่า 54 องศาเซลเซียสซึ่งสามารถฆ่าจุลินทรีย์กลุ่มฟีคัลโคลิฟอร์มนี้ได้ เมื่อนำดินไบโอไปใช้ในการเกษตรก็จะหมดกังวลในเรื่องของจุลินทรีย์ปนเปื้อนได้เลย และนอกจากนี้ดินไบโอยังมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์กลุ่มเชื้อรา ดินไบโอทำหน้าที่เสมือนยาปฏิชีวนะให้พืช พืชได้รับการปกป้องตั้งแต่รากดังนั้นผลผลิตหรือต้นพืชจึงแข็งแรง โตดี ไม่มีโรค ซึ่งเรียกได้ว่าดินไบโอเป็นทั้งยาฆ่าเชื้อโรคชนิดชีวภาพ หรือปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดีสำหรับการเกษตรเลยทีเดียว”
ผศ.ดร.ธิดารัตน์ กล่าวว่าดินไบโอเหมาะสมที่จะใช้เป็นวัสดุปรับปรุงคุณภาพดิน ในปัจจุบันวัสดุปรับปรุงคุณภาพดินที่นิยมใช้ คือ “ซีโอไลท์” หรือแอคติเวดเต็ดคาร์บอน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับดินไบโอ พบว่าดินไบโอสามารถกักเก็บฟอสฟอรัส ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชไว้ในดินได้สูงถึง 24 มิลลิกรัมฟอสอรัสต่อกรัมสารอินทรีย์ ในขณะที่ซีโอไลท์และแอกติเวดเต็ดคาร์บอนเก็บกักฟอสฟอรัสได้เพียง 3 มิลลิกรัมฟอสฟอรัสต่อกรัมซีโอไลท์ และ 1 มิลลิกรัมฟอสฟอรัสต่อกรัมแอกติเวดเต็ดคาร์บอน ตามลำดับ
ทั้งนี้ ฟอสฟอรัสจะถูกเก็บไว้ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ทันที (Reactive P) ดังนั้น ดินไบโอจึงสามารถลดการสูญเสียของธาตุอาหารฟอสฟอรัสออกไปพร้อมกับน้ำที่รดในแปลงปลูก หรือหากใส่ปุ๋ยคอกไปมากเท่าใด ดินไบโอก็จะช่วยกักเก็บฟอสฟอรัสจากปุ๋ยคอกไว้ใช้ได้เท่านั้น ซึ่งช่วยให้เกษตรกรประหยัดต้นทุน ค่าปุ๋ย ค่าน้ำ เนื่องด้วยคุณสมบัติกักเก็บแร่ธาตุได้อย่างดีเยี่ยมนี้ส่งผลให้แหล่งน้ำใต้ดินบริเวณพื้นที่การเกษตรไร้ปัญหามลพิษตามไปด้วย
เมื่อเติมปุ๋ยคอกจากผิวดินและรดน้ำพืชตามปกติ แล้วประเมินการเคลื่อนที่ของฟอสฟอรัสในชั้นดินไบโอ 120 เซนติเมตร ซึ่งเป็นเขตรากพืชหรือระยะที่รากธัญพืชสามารถหยั่งลงได้ ทีมวิจัยพบว่าดินไบโอสามารถดูดซับฟอสฟอรัสที่มาจากปุ๋ยคอกและเก็บสะสมในระยะความลึก 10 เซนติเมตรจากผิวหน้าของดิน ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสำหรับระบบรากฝอยของพืชที่จะสามารถดูดซับน้ำและธาตุอาหาร ทำให้พืชเจริญเติบโตได้เต็มที่
“ดินไบโอกักเก็บฟอสฟอรัสไว้ได้ดีจึงเหมาะเป็นอย่างยิ่งกับการปลูกพืชที่เน้นดอกและผลเช่น กระหล่ำดอก แต่ถ้าต้องการปลูกพืชที่เน้นใบอย่างคะน้า กวางตุ้ง ดินไบโอก็ช่วยได้เนื่องจากมีส่วนประกอบของตะกอนจุลินทรีย์ซึ่งมีไนโตรเจนบำรุงใบสูง ดังนั้นดินไบโอจึงมีคุณสมบัติเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ดี และยังใช้เป็นวัสดุปรับปรุงคุณภาพดินที่เก็บแร่ธาตุได้ดีและราคาถูก โดยคำนวณต้นทุนการผลิตเพียง 40 สตางค์ต่อกิโลกรัมเท่านั้น” ผศ.ดร.ธิดารัตน์กล่าว
นอกจากนั้น ผศ.ดร.ธิดารัตน์ ยังเปิดเผยว่า การทำดินไบโอนั้นไม่ยาก สามารถเป็นแนวทางสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องการทำประโยชน์จากของเสียในลักษณะนี้ได้รวมถึงชาวบ้านก็สามารถทำเองได้ง่ายๆ โดยใช้ปุ๋ยคอกแทนตะกอนจุลินทรีย์ผสมเข้ากับเถ้าแกลบจากโรงสีและปูนขาวใส่ถังเปิดฝาเล็กน้อยเพื่อระบายไอน้ำจากความร้อนทิ้งไว้ 72 ชั่วโมง ก็จะได้ดินไบโออย่างง่ายๆ มาใช้โดยแทบไม่ต้องลงทุนมากและเมื่อนำไปใช้แล้วก็ประหยัดทั้งน้ำ ประหยัดทั้งปุ๋ยแถมยังได้ผลผลิตที่แข็งแรงมีคุณภาพอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ดินไบโอนั้นกำลังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนาร่วมกับคณะทรัพยากรสิ่งแวดล้อม มจธ. ต่อไปในแง่ของสัดส่วนการผลิตเพื่อใช้ในระดับที่ใหญ่ขึ้น ให้เหมาะกับผลผลิตทางการเกษตรในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งนับว่างานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเพื่อการแก้ปัญหาและตอบโจทย์ให้กับอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งบริษัทสิทธินันท์ก็มีความตั้งใจที่จะนำดินไบโอซึ่งเป็นผลพลอยได้ของบริษัทไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกรอีกด้วย
*******************************
*******************************