xs
xsm
sm
md
lg

โจทย์ใหญ่...ปรับสมุนไพรไทยสู่ยาแผนปัจจุบัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภกญ.ดร.นฤพร สุตัณฑวิบูลย์
ในสายตาผู้บริโภค "สมุนไพร" ยังคงมีความเป็นมิตรมากกว่ายาสังเคราะห์ แต่เมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบันแล้วสมุนไพรยังเป็นรองอยู่หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบที่น่าใช้ หรือการพิสูจน์สารออกฤทธิ์ในสมุนไพร ซึ่งเป็นงานค่อนข้างยาก

ในฐานะเภสัชกรผู้พิสูจน์สารออกฤทธิ์ของสมุนไพร ภกญ.ดร.นฤพร สุตัณฑวิบูลย์ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าสมุนไพรนั้นมีสารออกฤทธิ์หลายชนิด ซึ่งในการพัฒนาสมุนไพรไทยสู่รูปแบบยาแผนปัจจุบันนั้น จะคงสารออกฤทธิ์หลายๆ ตัวตามตำรับยาโบราณ เนื่องจากหากใช้สารออกฤทธิ์ตัวเดียว อาจทำให้พิษเพิ่มหรือฤทธิ์เพิ่มก็ได้ โดยจะหาสัดส่วนของสารออกฤทธิ์ที่เหมาะสมใกล้เคียงสูตรต้นตำรับ

ทั้งนี้ ภกญ.ดร.นฤพร เป็นหนึ่งในทีมวิจัยของ รศ.ดร.ดวงเดือน เมฆสุริเยนทร์ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหัวหน้าโครงการแผนงานวิจัยการพัฒนาสารสกัดมาตรฐานจากสมุนไพรพิกัดนวโกฐ ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีเป็นความร่วมมือของนักวิจัยหลายสถาบัน อาทิ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การศึกษาสารออกฤทธิ์หรือคุณลักษณะตัวยาสำคัญในสมุนไพรเป็นขั้นตอนสำคัญ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้พิจารณาการขึ้นทะเบียนตำรายาจากสมุนไพรแผนปัจจุบัน โดย ภกญ.ดร.นฤพร ได้ศึกษาสมุนไพรใน 2 กลุ่ม คือ สมุนไพรเดี่ยวในที่นี้คือบัวบก และสมุนไพรพิกัดนวโกฐ ซึ่งเป็นสมุนไพรหลายๆ ชนิด ที่ประกอบด้วยสมุนไพรที่เป็น "โกฐ" ตามตำรับไทย 9 ชนิดในปริมาณเท่าๆ กันและเป็นองค์ประกอบในยาหอมนวโกฐที่มีประวัติยาวนาน

ทั้งนี้ นักวิจัยจากหลายสถาบันได้ศึกษาในหลายด้านเพื่อเตรียมสารสกัดมาตรฐานจากสมุนไพรพิกัดนวโกฐ อาทิ พัฒนาวิธีสกัดสารด้วยตัวทำละลายต่างๆ กำหนดคุณภาพด้วยการพิสูจน์เอกลักษณ์ทางเคมี พัฒนาวิธีเตรียมสารสกัดที่เหมาะสม และการศึกษาความคงตัว

อย่างไรก็ดี ในความเห็นของ ภกญ.ดร.นฤพร การพัฒนาสารสกัดจากสมุนไพรนั้นยังมีอุปสรรคสำหรับนักวิจัยหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาให้สอดคล้องกับระเบียบของหน่วยงานผู้กำหนดระเบียบต่างๆ ก่อนขึ้นทะเบียนตำรับยา ซึ่งที่ผ่านมานักวิจัยมักมองที่สมุนไพรเป็นหลัก แต่หากจะพัฒนาให้ไปถึงเป้าหมายสู่กาาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้องคำนึงระเบียบบังคับด้วย

ล่าสุด วช.เพิ่งจัดการประชุมวิชาการนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามข้อกำหนดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อวันที่ 7 ส.ค.57 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค ซึ่ง ภกญ.ดร.นฤพร มองว่าเป็นโอกาสดีที่นักวิจัยและผู้กำหนดระเบียบ รวมถึงภาคอุตสาหกรรม ได้มาระดมความเห็นเพื่อกำหนดการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน
การประชุมวิชาการนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามข้อกำหนดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อวันที่ 7 ส.ค.57 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค
*******************************



*******************************


Instagram







กำลังโหลดความคิดเห็น