ขณะที่เวลาบนโลกผ่านไปเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ “คิวริออซิตี” เพิ่งสำรวจดาวแดงครบรอบ 1 ปีดาวอังคารเท่านั้น แต่กระนั้นก็ปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จตามเป้าองค์การอวกาศสหรัฐฯ
“คิวริออซิตี” (Curiosity) ยานโรเวอร์สำรวจดาวอังคารขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ปฏิบัติภารกิจครบ 687 วัน ตามเวลาบนโลก หรือคิดเป็น 1 ปีของดาวอังคาร ในวันที่ 24 มิ.ย.2014 นี้ เป้าหมายหลักของยานโรเวอร์ลำนี้คือการสำรวจสภาพแวดล้อมบนดาวอังคารว่า ครั้งหนึ่งเคยมีสภาพที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของจุลินทรีย์หรือไม่
นาซาระบุว่า การสำรวจของคิวริออซิตีเป็นไปตามเป้า โดยหนึ่งในการค้นพบที่สำคัญของคิวริออซิตีหลังจากลงจอดบนดาวแดงเมื่อ ส.ค.2012 คือการค้นพบตะกอนแม่น้ำโบราณบริเวณที่ยานลงจอดนั่นเอง และยานสำรวจยังพบว่าบริเวณเยลโลว์ไนฟ์เบย์ (Yellowknife Bay) ในหลุมอุกกาบาตเกล (Gale Crater) เคยเป็นแหล่งที่สิ่งมีชีวิตไม่ซับซ้อนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ จากการขุดตัวอย่างหินโคลนขึ้นมาตรวจ ซึ่งผลวิเคราะห์ระบุว่าบริเวณนั้นเคยเป็นก้นแม่น้ำที่มีสายน้ำไหลเอื่อย อีกทั้งมีแหล่งพลังงานเคมีแบบเดียวกับที่จุลินทรีย์บนโลกบางชนิดใช้ประโยชน์
นอกจากนี้ยังมีการค้นพบสำคัญอื่นๆ อีกในรอบปีดาวอังคาร เช่น การประเมินระดับรังสีระหว่างยานเดินทางไปดาวอังคารและบนพื้นผิวดาวเคราะห์เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบระบบป้องกันที่จำเป็นสำหรับปฏิบัติการส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร การประเมินอายุของก้อนหินบนดาวอังคารกับระยะเวลาที่หินก้อนนั้นได้รับรังสีอันตราย เพื่อหาคำตอบว่ามีสายน้ำไหลผ่านเมื่อไร เป็นต้น
ตอนนี้ยานคิวริออซิตีหยุดการขับเคลื่อนเพื่อขุดเจาะและเก็บตัวอย่างหินทรายจากบริเวณที่เรียกว่า “วินด์จานา” (Windjana) ซึ่งตอนนี้ยานได้เก็บตัวอย่างส่วนหนึ่งเพื่อรอการวิเคราะห์ต่อไป ซึ่ง เดวิด เบรค (David Blake) นักวิเคราะห์หลักด้านเคมีและแร่วิทยา ประจำศูนย์วิจัยเอมส์ (Ames Research Center) ของนาซา กล่าวว่าบริเวณวินด์จานานั้นมีแร่แม่เหล็กมากกว่าตัวอย่างอื่นๆ ที่เคยวิเคราะห์มาก่อนหน้านี้ ซึ่งคำถามสำคัญคือแร่แม่เหล็กเหล่านี้เป็นองค์ประกอบดั้งเดิม หรือเกิดจากตะกอนที่มีน้ำไหลผ่าน คำตอบที่ได้สำคัญต่อการประเมินว่าสภาพแวดล้อมของดาวอังคารในช่วงแรกๆ นั้นเอื้อต่อสิ่งมีชีวิตหรือไม่
*********************