ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เพราะห่วงว่าประชาชนยังไม่ทราบข้อเท็จจริงในเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้า ไม่ทราบข้อมูลเรื่องพลังงานทางเลือก ทำให้ “ดร.เดชรัต สุขกำเนิด” อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกมาเผยข้อเท็จจริง และผลกระทบที่ประชาชนอาจได้รับจากการสร้างโรงไฟฟ้า
เชื่อว่าข้อคิดเห็นดีๆ จากเขา น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ประชาชนได้เข้าใจถึงปัญหาและช่วยกันเลือกทางออกที่ดีต่อสังคมมากขึ้น
คิดอย่างไรที่รัฐบาลจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่
ผมคิดว่าเราน่าจะมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ เพราะมองว่าการมีโรงไฟฟ้า มันต้องเริ่มมาจากการที่เราวางแผนก่อนว่าจำเป็นจะต้องมีโรงไฟฟ้าที่ไหนบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาการวางแผนมักจะมีปัญหาสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ
ประการแรก มีการบอกความต้องการไฟฟ้าเกินความเป็นจริง เลยทำให้ดูเหมือนว่า เราจำเป็นจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าเยอะ ทั้งที่ความจริงเราไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้ามากขนาดนั้น รัฐบาลมักจะพูดว่าเดือนเมษาฯ ใช้ไฟฟ้าเยอะเกินสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ แต่ไม่มีการพูดว่าปีที่ผ่านมา การใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น จริงๆ แล้วยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประมาณ 1,800 เมกะวัตต์ ซึ่งโรงไฟฟ้าที่ จ.กระบี่มีไฟฟ้าแค่ 800 เมกะวัตต์ แต่ว่าคาดการณ์เกินไปตั้ง 1,800 เมกะวัตต์ ฉะนั้นมันเลยเป็นคำตอบอย่างหนึ่งว่า เราไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าจำนวนมาก
ประการที่สอง เราไม่ได้มีการนำเอาทางเลือกอื่นๆ ที่สามารถจัดการในเรื่องของไฟฟ้าออกมาพิจารณากันอย่างจริงจัง ผมมองว่าทางเลือกที่สำคัญ คือ เรื่องของการ “อนุรักษ์พลังงาน” ความจริงรัฐบาลมีแผนอนุรักษ์พลังงานตั้งแต่ปี 2554 และทำเป็นแผนปฏิบัติการในปี 2556 ซึ่งบอกไว้ชัดเจนว่า เราจะสามารถลดความจำเป็นในการใช้ไฟฟ้าลงมาได้มากเพียงใด ถ้าเราลดลงมาได้ เราก็ไม่จำเป็นที่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าส่วนหนึ่ง หมายความว่า จากเดิมที่เราเคยคิดว่า อาจต้องสร้างโรงไฟฟ้าทั้งหมด 20 โรง แต่จริงๆ เราอาจจะสร้างแค่ 10 โรงก็ได้ คือเรามีแผนอยู่ แต่ไม่เคยเอามาใช้ในการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้า มันเหมือนสร้างโรงไฟฟ้าก็สร้างไป ประหยัดก็ประหยัดไป ทั้งที่ไม่ควรเป็นอย่างนั้น
อีกส่วนหนึ่งที่เป็นทางเลือกที่สำคัญคือเรื่อง “พลังงานหมุนเวียน” ไม่ว่าจะเป็นพลังงานชีวมวล หรือพลังงานแสงอาทิตย์ก็ดี มันไม่ได้เข้าไปอยู่ในการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ที่ผ่านมาเราได้ยินแต่ว่ามีแค่ 3 ทางเลือก คือถ่านหิน แก๊สธรรมชาติและนิวเคลียร์ แต่จริงๆ เรามีทางเลือกเรื่องพลังงานหมุนเวียนอยู่
ประการสุดท้าย ปัญหาเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะภาคประชาชนไม่ได้มีโอกาสส่วนร่วม หรือไม่ได้มีโอกาสให้ความเห็นในการวางแผนว่าเราจะสร้างโรงไฟฟ้ากันอย่างไร โรงไฟฟ้าที่มีอยู่เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าที่ถูกวางแผนขึ้นภายใต้แผนที่ประชาชนไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม ทำโดยไม่ได้เอาเรื่องอนุรักษ์พลังงานเข้ามาใช้อย่างเต็มที่ และทำโดยพยายามพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเกินความต้องการ ซึ่งทั้ง 3 ปัญหานี้มันยังแก้ไม่ได้ แต่รัฐบาลกลับบอกว่า ต้องเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้า จึงเกิดเป็นคำถามว่า โรงไฟฟ้า จ.กระบี่ ที่บอกว่าทำตามแผนนี้ มันเป็นการทำตามแผนที่ครบถ้วนสมบูรณ์ไหม
ถ้าอย่างนั้นเราควรแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร
ความจริงเรามีแผนการอนุรักษ์พลังงานของกระทรวงพลังงาน 20 ปี ซึ่งถ้าเราทำตามแผนนี้ เราก็จะสามารถประหยัดพลังงาน และลดความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าไปได้ประมาณ 2 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งจำนวนเท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 25 โรง เราก็จะประหยัดตรงนี้ไปได้ แต่รัฐบาลบอกว่าเราจะทำตามแผนแค่ 20% มันเลยกลายเป็นบอกว่า ถ้าอย่างนั้นจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้า นี่คือปัญหาทั้งหมด
ดังนั้นเราขอเสนอว่า 1.ต้องวางแผนให้ถูกต้อง 2.ต้องประหยัดพลังงานก่อน สาเหตุที่ต้องประหยัดก่อน เพราะมันถูกที่สุดไง เพราะไม่ว่าจะไปสร้างพลังงานชีวมวล หรือพลังงานแสงอาทิตย์ หรือไปสร้างถ่านหิน อย่างไรก็ไม่มีทางจะถูกกว่าการประหยัดพลังงาน ทั้งที่เราก็มีแผนอยู่แล้ว และเราสามารถทำตามแผนได้ด้วย แต่ปรากฏว่ารัฐบาลบอกว่า ไม่มั่นใจ เอาแค่ 20%ของเป้าหมายตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีอยู่ 3 ส่วน ดังนั้นผมเห็นว่าเราควรเปลี่ยนมาทำตามแผนการอนุรักษ์พลังงานให้เต็มที่
ส่วนสำคัญที่สุดคือภาคอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมจะต้องมีอุปกรณ์เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า ปั๊มลม ระบบพวกนี้ต้องเปลี่ยนมาเป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง อันดับสองคือ อาคาร ต้องมีการออกแบบให้เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารสร้างใหม่ ถ้าเรามีข้อกำหนดมาตรฐานดี มันจะทำให้ลดการใช้พลังงานของคนที่อยู่ภายในอาคารลงไปได้ ส่วนสุดท้ายก็คือ บ้านเรือน บ้านเรือนยังมีส่วนที่ปรับปรุงได้อีกจำนวนไม่เยอะเท่ากับอุตสาหกรรม อาคารพาณิชย์ รัฐบาลมีแผนชัดเจนว่า แต่ละส่วนลบได้เท่าไรในแต่ละปีด้วย แต่ปัญหาก็คือว่า เขาไม่เอาเข้ามาหักลบจากโรงไฟฟ้าที่ต้องการจะสร้าง นี่แหละคือปัญหา เขาควรจะแก้ตรงนี้
สุดท้ายคือเรื่องพลังงานหมุนเวียน ที่ผ่านมารัฐบาลยอมนำเข้ามาส่วนหนึ่ง แต่ว่าวางแผนนำเข้ามาถึงแค่ปี 2564 แต่หลังจากนั้นไม่เอาเข้ามา ไม่มีแผนต่อ ตอนนี้เราเลยเรียกร้องให้มีแผนต่อ ถ้าเราประหยัดพลังงานได้ตามแผนของรัฐบาลเอง 2 หมื่นเมกะวัตต์ เราก็จะมีพลังงานมากพอที่จะเอามาทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ และไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่เลย
หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ คุณคิดว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ หรือสิ่งแวดล้อม
มันจะส่งผลกระทบ 2 ด้านครับ คือ ถ้าเราสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มันจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เพราะว่าถ่านหินที่เราพูดกันว่าถูก เพราะว่ายังไม่รวมต้นทุนในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ไม่รวมเรื่องผลกระทบของชาวบ้าน และที่สำคัญไม่ได้มองว่า ต้นทุนค่าถ่านหินจะเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนมันมีแนวโน้มถูกลงโดยตลอด
อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ แต่เดิมเราตอนที่ผมเรียนปริญญาเอกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เรายังพูดว่าราคาพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 20 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ค่าไฟประมาณ 2 บาทต่อหน่วย มันแพงกว่ากันเยอะ แต่ปัจจุบันค่าไฟจาก 2 บาทมันขึ้นมาเป็น 4 บาท แต่ค่าไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงจาก 20 บาท มาเป็น 6 บาท เพราะฉะนั้นมันเหลือต่างกันอีกนิดเดียว ในหลายประเทศเรียกว่าแข่งขันกันได้แล้ว แต่ของไทยยังไม่ได้ เพราะว่าขนาดตลาดการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ของเรายังน้อย แต่ถ้าเรามีการให้แรงจูงใจเช่น มีการนำเข้ามาเยอะขึ้น เชื่อว่าไม่เกิน 10 ปีจากนี้ ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์จะเท่าเทียมกันกับต้นทุนจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ปัจจุบันโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าจากแก๊สชีวภาพหลายแห่งมีต้นทุนถูกกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว นี่ไม่ต้องพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมเลยนะ เอาแค่ต้นทุนจริงๆ ที่เป็นเม็ดเงินก็ถูกกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว
แล้วไฟฟ้า 50-60% ของ จ.กระบี่ในแต่ละเดือนก็มาจากพลังงานหมุนเวียนอยู่แล้ว เช่น ใช้เศษทะลายปาล์มมาทำพลังงานชีวมวล ใช้น้ำเสียจากโรงงานปาล์มน้ำมันเอามาหมักเป็นแก๊สชีวภาพ และเอาไปเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทั้งหมดเหล่านี้มีการทำอยู่แล้ว ดังนั้นหาก จ.กระบี่ถ้าเอาจริงในเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียน ภายใน 2 ปี จ.กระบี่สามารถจะพึ่งตัวเองด้านพลังงานได้ 100% คือไม่จำเป็นจะต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน คือเหตุผลที่หนึ่ง
เหตุผลที่สอง คือ เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการเลือกสถานสร้างโรงฟ้า จ.กระบี่ อยู่ในบริเวณที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ คือเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์ปลาสำคัญของบริเวณทะเลอันดามัน เป็นแหล่งเกิดหญ้าทะเล เป็นแหล่งที่มีปลาพะยูนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ฉะนั้นการเลือกทำสร้างโรงไฟฟ้าที่นั่น มันก่อให้เกิดความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น ทั้งหมดนี้คือผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่
อยากรู้ว่าหากเราหันมาใช้พลังงานชีวมวลจะดีกว่าการใช้พลังงานจากถ่านหินอย่างไรบ้าง
ต้องบอกก่อนว่าพลังงานชีวมวลคือ พลังงานที่มาจากเศษวัสดุทางการเกษตร หรือเศษของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ในเมืองไทยเราสามารถนำชานอ้อย แกลบ หรือเศษไม้ไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้
ข้อดีของการใช้พลังงานชีวมวล คือ เงินที่เราซื้อค่าวัตถุมันจะอยู่ภายในประเทศ เช่น ซื้อทะลายปาล์ม เศษไม้ ยางพารา แต่ถ้าเป็นถ่านหิน มันกลายเป็นว่าเราต้องไปซื้อมาจากออสเตรเลีย เราต้องไปซื้อมาจากอินโดนีเซีย ทำให้เงินไหลออกนอกประเทศ
ปัจจุบันนี้เราทำพลังงานชีวมวลอยู่แล้วประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ จำนวนนี้เท่ากับปริมาณการใช้ไฟของภาคใต้ทั้งหมด ฉะนั้นพลังงานชีวมวลจึงเป็นส่วนที่มีความสำคัญมาก นอกนั้นเราสามารถนำน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานแป้งมัน โรงงานน้ำมันปาล์ม เราก็เอามาทำได้ หรือน้ำเสียจากโรงงานยางพาราและโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปทั้งหลาย ที่มีกลิ่นเหม็นมาก เราสามารถเอามาหมักในสภาพที่อับอากาศ และให้จุลินทรีย์มันย่อยสลาย มันจะเกิดแก๊สมีเทน ซึ่งแก๊สมีเทนเราสามารถเอาไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ดังนั้นการใช้พลังงานชีวมวล มันจะช่วยกำจัดปัญหาสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ นี่จึงเป็นอีกจุดหนึ่งที่เป็นจุดสำคัญของการเปรียบเทียบระหว่างถ่านหิน กับพลังงานชีวมวล หรือแก๊สชีวภาพ
ผมมองว่าถ้าเราทำเรื่องถ่านหิน หรือทำเรื่องนิวเคลียร์ก็ตาม เราต้องเป็นคนนำเข้าเทคโนโลยี แต่ถ้าเราทุ่มเทกับการเป็นผู้นำในเรื่องพลังงานชีวมวล ในเรื่องแก๊สชีวภาพ เราจะเป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้เราเป็นผู้นำในบรรดาอาเซียนทั้งหมด ซึ่งประเทศเหล่านี้ไม่มีศักยภาพในเรื่องพลังงานหมุนเวียนเท่าเรา หากเราเอาจริงเอาจังในการส่งออกยังประเทศเพื่อนบ้านได้ เราจะได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้าน นี่เป็นข้อดีของการใช้พลังงานชีวมวล
แล้วตอนนี้เห็นว่ารัฐบาลประกาศรับซื้อพลังงานหมุนเวียนจากประชาชน ดังนั้นผมมองว่าถ้ารัฐบาลเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ ก็จะส่งผลดีต่อประชาชน เพราะเขาสามารถนำเอาพลังงานชีวมวลซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนไปจำหน่ายและสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง แถมยังดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
มีข้อมูลอะไรที่คุณรู้สึกว่าประชาชนยังไม่ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องบ้างไหม
มีครับ คือ เรื่องอันตรายจากปรอทในโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะพอปรอทมีการเผาไหม้ และมันขึ้นไปสู่ห่วงโซ่อาหาร เมื่อมีฝนตกมันจะลงมาสู่แหล่งน้ำ มันจะเกิดการสะสมในปลา ในสัตว์น้ำ และสุดท้ายมันจะกลับมาสะสมในคน ทำให้พัฒนาการทางสมองของเด็กเกิดความเสื่อมถอยลง
แล้วทางโรงไฟฟ้าก็จะบอกว่าโรงงานของเขาผ่านมาตรฐาน แต่ปรากฏว่าพอเราไปดูจริงๆ ค่ามาตรฐานปรอทเมืองไทยมันให้ไว้ตั้ง 3,000 ในขณะที่ค่ามาตรฐานปรอทบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกามันแค่ 1.7 กับ 3,000 เห็นไหมครับ หรือค่ามาตรฐานของประเทศจีน 30 แต่ของเรา 3,000 อย่างนี้ เพราะฉะนั้น มันกลายเป็นว่า เวลารัฐบาลพูดว่า ผ่านมาตรฐาน แต่ก็ไม่เคยไปเช็ก แม้กระทั่งตัวรัฐบาลก็ไม่เคยเช็กว่า มาตรฐานของตัวเองมันโอเวอร์ไปกว่ามาตรฐานของประเทศอื่นๆ กลายเป็นว่าอาจจะอันตรายได้ เพราะถึงแม้โรงไฟฟ้าถ่านหินบอกว่า ผมปล่อย 30 หรือปล่อย 15 แต่สมมติว่าเขาทำจริงๆ แล้วมันเกิน มันก็ยังไม่ผิดกฎหมายอยู่ดี เพราะกฎหมายกำหนดให้ไว้ตั้ง 3,000 อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งผมมีความรู้สึกว่า เรากำลังพูดความจริงไม่ตรงกัน
ผมว่ารัฐบาลยังไม่พูดความจริงทั้งหมดในเรื่องโรงไฟฟ้า คือเขาพูดว่าโรงไฟฟ้าเป็นไปตามมาตรฐาน แต่เราไม่ได้พูดว่า แล้วมาตรฐานของเรามันมีปัญหาอย่างไร และมาตรฐานของเราเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานของประเทศอื่นแล้วมันเป็นอย่างไร ดังนั้นผมเลยมีความกังวลว่าสิ่งที่เรากำลังตัดสินใจกันอยู่ มันเป็นการตัดสินใจด้วยการใช้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ต้องอธิบายก่อนว่า ผมเองไม่ได้ทำหน้าที่แบบเดียวกับที่ชาวบ้านทำ ชาวบ้านเขาคัดค้าน หรือต่อต้านโรงไฟฟ้า แต่ผมแค่ไม่เห็นด้วยในแง่ข้อมูลทางวิชาการ เพราะผมเชื่อว่า มันน่าจะมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า
นอกนั้นยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ แต่ว่าเขาอาจจะไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องสำคัญ นั่นก็คือเรื่องของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เขาไม่พูดว่าโรงไฟฟ้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกเบ็ดเสร็จไปแล้วเท่าไร แต่ถ้าเราคำนวณเบื้องต้น จะพบว่าโรงไฟฟ้ามันจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณสัก 4 เท่า ของ จ.กระบี่ที่ปล่อยอยู่ทุกวันนี้ ดังนั้นถ้า จ.กระบี่ มีโรงไฟฟ้าโรงนี้ขึ้นมา โรงไฟฟ้าโรงนี้จะปล่อยก๊าซมากกว่าที่คนกระบี่ทั้งจังหวัดปล่อย และตรงนี้เขาคิดว่ามันจำเป็นต้องแก้ไหม และเขาจะแก้อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ได้รับคำตอบ
ผมคิดว่า เราต้องการเวทีที่จะเปิดเอาความจริงที่ครบถ้วนออกมา ที่ผ่านมายังไม่ได้เปิดเวทีนี้อย่างชัดเจน สังคมต้องการทราบข้อเท็จจริงเหล่านี้ เช่น เรื่องมาตรฐานของโรงไฟฟ้า เรื่องทางเลือกพลังงาน รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า จริงๆ แล้ว จ.กระบี่สามารถพึ่งตัวเองได้แล้วในเรื่องพลังงานหมุนเวียน ผมคิดว่ารัฐบาลควรจะเปิดให้มีการนำเสนอเวทีต่างๆ เหล่านี้ให้ชัดเจนมากขึ้น
ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้คุณรู้สึกสิ้นหวังในเรื่องของการปฏิรูปพลังงานหรือเปล่า
ผมไม่ได้มีความรู้สึกสิ้นหวัง แต่ผมรู้สึกคาดหวังสิ่งว่ารัฐบาลควรจะทำมากกว่านี้ เราควรมาตอบกันให้ชัดๆ ว่าตกลงมันมีความจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินกี่โรง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กี่โรง ใครจะเป็นคนตอบ แต่รัฐบาลก็เก็บเอาไว้กักเอาไว้อย่างนี้ มันทำให้กระบวนการมันไม่ได้แตกต่างอะไรไปกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา ผลก็คือจะนำไปสู่การรบกันในพื้นที่ เช่น พี่น้องประชาชนพยายามไปประท้วง คนจัดก็ต้องมีการเกณฑ์ทหารเข้าไปป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทำให้เวทีล่ม แต่ทุกวันนี้ไม่มีใครได้ความรู้เพิ่มขึ้น ไม่มีใครได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้น
ผมว่ารัฐบาลมีคำตอบอยู่ในใจ มันเลยทำให้เขาพยายามที่จะทำอย่างไรก็ได้ เพื่อให้ได้คำตอบที่เขาต้องการ แต่จริงๆ รัฐบาลน่าจะถอยมามองว่า มันเป็นโอกาสที่ดีที่รัฐบาลจะได้เลือกคำตอบที่ดีที่สุด จากสิ่งที่ประชาชนจะได้ยินได้ฟังกันอย่างแท้จริง คือได้เห็นกันจริงๆ ได้คิดกันจริงๆ ได้ลองค้นกันจริงๆ ได้ลองดูศักยภาพจริงๆ แต่ตอนนี้เหมือนกับว่ารัฐบาลก็บอกว่า อย่างไรก็คงจะเอาสัมปทาน แต่ประชาชนยังไม่ได้คำตอบเลยว่าสัมปทานมันดีกว่าอย่างไร
เรื่องนี้ก็เหมือนกัน รัฐบาลไม่กล้าพูดเต็มปากว่าจะเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะประชาชนเขายังไม่เชื่อเลยว่าถ่านหินดีกว่าอย่างไร มันก็เลยชิงจังหวะกันไป ชิงจังหวะกันมา ไม่ได้ต่างอะไรจากรัฐบาลในยุคของคุณยิ่งลักษณ์ หรือคุณทักษิณ รัฐบาลตอนนี้ดูเหมือนจะเอียงไปในทางเลือกที่คุ้นเคย ซึ่งก็คือการใช้พลังงานขนาดใหญ่ที่เป็นพลังงานฟอสซิล ทั้งที่ในที่สุด พลังงานฟอสซิลเหล่านี้ก็จะไปสร้างภาวะโลกร้อน สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า “การเลือก” เป็นปัญหาสำคัญมากของเมืองไทย เราจำเป็นต้องเปิดทางเลือกให้ประชาชนมาเลือกกัน ผมย้ำก่อนว่าผมไม่ได้คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าฯ เพราะเชื่อว่าเขาก็ทำตามหน้าที่ของเขา แต่การทำหน้าที่ของเขามันจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อเขาเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้ประชาชนได้เลือก เพราะเขาไม่ได้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า แต่ประชาชนต่างหากที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ประชาชนต่างหากที่เป็นผู้ที่ต้องรับภาระ ไม่ว่าจะเป็นภาระในเรื่องค่าไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นภาระในเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นภาระในเรื่องของภาวะโลกร้อน ฉะนั้นประชาชนควรจะได้เห็นข้อมูลทั้งหมดและมีสิทธิ์ตัดสินใจครับ
ภาพโดย ปัญญพัฒน์ เข็มราช