“ฟาร์มโชคชัย” ร่วมโครงการ “คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร” เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของผลิตภัณฑ์ไทย ทะลายกำแพงกีดกั้นทางการค้า รับเปิด AEC และการแข่งขันในตลาดโลก พร้อมเดินหน้านโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมต่อเนื่อง
โครงการ “คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร” จัดโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อปก.) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผลิตภัณฑ์ไทย หากมีการร้องขอค่า “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” จากผู้ซื้อต่างประเทศ โดยในส่วนผู้บริโภคก็จะมีตัวเลือกในเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาว ซึ่งหากมองในแง่ของโซ่อุปทานแล้ว นับว่า “ฟาร์มโชคชัย” มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศโลกอีกด้วย
กิจกรรมของ “ฟาร์มโชคชัย” ที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือ “มูลวัว” ซึ่งเป็นปฎิกิริยาการหมักแบบไร้อากาศ ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่เรียกว่า “ก๊าซมีเทน” ทำให้เกิดโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า นอกจากนี้ยังพบก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร อาทิ การเผาไหม้เชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า การจัดการของเสีย และการขนส่ง เป็นต้น ผลรวมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้นคิดเป็น 8,963 ตันต่อปี
ในระยะแรกของการจัดทำโครงการ “คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร” อปก. มุ่งเน้นที่จะให้ภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วม เนื่องจากปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 70% ของการปล่อยทั้งหมด หรือประมาณ 350 ล้านตัน สำหรับภาคเกษตรกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 24 เปอร์เซนต์ แต่การจัดการในการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตรกรรมทำได้ยากกว่าภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากภาคเกษตรกรรมส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายเล็กๆ ประมาณ 100,000 ราย ต่างจากภาคอุตสาหกรรมที่เป็นรายใหญ่ ง่ายต่อการเข้าจัดการและจะเห็นผลได้ชัดเจนทันทีที่มีการลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ การเข้าร่วมโครงการฯ ของ “ฟาร์มโชคชัย” ถือเป็นจุดริเริ่มและเป็นต้นแบบให้แก่ภาคเกษตรกรไทยในอนาคต
สำหรับสถานการณ์การทำ “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” ในปัจจุบันพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีการทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ซึ่งจุดนี้จะเป็นข้อได้เปรียบและเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเปิดประตูเข้าสู่ประคมอาเซียน หรือเออีซี และการแข่งขันในตลาดโลก
“ดร.โชค บูลกุล” กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัย เปิดเผยว่า จากการดำเนินธุรกิจต้องยอมรับว่าอาจเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการความรับผิดชอบต่อการกระทำและแบ่งปันให้กับสังคมจึงเกิดขึ้นเพื่อตอบแทนและชดเชยกลับคืนให้กับสังคม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่กลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัยได้ตระหนักและให้ความสำคัญเสมอมา
“ที่ผ่านมา ฟาร์มโชคชัย มีโครงการความรับผิดชอบต่อการกระทำและแบ่งปันให้กับสังคมอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการรักษ์ป่า และโครงการปลูกป่าเพิ่มเติมที่ทำเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี 2535 เพื่อเป็นการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจฟาร์มโคนมและธุรกิจอื่นๆ ของเรา”
จากการคำนวณและประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศพบว่า มูลโค 3,000 ตัว ได้ปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกจำนวน 1,953,000 กิโลคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าต่อปี และเมื่อคำนวณย้อนกลับ พบว่าพื้นป่าที่เพียงพอต่อการดูดซับจะต้องมีจำนวน 63,733 ล้านต้น ซึ่งจากการปลูกป่าของฟาร์มโชคชัยอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ปัจจุบันฟาร์มโชคชัยมีพื้นป่าถึง 1,300 ไร่ มีต้นไม้ที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 125,000 ต้น
นอกจากนี้ “ฟาร์มโชคชัย” ยังมีโครงการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วซึ่งมีกว่า 2,500 ลิตรต่อเดือนนำกลับมาใช้ใหม่ในธุรกิจของฟาร์ม
โครงการกำจัดเศษอาหารและขยะอินทรีย์ภายในฟาร์ม โดยกระบวนการย่อยสลายจากไส้เดือนดินให้เป็นปุ๋ยและน้ำหมักเพื่อนำไปใช้กับพืชต่อไป
โครงการผลิตและใช้ก๊าซชีวภาพจากมูลโค โดยนำมูลโคมาหมักย่อยโดยจุลินทรีย์ในสภาพไร้อากาศ เพื่อให้เกิดก๊าซชีวภาพและนำเอาก๊าซที่เกิดขึ้นมาใช้เป็นพลังงานทดแทน
โครงการบำบัดน้ำทิ้งด้วยวิธีธรรมชาติหมุนเวียนกลับมาใช้รดแปลงพืชอาหารสัตว์ และอีกส่วนหนึ่งจะถูกปล่อยให้ไหลลงไปตามคลองส่งน้ำเข้าสู่ด้านในสวนป่าของแคมป์
โครงการจัดการเศษหญ้าแห้งโดยการนำไปทำปุ๋ยหมัก
“โครงการต่างๆ เหล่านี้มีเป้าหมายสูงสุดคือ การสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรไปพร้อมๆ กับการสร้างความเจริญอย่างยั่งยืนให้แก่สังคม” ดร.โชค กล่าวในที่สุด