มจธ.-มอบรางวัล “นักวิจัยดาวรุ่ง” ประเดิมปีแรกแก่ 4 นักวิจัย ทั้งด้านเน้นสร้างความรู้ใหม่จากผลงาน วัสดุประสานชนิดใหม่ , เอนไซม์ช่วยย่อยผนังเซลล์พืชจากแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนในการเจริญเติบโต และการประเมินวัฏจักรชีวิต และด้านเน้นคุณค่าทางสังคมและชุมชนจากผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์ ทดแทนการนำเข้าอุปกรณ์ราคาแพง
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดรางวัลนักวิจัยดาวรุ่ง มจธ.ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นการแสดงศักยภาพของบุคลากรและเป็นกำลังใจให้กับคณาจารย์นักวิจัยรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงานวิชาการที่ดี โดยมีผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดาวรุ่ง 4 คน ได้แก่
นักวิจัยดาวรุ่งด้านวิชาการเน้นคุณค่าทางความรู้ใหม่ 3 คน คือ 1.ผศ.ดร.วีรชาติ ตั้งจิรภัทร ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากงานวิจัย วัสดุประสานชนิดใหม่จากเถ้าปาล์มน้ำมัน เถ้าชานอ้อยและเถ้าแกลบ 2.ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ เตชะอภัยคุณ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) จากงานวิจัย เอนไซม์หรือจุลินทรีย์ช่วยย่อยผนังเซลล์พืชจากแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนในการเจริญเติบโต และ3.ดร.ธภัทร ศิลาเลิศรักษา บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) จากงานวิจัย “การประเมินความยั่งยืนของเชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานทางเลือก และการประเมินวัฏจักรชีวิต
ส่วนผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดาวรุ่งด้านวิชาการเน้นคุณค่าทางสังคมและชุมชน คือ 4.ดร.ปราการเกียรติ ยังคง จากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ได้รับรางวัลนักวิจัยดาวรุ่งด้านวิชาการเน้นคุณค่าทางด้านสังคมและชุมชน จากผลงาน “Sensible TAB” หุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเคลื่อนไหวแขน
ผศ.ดร.วีรชาติ ตั้งจิรภัทร ภาควิชาวิศวกรรมโยธา เจ้าของรางวัลนักวิจัยดาวรุ่งด้านวิชาการเน้นคุณค่าทางความรู้ใหม่ กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ศึกษาวิจัยค้นพบว่า วัสดุประสานชนิดใหม่ มีคุณสมบัติคอนกรีตที่ได้จากเถ้าแกลบ เถ้าชานอ้อย และเถ้าปาล์มน้ำมัน หรือเถ้าจากชีวมวล นำมาใช้ทดแทนปูนซีเมนต์บางส่วนได้ 100% และมีคุณภาพแข็งแกร่ง ยืนยันได้จากผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการแล้วว่าสามารถใช้งานได้จริง
“งานวิจัยนี้จะช่วยตอบโจทย์ให้กับประเทศ นอกจากจะช่วยลดปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ลงแล้ว ยังช่วยลดปริมาณขยะ ลดปัญหามลภาวะและลดภาระค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม ที่สำคัญนำมาใช้หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้เป็นวัฏจักรแบบครบวงจร”
“ขณะนี้รอเพียงการออกข้อกำหนดมาตรฐานจาก มอก. เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้ก่อนที่จะมีการนำไปใช้จริงในภาคอุตสาหกรรมต่อไป โดยเฉพาะวัสดุประสานชนิดใหม่จากเถ้าปาล์มน้ำมัน ถือเป็นผลงานวิจัยของ มจธ.ที่ได้เป็นผู้ริเริ่มทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 10 ปีจนประสบความสำเร็จเป็นรายแรกของไทย” ผศ.ดร.วีรชาติกล่าว
ขณะที่ ดร.ธภัทร ศิลาเลิศรักษา จาก JGSEE เจ้าของผลงานวิจัยด้านการประเมินวัฏจักรชีวิต กล่าวว่า การส่งเสริมเรื่องของการพลังงานทดแทนนั้น จำเป็นจะต้องคำนึงถึงผลกระทบทั้งต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจในทุกมิติ โดยการพิจารณาตลอดทั้งวัฎจักรชีวิต งานวิจัยของทีมจึงเน้นการเรื่องการประเมินความยั่งยืนของเทคโนโลยีหรือนโยบายด้านพลังงาน โดยการพัฒนาเครื่องมือหรือวิธีการประเมินความยั่งยืน
ล่าสุดทีมวิจัยได้ศึกษาวิจัยด้านการประเมินวัฎจักรชีวิต ซึ่งเป็นการประเมินความยั่งยืนที่นำเรื่องของเศรษฐกิจและสังคมเกี่ยวกับผลกระทบด้านการจ้างงานถูกนำมาประเมินร่วมกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อให้การประเมินมูลค่าของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริง และยังเป็นตัวชี้วัดเรื่องการจ้างงาน ผลกระทบจากการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกเหนือจากเป็นตัวชี้วัดเรื่องของผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกและมวลสารอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
“จากความรู้ใหม่นี้ ยังทำให้พบว่า ตลอดทั้งวัฎจักรชีวิตในระบบพลังงานทดแทนนั้น จะมีช่วงไหนที่น่าเป็นปัญหาสำคัญ รวมถึงสาเหตุที่มา เพื่อนำไปสู่การหาทางป้องกันและแก้ไข หรือควรได้รับการส่งเสริมต่อไปหรือไม่ ซึ่งนอกจากวิธีการประเมินผลกระทบที่ได้แล้ว ยังมีคำแนะนำและข้อเสนอแนะในการจัดการด้วย เนื่องจากการประเมินวัฎจักรชีวิตนี้ จะถูกประเมินออกมาเป็นตัวเลข ซึ่งจะทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญโดยการพิจารณาทั้งระบบ ไม่ได้มองเพียงแค่จุดใดจุดหนึ่ง แต่ต้องประเมินผลกระทบทั้งวัฎจักรชีวิต” ดร.ธภัทรกล่าว
ด้าน ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ เตชะอภัยคุณ กล่าวว่า ทีมของเขาได้ค้นพบความรู้ใหม่จาก เอนไซม์หรือจุลินทรีย์ช่วยย่อยผนังเซลล์พืชจากแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนในการเจริญเติบโต สามารถย่อยโครงสร้างโมเลกุลที่มีการเรียงตัวกันแน่นได้ดี ขณะที่จุลินทรีย์กลุ่มเชื้อรานั้นจะชอบย่อยโครงสร้างโมเลกุลที่มีการเรียงตัวกันอย่างหลวมๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วโครงสร้างของผนังเซลล์พืชหรือชีวมวลตามธรรมชาตินั้นมักมีโครงสร้างทั้ง 2 แบบอยู่ร่วมกัน ดังนั้นการทำหน้าที่ของจุลินทรีย์ในการย่อยผนังเซลล์พืชจึงสามารถใช้ร่วมกันได้ทั้ง 2 แบบ โดยการนำเอนไซม์จากแบคทีเรียเข้ามาช่วยการย่อยโครงสร้างผนังเซลล์พืชที่มีระบบแตกต่างกันให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น
“งานวิจัยนี้ค้นพบว่า การทำหน้าที่ย่อยผนังเซลล์พืชนั้น ไม่ต้องใช้เพียงจุลินทรีย์จากกลุ่มเชื้อราที่ใช้ออกซิเจนในการเจริญเติบโตเท่านั้น แต่สามารถใช้จุลินทรีย์จากแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนในการเจริญเติบโต เข้าไปเสริมเพื่อช่วยการย่อยสลายโดยกรรมวิธีชีวภาพได้น้ำตาลออกมา และใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อเปลี่ยนจากน้ำตาลเป็นสารที่มีมูลค่าสูงผ่านกระบวนการทางชีวภาพ เช่น เอทานอล เป็นต้น การนำเอนไซม์มาใช้ร่วมกันจะช่วยให้การย่อยผนังเซลล์พืชมีความสมบูรณ์มากขึ้น ผลดีคือยิ่งย่อยได้สมบูรณ์มากเท่าไร ยิ่งได้ปริมาณน้ำตาลมากขึ้นเท่านั้น และเปลี่ยนเป็นปริมาณเอทานอลมากขึ้นตามลำดับ” ผศ.ดร.จักรกฤษณ์กล่าว
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ระบุว่าการผลิตเอทานอลได้มากขึ้นเป็นการช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันจากฟอสซิลลง เพื่อใช้เป็นพลังงานทางเลือกเพิ่มมากขึ้น เช่น แก๊สโซฮอล์ 91หรือ E 85 เป็นต้น นอกจากนี้ยังช่วยลดการแย่งใช้พืชอาหารเช่นมันสำปะหลังที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต สามารถหันมาใช้แกลบ ฟางข้าว เปลือกข้าวโพดหรือชานอ้อยซึ่งเป็นวัสดุเหลือจากทางการเกษตรที่ถูกเผาทิ้ง เปลี่ยนมาเป็นสารที่มีมูลค่าสูงแทน โดยสามารถลดปริมาณของเหลือทิ้งลงและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่
สำหรับ ดร.ปราการเกียรติ ยังคง จากฟีโบ้ มจธ. ผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์ทั้ง SensibleTAB หรือหุ่นยนต์ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแขนของผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวอันเนื่องมาจากความผิดปกติของระบบประสาท และ TailGait หรือเครื่องวิเคราะห์การเดิน เพื่อช่วยแพทย์วิเคราะห์การเดินของผู้ป่วย เป็นการพัฒนาขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ราคาแพงจากต่างประเทศ ที่สำคัญยังเป็นสิ่งประดิษฐ์ฝีมือคนไทยที่เกิดจากการนำศาสตร์หลายสาขา ที่เรียกว่า สหศาสตร์ มาพัฒนาเข้าด้วยกัน
ดร.ปราการเกียรติ กล่าวถึงสิ่งที่ให้จุดประกายให้ทำวิจัยเรื่องดังกล่าว คือ การได้นำความรู้วิชาการมาช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะผู้ป่วยด้านโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูการรับรู้และสั่งการแขนแม้จะใช้งานได้ไม่เหมือนปกติแต่อย่างน้อยผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในระดับหนึ่ง สิ่งประดิษฐ์นั้นจึงถือว่ามีประโยชน์ต่อสังคม และจากสถิติตัวเลขการใช้ SensibleTAB ที่ปัจจุบันมีให้บริการแก่ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ในระยะเวลาเพียง 1 ปี มีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการแล้วมากกว่า 1,000 ครั้ง ถือเป็นการตอบรับที่ดีแล้วจากคนในสังคม
*******************************
*******************************