ประธานสภาวิจัยฝากคำคมไว้ให้คิด อยากให้งานวิจัยเป็นสิ่งที่ประชาชนเข้าถึงได้ ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทะตั้งไว้บนหิ้งสำหรับนักวิจัย แม้แต่ชาวนาหรือคนขับรถก็ต้องวิจัย อนาคตให้ทุกคนทำวิจัยได้ ตั้งแต่วิจัยระดับง่ายสำหรับชาวบ้าน ไปถึงวิจัยระดับยากสำหรับด็อกเตอร์หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย
สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ร่วมจัดงานมหกรรมงานวิจัย 57 (Thailand Research Expo 2014) ภายใต้แนวคิด "วิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน” (Research for Quality of Life, Sustainable Economy and Society) ระหว่างวันที่ 7-11 ส.ค. 57 ตั้งแต่เวลา 8.00 น.-18.00 น. ณ ชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซนทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ทางด้าน ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษภายในงานดังกล่าว และกล่าวถึงงานมหกรรมงานวิจัยว่า เป็นโอกาสดีที่ทุกปีจะมีการนำเสนอผลงานจากเครือข่ายในระบบวิจัยจากนักวิจัยและสถาบันต่างๆทั่วประเทศแก่สาธารณะ ประชาชนทั่วไปจะได้รับความรู้ แรงบันดาลใจ ก่อให้เกิดการกระตุ้นความเป็นนักวิจัยในตัวเอง อีกทั้งยังเป็นการผลักดันงานวิจัยสู่ภาคเอกชน
ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ ระบุอีกว่า สิ่งสำคัญสำหรับงานวิจัยในปัจจุบันคือการไม่หยุดนิ่งเฉพาะแนวความคิดเพื่อตอบโจทย์วิจัยในประเทศเท่านั้น แต่เราสามารถคิดให้ใหญ่ขึ้นด้วยการนำปัญหาหรือความเป็นไปของโลกมาช่วยในการสร้างประเด็นและตอบโจทย์เพื่อเพิ่มศักยภาพให้งานวิจัยได้ ซึ่งการจัดงานมหกรรมงานวิจัยในปีนี้ ภายใต้แนวคิด "วิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน” จึงเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจที่จะช่วยสร้างมิติใหม่ให้สังคม ในอนาคตอันใกล้
“ผมอยากให้งานวิจัยเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งไว้บนหิ้งสำหรับนักวิจัย ชาวนาต้องวิจัยได้ คนขับรถต้องวิจัยได้เหมือนกัน แต่ติดอยู่ที่นักวิจัยไม่ลงไปหาชาวนา ไม่มีการลงงานไปทำงานร่วมกัน อนาคตอันใกล้ผมอยากให้การวิจัยเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ อาจเป็นการวิจัยง่ายในชาวบ้าน รวมไปถึงงานวิจัยระดับยากสำหรับนักศึกษาหลังปริญญาเอกหรืออาจารย์ ถ้าหากทุกคนทำได้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีเหตุมีผล อยู่บนหลักความจริง นำไปสู่ความเจริญได้ในที่สุด" ศ.นพ.เกษม กล่าว
นอกจากนี้ ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติกล่าวอีกว่า ปัจจุบันอาเซียนกำลังเปิดกว้าง ซึ่งจะมีผลต่อทุกคน และประเทศไทยจำเป็นต้องก้าวไปสู่แถวหน้าของภูมิภาค โดยความร่วมมือทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนทั่วไปในการวิจัยและพัฒนา จะเป็นพื้นฐานในการสร้างชาติและขับเคลื่อนความก้าวหน้าให้ไทยเข้าไปยืนแถวหน้าของภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ภายในงานดังกล่าว ได้จัดแสดงนิทรรศการที่น่าสนใจ อาทิ นิทรรสการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์, ผลงานวิจัยและกิจกรรมจากหน่วยงานในระบบวิจัย, การประชุมและสัมมนาในหัวข้อที่น่าสนใจต่างๆ และแบ่งการแสดงผลงานวิจัยออกเป็น 9 สาขาได้แก่ งานวิจัยและการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าการเกษตร งานวิจัยเพื่อพลังงาน งานวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบสำหรับภาคอุตสาหกรรม งานวิจัยเพื่อสุขภาพและการแพทย์ งานวิจัยเพื่อการบริหารจัดการเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมภาคชุมชน งานวิจัยเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรม ศิลปกรรมและการศึกษา งานวิจัยเพื่อสร้างธุรกิจ ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม งานวิจัยเพื่อการบริหารและจัดการน้ำและงานวิจัยเพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
ผู้สนใจสามารถเข้าชมมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 57 ได้ฟรีระหว่างวันที่ 7-11 ส.ค. 57 ตั้งแต่เวลา 8.00 น.-18.00 น. ณ ชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซนทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดหัวข้อประชุม และสัมมนาได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th หรือ www.nrct.go.th