xs
xsm
sm
md
lg

ผลงาน (และชีวิต) ของผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 2557 / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
โดยปกติผลงานที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เป็นสิ่งที่เข้าใจยากมาก แม้แต่ในหมู่นักวิชาการสาขาเดียวกันเองก็ตาม แต่สำหรับผลงานในปีนี้ซึ่งเพิ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ไม่ได้ยากเหมือนปีที่ผ่านๆ มา แม้ชาวบ้านทั่วๆ ไปอย่างเราจะไม่เข้าใจว่าผู้ได้รับรางวัลทำอย่างไร แต่เราในฐานะมนุษยชาติคนหนึ่งก็สามารถรับรู้ได้โดยไม่ยากเย็นว่าเราได้รับประโยชน์อะไรบ้าง และอย่างไร

นอกจากบทความนี้จะนำผลงานโดยย่อแล้ว ผมจะนำเสนอแนวคิดหรือชีวิตของ 1 ใน 3 ของผู้ร่วมรับรางวัลที่มีศักดิ์ศรีสูงที่สุดของโลกก็ว่าได้ ผมเห็นว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในวงการการศึกษาเขาจบจากมหาวิทยาลัยที่ไม่มีชื่อเสียงมาก (เจ้าตัวใช้คำว่า It [University] is Very Local , Low Level University) และด้วยผลการศึกษาด้วยเกรดที่ไม่สูงมากนัก แต่เขาได้ก้าวมาสู่รางวัลสูงสุดได้อย่างไร โปรดอ่านให้จบนะครับ ไม่ยากเลย และถ้าเห็นว่าดีก็กรุณาบอกต่อๆ กันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรุ่นใหม่

ผลงานที่ได้รับรางวัลนี้เกี่ยวข้องกับการคิดค้น และการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ให้แสงสว่าง หรือหลอดไฟฟ้า แต่เป็น “แสงใหม่ที่ส่องสว่างให้แก่ชาวโลก” คนไทยเรารู้จักอุปกรณ์ชนิดนี้ในนาม “หลอดแอลอีดี (LED-Light-Emitting Diode)” ซึ่งมีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานสูงมาก คือ ใช้พลังงานน้อยแต่ให้แสงสว่างมาก และมีอายุการใช้งานได้นานกว่าเดิมเป็นร้อยเท่า

ในวันประกาศรางวัลดังกล่าวทางเลขาธิการราชวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์ของสวีเดน ได้นำแผ่นภาพมาอธิบายถึงประวัติศาสตร์การใช้แสงสว่างของมนุษย์ย้อนหลังไปนับหมื่นปีจนถึงปัจจุบันซึ่งผมได้นำมาอธิบายประกอบดังภาพข้างล่างนี้
 

 
ความจริงแล้ว ผู้คิดค้นผลงานชิ้นนี้ซึ่งประกอบด้วยชาวญี่ปุ่นทั้ง 3 คน คือ ShujiNakamura (วัย 60 ปี), Isamu Akasaki (วัย 85 ปี) และ Hiroshi Amano (วัย 54 ปี)ได้ประสบผลสำเร็จตั้งแต่ปี 2532 หรือเมื่อ 25 ปีมาแล้ว และผลงานชิ้นนี้ก็ได้รับการผลิตในเชิงพาณิชย์มาหลายปีแล้ว แต่ทำไมจึงเพิ่งมาให้รางวัลเอาตอนนี้
 
ผมเองก็ไม่ทราบเหตุผลที่ชัดเจนดังกล่าวครับ แต่ในคำประกาศรางวัลได้พูดถึง “เป็นการสร้างแหล่งพลังงานชนิดใหม่คือ หลอดแอลอีดีสีน้ำเงินที่มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นไปตามจิตวิญญาณของ Alfred Nobel (ผู้ก่อตั้งรางวัลด้วยทุน $236 ล้าน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2444) ที่ต้องการให้รางวัลต่อการคิดค้นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติมากที่สุด”

ประกอบกับว่าเงื่อนไขของการให้รางวัลนี้ ผู้ที่ได้รับจะต้องเป็นผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น แม้ผลงานจะสำเร็จนานมาถึง 25 ปีแล้วก็ไม่เป็นปัญหา ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด ยิ่งเมื่อได้ทราบในภายหลังว่า ผลงานดังกล่าวมีประโยชน์ต่อมนุษยชาติจำนวนมากทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม และในด้านการเปิดโอกาสให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงผลงานได้มากขึ้น ยิ่งเป็นการดีใหญ่เลย

ปัจจุบัน มนุษย์ทั่วโลกประมาณ 1,500 ล้านคนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ในคำประกาศรางวัลได้มีการพูดถึงแผงโซลาร์เซลล์ด้วย ดังนั้น เมื่อมีการคิดค้นหลอดแอลอีดีที่มีต้นทุนต่ำลงทั้งแผงโซลาร์และหลอดแอลอีดีจึงยิ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อมนุษย์ผู้ยากจน และประโยชน์ในการปกป้องสิ่งแวดล้อมของโลกด้วย

ดังนั้น ในความเห็นของผมแล้ว หลักคิดของคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปีนี้จึงเป็นสิ่งที่น่ายกย่องเป็นอย่างยิ่ง ตรงกันข้ามกับคณะกรรมการพิจารณาในสาขาสันติภาพในคราวที่มอบรางวัลให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อปี 2552 ที่ให้เหตุผลว่า “เป็นผู้ที่มีความพยายามเป็นพิเศษที่จะสร้างความเข้มแข็งในด้านความร่วมมือและทางการทูตสากลระหว่างประชาชน” ทั้งๆ ที่เขาเพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 9 เดือน ยังไม่มีการกระทำจริง มีแต่ความตั้งใจที่จะทำ แต่หลังจากนั้นประธานาธิบดีก็ได้สั่งให้กองทัพสหรัฐอเมริกาก่อสงครามกับหลายประเทศ และหลายครั้ง

ผมคิดเอาเองว่า คณะกรรมการพิจารณารางวัลสาขาฟิสิกส์ในปีนี้คงเก็บเอาความล้มเหลวของการประชุมสุดยอดผู้นำโลกว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่มีความเข้มเข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกินระดับ 350 พีพีเอ็มมานานแล้ว จนถึงระดับ 400 พีพีเอ็มในปัจจุบัน แต่ผู้นำโลกก็มัวแต่เอาดีแต่ปาก แต่ไม่มีการปฏิบัติจริงเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก จนภาคประชาชนทั่วโลกได้รวมตัวกันมีจำนวนมากที่สุดในนาม People’s Climate March เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา (ผมได้เขียนถึงเมื่อสองสัปดาห์ก่อน)

ได้มีผู้มาแสดงความเห็นในเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องว่า “เทคโนโลยีหลอดแอลอีดีมีผลให้ชาวโลกสามารถประหยัดพลังงานได้ปีละหลายล้านดอลลาร์”

อย่าว่าแต่ระดับโลกเลยครับ ในการประชุมประจำปีของหมู่บ้านที่ผมอาศัยอยู่ซึ่งมีแค่ 660 หลังคาครัวเรือน พบว่าจากการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าบนถนนในหมู่บ้าน (จากคำแนะนำของสมาชิกท่านหนึ่ง) สามารถค่าไฟฟ้าลงได้จากเดือนละ 1.5 แสนบาท ลงมาเหลือ 1.1 แสนบาท และแน่นอนว่าได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงด้วยจำนวนหนึ่ง 

ก่อนที่ผมจะไปถึงอีก 2 เรื่องคือ (1) ความสำคัญของหลอดแอลอีดีสีน้ำเงินอยู่ตรงไหน กับ (2) ชีวิตและวิธีคิดของผู้ได้รับรางวัลบางท่าน ผมขอนำเสนอตัวเลขการลดลงของราคาหลอดแอลอีดีและความนิยมของชาวอเมริกันต่อเรื่องนี้ในช่วง 5-6 ปีมานี้

จากรายงานเรื่อง “การปฏิวัติเดี๋ยวนี้ : อนาคตของ 4 เทคโนโลยีพลังงานสะอาดมาถึงแล้ว” ของกรมพลังงานของสหรัฐอเมริกา (กันยายน 2556) พบว่า นับตั้งแต่ 2551 ถึง 2555 ราคาหลอดแอลอีดีได้ลดลงถึง 6 เท่าตัว โดยที่จำนวนหลอดที่ติดตั้งไปแล้วประมาณ 20 ล้านหลอด ดังกราฟ
 

 
อนึ่ง ผมไม่แน่ใจในหน่วย Kilolumen ว่ามีความเชื่อมโยงกับวัตต์ (กำลังไฟฟ้า) กันอย่างไร แต่เอาเป็นว่าราคาหลอดแอลอีดีได้ลดลงถึง 6 เท่าตัว มากกว่าอัตราการลดลงของราคาแผงโซลาร์เซลล์เล็กน้อยซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้เป็น 2 ใน 4 ที่เป็นเทคโนโลยีสะอาดที่มาถึงแล้ว และปรากฏอยู่ในรายงานเดียวกันนี้

นอกจากนี้ ผมทราบจากพระสาธิต ธีรปัญโญ แห่งสถาบันธรรมาภิวัฒน์ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และใช้หลอดแอลอีดีใช้ทั้งสำนักสงฆ์ ว่ามีราคาถูกมากและสามารถซื้อได้ตามร้านขายวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ทั่วไป (เสียดายที่ผมลืมถามเรื่องราคา)

มาถึงเรื่อง ความสำคัญของหลอดแอลอีดีสีน้ำเงินอยู่ตรงไหน

จากเอกสารใน nobelprize.org อธิบายว่า หลักการทำงานของหลอดแอลอีดีมาจากทฤษฎีแสงของไอแซค นิวตัน เมื่อ พ.ศ.2214 ที่เมื่อนำสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงินมาผสมกันจะได้สีขาว

ในการคิดค้นเทคโนโลยีหลอดแอลอีดีสีแดง และสีเขียวได้ประสบผลสำเร็จมานานแล้ว คือร่วม 50-60 ปีมาแล้ว แต่ยังไม่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์เท่าที่ควร ไม่สามารถทำให้อ่านหนังสือได้ จนกว่าจะได้คนพบหลอดแอลอีดีสีน้ำเงิน

แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อ และยอมรับกันในขณะนั้นก็คือว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำสีน้ำเงินได้

นักวิชาการระดับศาสตราจารย์ที่มาร่วมประกาศรางวัลของสำนักงานรางวัลชี้แจงว่า ไม่ใช่ไม่มีความพยายามในการวิจัย การวิจัยยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีใครประสบผลสำเร็จ ผมเองก็ไม่ทราบเหตุทางวิชาการว่าทำไม เอาเป็นว่าเพิ่งประสบผลสำเร็จเมื่อ 25 ปีมานี้ ดังแผ่นภาพที่ทางสถาบันผู้มอบรางวันทำมาเสนอ
 

 
เมื่อสามารถประดิษฐ์หลอดสีน้ำเงินได้แล้ว และเมื่อนำทั้งสามสีมาผสมกันก็จะได้สีขาว ซึ่งเป็นแสงที่มีสีขาวให้เราสามารถอ่านหนังสืออย่างที่เป็นอยู่ และนำมาแทนที่หลอดไฟฟ้าชนิดอื่นๆ ดังที่เราทราบๆ กันอยู่ โดยสามารถประหยัดพลังงานได้ถึง 84% เมื่อเทียบกับหลอดไส้ แต่มีอายุการใช้งานกว่านับ 100 เท่า

จากรายงานของกรมพลังงานสหรัฐอเมริกา ที่ผมอ้างแล้วว่า ถ้าซื้อหลอดแอลอีดีในวันที่คลอดลูก จะพบว่าในวันที่ลูกรับปริญญาหลอดนี้ก็ยังไม่ขาด (ถ้ามันไม่เป็นความจริงผมก็ต้องขอโทษนะครับ ผมว่าตามที่อยู่ในรายงานของทางราชการ!)

นอกจากแสงสว่างในบ้าน และที่ทำงานแล้ว แม้แต่แสงที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือก็มาจากเทคโนโลยีที่เพิ่งได้รับรางวัลเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง

คราวนี้มาถึงเรื่องสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กัน และอาจจะมีความสำคัญมากสำหรับคนที่สนใจทางการศึกษา

เรื่องที่ผมนำมาเล่ามาจาก http://www.dw.de/blog-nobel-prize-in-physics/a-17979944 ท่านสามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้นะครับ

คนที่ผมจะพูดถึงคือ ศาสตราจารย์ ShujiNakamura ซึ่งได้ย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกาหลายปีแล้วหลังจากรู้สึกเบื่อต่อการทำงานในบริษัทเล็กๆ ในญี่ปุ่น

ความน่าสนใจอยู่ตรงไหน?

ผมได้สาระมาจากคำสัมภาษณ์นะครับ ผมจะพยายามเล่าดังนี้ครับ

Q: คุณต้องการจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ยังวัยเยาว์เลยหรือ

A: ผมอ่านหนังสือการ์ตูนเยอะมาก ในญี่ปุ่นคุณก็รู้ว่าหนังสือการ์ตูนได้รับนิยมมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมชอบมาก คือ Mighty Atom (อะตอม ผู้ทรงพลัง) ซึ่งพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง อะตอม เป็นมนุษย์หุ่นยนต์ที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความยุติธรรม และความกล้าหาญ และมีอารมณ์ความรู้สึกเช่นเดียวกับมนุษย์ อะตอมได้รับพลังงานอะตอมเป็นฮีโรของทุกสิ่งเพื่อต่อสู่กับปีศาจร้าย ตั้งแต่ตอนนั้นความฝันของผมก็คือ อยากเป็นนักวิทาศาสตร์ที่สามารถสร้าง Mighty Atom ฮีโรของผม

เขาได้เล่าความของตนเองต่อไปว่า

“ผมต้องการจะเรียนฟิสิกส์กับคณิตศาสตร์ แต่เมื่อผมจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว ครูของผมบอกว่า วิชาเอกของเธอต้องไม่ใช่ฟิสิกส์ ถ้าเธอต้องการจะเรียนฟิสิกส์ต่อไป เธอจะไม่สามารถหางานทำได้ เพราะในญี่ปุ่นคนที่จบฟิสิกส์จะหางานทำได้ยาก ดังนั้น เธอควรจะเรียนวิศวะ ประกอบกับผลการศึกษาของผมก็ไม่ได้เกรดที่สูงมากนัก”

แล้วเขาก็ได้เรียนวิศวะตามคำแนะนำของครู ในมหาวิทยาลัย โตกูชิมะ (The University of Tokushima) ที่เขาเรียกเองพร้อมกับแถมเสียงหัวเราะว่า “เป็นมหาวิทยาลัยที่ต้องถิ่นมากๆ และเป็นมหาวิทยาลัยระดับล่างซึ่งก่อตั้งปี 2492”

“หลังจากได้เข้าไปเรียนวิศวกรรมศาสตร์แล้ว ผมรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก เพราะวิศวกรรมศาสตร์ไม่เหมาะสำหรับผม ดังนั้น ผมยังมีความต้องการที่จะศึกษาฟิสิกส์อยู่ดี”

“ฟิสิกส์เป็นวิชาพื้นฐานสำหรับนักวิทยาศาสตร์ นั่นเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของผม และผมยังคงคิดมันอยู่เสมอ”

“ความฝันของนักศึกษามหาวิทยาลัยคือ การได้เข้าไปทำงานในบริษัทที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น แต่ด้วยเหตุผลส่วนตัวผมต้องอยู่ในเมืองท้องถิ่นในโตกูชิมะ และทำงานในบริษัท Nichia Chemical Industries ในแผนกวิจัยและพัฒนาในช่วง 10 ปีแรกผมทำเกี่ยวกับหลอดแอลอีดีสีแดงแบบเดิม บริษัทของผมเล็กมาก และไม่มีชื่อเสียง ผมไม่สามารถสำเร็จในการทำให้บริษัทมีกำไรได้ เพราะบริษัทมีบริษัทขนาดใหญ่เป็นคู่แข่ง และเขาขายหลอดแอลอีดีได้เป็นจำนวนมาก”

“หลังจาก 10 ปีผ่านไป ผมท้าทายตนเองว่าจะทำหลอดแอลอีดีสีน้ำเงิน (ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับรางวัล) ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วทุกบริษัทขนาดใหญ่ และทุกมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงใช้สารชนิดหนึ่ง (คือ Zinc Selenide - ขออภัยผมไม่มีเวลาค้นว่าคืออะไร) ในการผลิตแอลอีดีสีน้ำเงิน แต่ผมท้าทายตนเองด้วยการใช้สารชนิดอื่นที่เรียกว่า Gallium Nitride ซึ่งถือว่าโชคดีมากสำหรับผม เพราะว่าไม่มีคู่แข่ง และสุดท้ายผมก็ทำได้สำเร็จ”

“และนับตั้งแต่ปี 1993 ผมกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงมาก เพราะว่าผมสำมารถพัฒนาแอลอีดีสีน้ำเงินได้ในบริษัทเล็กๆ ผมไม่มีดีกรีระดับด็อกเตอร์ ผมจบแค่ปริญญาโทเท่านั้น และในปี 1995 ผมสามารถพัฒนาแอลอีดีสีเชียวที่มีความสดใสสูง และหลังจากนั้น เราสามารถพัฒนาได้ทุกสีโดยใช้แอลอีดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีขาว”

“หลังจากนั้น ผมก็รู้สึกเบื่อมากเพราะไม่มีโครงการวิจัยขนาดใหญ่อีกแล้ว ผมจึงต้องการหาสิ่งท้าทายใหม่ ในขณะเดียวกัน ทาง UCLA ก็พยายามจะจ้างผมในตำแหน่งศาสตราจารย์”

เมื่อคำถามว่า “ในความคิดของคุณ อะไรคือคุณสมบัติที่สำคัญของนักประดิษฐ์”

ศาสตราจารย์ผู้กลับมาโด่งดังในระดับโลกตอบว่า

“Gambling หรือการพนันประชาชนต้องเล่นการพนัน”

แต่เมื่อมีเสียงหัวเราะจากผู้ถาม เขาตอบว่า

“ไม่ใช่การไปลาสเวกัส ผมไม่ได้หมายถึงอย่างนั้น แต่เป็น Research Gambling (ความเสี่ยงในการวิจัย) เราต้องพยายามในสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครพยายามมาก่อนนั่นคือสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดแต่ความเป็นไปได้ที่จะปราบผลสำเร็จก็น้อยมาก แต่เราจำเป็นต้องทำเช่นนั้น”

“มีคนถามผมมากว่า งานอดิเรกของผมคืออะไร”

ผมตอบว่า “คือการคิดอยู่เสมอในกรณีของผม ผมไม่ชอบการอ่าน ผมชอบคิดทุกอย่างด้วยตัวของผมเอง ผมคิดถึงปัญหาเหล่านั้นอยู่สม่ำเสมอ โดยไม่อ่านอะไรเลย”

แล้วจบด้วยเสียงหัวเราะที่ดังกว่าทุกครั้ง
 

 
ผมเองรู้สึกทึ่งกับประโยคสุดท้ายของท่านมาก!

ผมอยากจะเข้าไปดูเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งทั้งที่ท่านเรียน และทำงานว่าเขาจะกล่าวถึงท่านว่าอย่างไร แต่ด้วยภารกิจผมทำไม่ทันครับ
 


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น