นครพนม - เกษตรกรหญิงนครพนมวัย 69 ปี พลิกผืนดินลูกรังเนื้อที่ 30 ไร่ริมถนนหลวงทำสวนเกษตรผสมผสานเป็นฟาร์มตัวอย่างให้เกษตรกรที่สนใจมีทักษะในการจัดการดินปลูกพืชผลไม้กินได้นอกฤดู และเกิดการจ้างงานในชุมชนท้องถิ่น กรมวิชาการเกษตรออกใบรับรอง (GAP) พืช 10 ชนิด หวังเป็นโมเดลแก่เกษตรกรที่มีใจรักการทำเกษตรแบบผสมผสาน
นางอุไรวรรณ วรวิเชียรวงศ์ อายุ 69 ปี เจ้าของ “สวนแผ่นดินทอง” ตั้งอยู่เลขที่ 269 ต.บ้านผึ้ง อ.เมือง จ.นครพนม เล่าว่า เมื่อปี พ.ศ. 2535 ได้มาซื้อที่ดินบริเวณริมถนนหลวงสายนครพนม-ท่าอุเทน จำนวน 20 ไร่ เพื่อปลูกพืชผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่บนที่ดินลูกรัง ซึ่งตนต้องการลบคำสบประมาทที่ว่าจะปลูกพืชอะไรงอกงามได้บ้างบนที่ดินลูกรัง แรกเริ่มเดิมทีจึงทดลองปลูกมะม่วงนอกฤดูไว้กว่า 20 สายพันธุ์ ปรากฏว่าได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ
ต่อมาจึงได้ซื้อที่ดินข้างเคียงเพิ่มอีก 10 ไร่ และปลูกผลไม้หลายชนิด เช่น กล้วยทุกสายพันธุ์ มะพร้าว มะนาว แก้วมังกร ลิ้นจี่ สับปะรด ปัจจุบันได้หันมาปลูกน้อยหน่า ผักหวานป่า ปาล์มน้ำมัน และดีปลี ซึ่งไม้ผลแต่ละชนิดต่างก็ให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน
“ทุกตารางเมตรของสวนแห่งนี้จะพบว่ามีผักผลไม้ให้ผลผลิตทั้งในฤดูและนอกฤดู โดยว่าจ้างแรงงานในท้องถิ่น 30 คนมาช่วยดูแลสวน ให้น้ำ ให้ปุ๋ย เก็บเกี่ยวผลผลิตนำส่งตลาดที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง” นางอุไรวรรณระบุ และเล่าต่อว่า
การปลูกพืช ผลไม้ส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่การจัดการดิน โดยการเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน และการนำเศษวัสดุพืชมาทำเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ผสมกับแกลบและธาตุอาหาร ไม่มีการใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้จะมีพืชและผลไม้ที่สามารถเก็บผลผลิตได้ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หมุนเวียนให้ลูกค้าที่มารับซื้อถึงสวน และนำส่งถึงที่ได้ตลอดทั้งปี
ทั้งนี้ การปลูกพืชผลหลายๆ ชนิดนั้นต้องยอมเสียเวลาเรียนรู้ ลองถูกลองผิด อาจใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเข้าใจธรรมชาติของมันและได้เรียนรู้เทคนิคการดูแลเพื่อให้ได้ผลผลิต นอกจากนี้ยังได้ขอคำปรึกษาจากผู้รู้หลายๆ ท่าน เช่น นายชำนาญ กสิบาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม ได้ให้คำแนะนำในทางวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ร่วม 23 ปีในการเรียนรู้ ลองผิดลองถูกการทำสวนเกษตรแบบผสมผสานของนางอุไรวรรณกว่าจะประสบความสำเร็จในวันนี้ ผ่านการเรียนรู้ ลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน จนได้องค์ความรู้ใหม่เผยแพร่ให้พี่น้องเกษตรกรทั้งในท้องถิ่นและต่างจังหวัดได้ใช้เป็นแนวทางนำไปขยายผล
จนล่าสุดกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกใบรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติการทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP พืช) พ.ศ. 2555 พืชที่ปลูกกว่า 10 ชนิดในสวนแห่งนี้ให้พืชคุณภาพมาตรฐาน นำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่นางอุไรวรรณและครอบครัว รวมถึงแวดวงการเกษตรของไทยอีกด้วย