เหตุเพราะโรค “อีโบลา” เป็นโรคร้ายแรงเฉพาะถิ่นที่อยู่ห่างไกล นานๆ ระบาดสักครั้งและจำนวนไข้ไม่ได้เยอะมาก จึงเป็นโรคที่ได้รับความสนใจจากบริษัทยา แต่การพัฒนายาก็ยังมีอยู่บ้าง และมีพอมีตัวยาที่เป็นความหวังในการรักษาโรคจากแอฟริกานี้
ระหว่างการเสวนา Science Cafe ในหัวข้อ เฝ้าระวังไวรัสอีโบลา ที่จัดขึ้นโดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 4 ส.ค.57 ผศ.พญ.อรุณี ธิติผู้ธัญญนนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า ตลอดการระบาดนับแต่โรคนี้อุบัติครั้งแรกเมื่อกว่า 40 ปีก่อน มีคนไข้แค่ราว 5,000 คน ทำให้ได้รับความสนใจจากตลาดและบริษัทยานัก
สำหรับยาที่อยู่ระหว่างการวิจัยและเป็นความหวังในการรักษาโรคนี้ ผศ.พญ.อรุณี ระบุว่ามีอยู่ 4 ตัว ได้แก่
1.น้ำเลือดของผู้รอดชีวิต (Survivor Plasma) จากไวรัสอีโบลา ซึ่งการรักษาจะใช้วิธีฉีดน้ำเลืองของผู้ที่รอดชีวิตให้แก่ผู้ป่วย นับเป็นวิธีการรักษาที่น่าสนใจ
2.TKW EBOLA เป็นยาที่พัฒนาโดยบริษัทในแคนาดา ซึ่งเป็นการพัฒนายาแบบ Small interfering RNA (siRNA) ที่ประสบความสำเร็จในการทดลองในลิง และทางบริษัทต้องการนำไปทดลองในคน
3.MB003 ซึ่งเป็นแอนติบอดีที่ให้ผลดีในหนู โดยช่วยให้หนูรอดจากเชื้ออีโบลาได้ 80% และ
4.BCX4430 ซึ่งทำงานโดยยับยั้งเอ็นไซม์ที่เชื้ออีโบลาใช้ในการแบ่งตัวของอาร์เอ็นเอ (RNA) และเป็นยาที่บริษัทยาให้ความสนใจ เนื่องจากใช้กับไวรัสชนิดอื่นๆ ได้
ส่วนเชื้อไวรัสอีโบลานั้น ผศ.พญ.อรุณีให้ข้อมูลว่าเป็นเชื้อไวรัสอาร์เอ็นเอ ซึ่งในทางไวรัสวิทยาถือว่าไม่ค่อยดีนัก และเชื้ออุบัติใหม่มักเกิดจากไวรัสอารืเอ็นเอ แต่เชื้อนี้มีเปลือก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะถูกทำลายได้ง่าย เช่น โดนสิ่งแวดล้อม หรือสารทำความสะอาดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ ผงซักฟอก สบู่ ก็สามารถทำลายได้
“ไวรัสอีโบลามีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์ก็ไม่ก่อโรคในคน หรือบางสายพันธุ์ก็ก่อโรคน้อย โดยสายพันธุ์ที่กำลังระบาดและค่อนข้างรุนแรงนี้คือสายพันธุ์ “ไซร์อี” (Zaire) ส่วนสายพันธุ์ที่ไม่ก่อโรคในคนเลยคือสายพันธุ์เรสตัน (Reston)” ผศ.พญ.อรุณี
แม้ไวรัสอีโบลาจะถูกทำลายได้ง่ายด้วยสารทำความสะอาดในชีวิตประจำวัน แต่ ผศ.พญ.อรุณี ระบุว่า มีการทดลองที่เผยให้เห็นว่า ไวรัสอีโบลานั้น “อึด” โดยเมื่อทดลองปล่อยให้อยู่ในของเหลวที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส พบว่าเชื้อสามารถอยู่ได้นานถึง 50 วัน ส่วนที่อุณหภูมิห้องคือ 25 องศาเซลเซียส พบว่าเชื้อส่วนใหญ่ไม่ค่อยรอด โดยจากเชื้อล้านตัวเหลือประมาณหมื่นตัว ทว่าเราติดเชื้อได้ง่ายโดยโดสในการติดเชื้อ (infectious dose) ต่ำ คือปริมาณเชื้อเพียง 1-10 ตัวก็สามารถติดเชื้อได้ และเมื่อทดลองเกลี่ยเชื้อทิ้งไว้ในพื้นผิวแห้งที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส พบว่ามีเชื้อเหลือถึงหมื่นตัว
อย่างไรก็ดี นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เชื้อไวรัสที่มีอัตราการตายสูงอย่างเชื้อไวรัสอีโบลาที่มีอัตราการตายถึง 60% มักมีการระบาดไม่ไกล เพราะคนไข้มักมีอาการหนักและไปไหนไม่ได้ไกล ต่างจากเชื้อไวรัสเอชไอวีหรือเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งติดเชื้อมาก่อนที่จะมีอาการของไข้ ทำให้เกิดการระบาดได้มากกว่า
นอกจากการควบคุมการติดเชื้อจากคนแล้ว นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า การลักลอบค้าสัตว์ป่าก็เป็นอีกช่องทางให้มีการระบาดของโรคต่างๆ โดยพบว่า 70-75% ของโรคอุบัติใหม่นั้นมาจากสัตว์ โดยมีตัวอย่างการส่งลิงจากฟิลิปปินส์ไปสรัฐฯ ก็ตรวจพบเชื้ออีโบลา หรือแหล่งที่มีการระบาดของโรคก็มีการนำสัตว์ป่าบริโภคหรือมีการกินซุปค้างค้าว แต่จากการสุ่มตรวจสัตว์ต่างๆ ในไทยรวมถึงค้างคาว ยังไม่พบเชื้ออีโบลา