xs
xsm
sm
md
lg

“KTIS” ขยายที่ปลูกอ้อยเพิ่ม 6 ล้านไร่ รับลูกนโยบายพลังงานทดแทนของรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น หรือ KTIS
ประธานบอร์ด บมจ.เกษตรไทย ขานรับแผนยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาลทรายของ สอน. รุกพลังงานทดแทน จากผลผลิตอ้อยที่จะเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 80 ล้านตันอ้อยต่อปี ได้วัตถุดิบในการผลิตเอทานอล และไฟฟ้าเพิ่มอีกจำนวนมาก ชี้แม้ธุรกิจในสายน้ำตาลทรายจะขึ้นอยู่กับราคาน้ำตาลในตลาดโลก แต่ในสายชีวพลังงาน และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนกว่า 30% ของรายได้รวม คาดจะทำให้ธุรกิจของบริษัทฯ เติบโตก้าวกระโดด

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น หรือ KTIS กล่าวว่า บริษัทฯ จะได้ประโยชน์อย่างมากหากทุกอย่างเป็นไปตามร่างยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย ที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าหมายในปี 2567 เพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอีก 6 ล้านไร่ จาก 10.07 ล้านไร่ เป็น 16.07 ล้านไร่ ซึ่งจะได้ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นจาก 103.68 ล้านตันอ้อยต่อปี เป็น 182.04 ล้านตันอ้อยต่อปี และจะได้ชานอ้อยเพิ่มขึ้นจาก 28 ล้านตัน เป็น 53.2 ล้านตัน นำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้ราว 4,000 เมกะวัตต์ อีกทั้งจะได้วัตถุดิบในการผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 2.5 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 5.38 ล้านลิตรต่อวัน

“บริษัทฯ มีความพร้อม ทั้งโรงงานผลิตน้ำตาลทราย โรงงานผลิตเอทานอลขนาดใหญ่ และโรงผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อย ที่มีอยู่เดิมขนาด 60 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มอีก 2 แห่ง ขนาดโรงละ 50 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมีโรงงานที่ผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อยอ้อย ดังนั้น เมื่อมีผลผลิตอ้อยมากขึ้น โรงงานเหล่านี้ก็จะมีวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานมากขึ้น ทำให้มีรายได้มากขึ้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมา สามารถเปิดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ 7-8 เดือนต่อปี ก็น่าจะเปิดได้ถึง 10 เดือน”

ขณะที่ นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจของบริษัทฯ นั้นแบ่งเป็น 2 ด้านหลักๆ คือ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ซึ่งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ แต่ก็ยังผูกติดกับราคาน้ำตาลในตลาดโลก กับธุรกิจด้านชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ซึ่งมีอัตราการขยายตัวที่สูง สอดคล้องต่อแผนพลังงานของรัฐที่พยายามส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก หรือพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยในครึ่งปีแรกของปี 57 สัดส่วนรายได้ในสายธุรกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำตาล อยู่ที่ประมาณ 69% และธุรกิจด้านชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ประมาณ 31% แบ่งเป็นจากการจำหน่ายเยื่อกระดาษประมาณ 11% จำหน่ายเอทานอลประมาณ 10% จำหน่ายไฟฟ้าจากชานอ้อยประมาณ 6% และอื่นๆประมาณ 4%

“ในครึ่งปีแรกเรามีรายได้จากการผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อย 532.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนถึง 437.3% ซึ่งจะเห็นว่าเป็นการเติบโตที่สูงมาก แต่ในครึ่งปีหลังเราไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทั้ง 6 เดือน เพราะต้องมีช่วงของการหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงรักษา พร้อมๆ กับรอการหีบอ้อยรอบใหม่เพื่อให้มีเชื้อเพลิงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากมีการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น เราก็มีชานอ้อยที่เป็นเชื่อเพลิงมากขึ้น รายได้ของเราจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าย่อมสดใสแน่นอน เรียกได้ว่าเป็นการโตแบบก้าวกระโดด ส่วนธุรกิจอื่นๆ เช่น การจำหน่ายเอทานอล ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางเราก็มีความพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต”

ทั้งนี้ จากตัวเลขรายได้จากการขาย และการให้บริการในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2557 (มกราคม-มิถุนายน 2557) จำนวน 8,897.91 ล้านบาท มาจากการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย 6,115.19 ล้านบาท การจำหน่ายเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย 945.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกของปี 2556 ประมาณ 18.7% จากการผลิตเอทานอล 916.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 6.1% ที่เหลือคือรายได้จากการบริการจักรกลทางการเกษตรและอื่นๆ อีก 387.42 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น