xs
xsm
sm
md
lg

เก่าแต่เก๋า “ออพพอร์จูนิตี” พบร่องรอยน้ำอีกบนดาวอังคาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตำแหน่งที่ออพพอร์จูนิตีสำรวจหินแล้วพบร่องรอยน้ำ (นาซา/บีบีซีนิวส์)
แม้จะขึ้นไปวิ่งบนดาวอังคารมา 9 ปีแล้ว แต่ “ออพพอร์จูนิตี” ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่ออย่างดีเยี่ยม ล่าสุดยานเก่าของนาซาลำนี้ได้ค้นพบสิ่งที่สำคัญอีกครั้ง นั่นคือ ร่องรอยน้ำ โดยยานโรเวอร์ได้พบหินที่บรรจุสิ่งที่คาดว่าน่าจะเป็นแร่โคลน ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าหินดังกล่าวเคยสัมผัสน้ำมาก่อน และเป็นหลักฐานพบร่องรอยน้ำที่มีค่า pH เป็นกลางต่างจากที่เคยพบ

“เอสเพอแรนซ์” (Esperance) คือหินที่ยาน “ออพพอร์จูนิตี” (Opportunity) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้ศึกษา ซึ่งมีร่องรอยของแร่โคลนที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าหินดังกล่าวได้ผ่านการสัมผัสน้ำเป็นเวลานาน และนักวิทยาศาสตร์ยังระบุด้วยว่า นั่นคือตัวอย่างที่บอกถึงการมีน้ำบนดาวอังคารที่ดีที่สุดในตอนนี้
  
บีบีซีนิวส์อ้างคำอธิบายของ สตีฟ สไควเรส (Steve Squyres) หัวหน้าทีมสำรวจในโครงการออพพอร์จูนิตีว่า ตัวอย่างดังกล่าวสมบูรณ์มาก โดยนับตั้งแต่ส่งยานไปลงจอดดาวอังคารเมื่อปี 2004 ก็พบร่องรอยน้ำมาโดยตลอด แต่สิ่งที่แตกต่างคือ ในการค้นพบที่ผ่านมานั้นส่วนใหญ่บ่งชี้ว่าเป็นร่องรอยของน้ำที่มีค่า pH ค่อนข้างต่ำ หรือเป็นน้ำที่มีความเป็นกรด

ร่องรอยที่พบส่วนใหญ่ สไควเรส กล่าวว่าเป็นหลักฐานของกรดซัลฟิวริก แต่ร่องรอยแร่โคลนที่พบล่าสุดนี้ เป็นแนวโน้มที่บ่งชี้ถึงน้ำซึ่งมีค่า pH เป็นกลาง เป็นน้ำที่เราสามารถดื่มได้ และเหมาะสมให้เกิดสภาพเคมีก่อนกำเนิดชีวิต ซึ่งเป็นเคมีที่จะนำไปสู่จุดเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิต

สไควเรส ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) สหรัฐฯ กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วเขาจัดให้การค้นพบของออพพอร์จูนิตีครั้งนี้เป็น 1 ใน 5 อันดับสุดยอด ของการค้นพบโดยออพพอร์จูนิตีและยานแฝดของเธออีกลำคือ “สปิริต” (Spirit) ซึ่งหยุดทำงานไปเมื่อปี 2011

โคลนดังกล่าวอุดมด้วยอะลูมิเนียมจึงอาจจะเป้นแร่ธาตุชนิด “มอนท์มอริลโลไนท์” (montmorillonite) แต่เพราะเครื่องตรวจวัดรังสีเอกซ์ของยานออพพอร์จูนิตีให้รายละเอียดได้แค่องค์ประกอบทางอะตอมของก้อนหิน แต่ไม่สามารถระบุถึงการจัดเรียงทางแร่วิทยาได้ จึงยังไม่อาจระบได้แน่ชัดว่าเป็นแร่ดังกล่าวจริงหรือไม่

ถึงอย่างนั้นการปรากฎของโคลนบนดาวอังคารก็พิสูจน์ได้ชัดเจนขึ้นว่า เมื่อหลายพันล้านปีมาก่อนนั้นดาวอังคารเคยร้อนกว่านี้และชุ่มชื้นกว่านี้มาก แตกต่างอย่างสิ้นเชิงต่อสภาพหนาวเย็นและแห้งแล้งดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งผลดังกล่าวก็เติมเต็มผลการสำรวจของยานโรเวอร์ที่ใหม่กว่าอย่าง “คิวริออซิตี” (Curiosity) ที่ได้วิเคราะห์โคลนบริเวณที่ยานลงจอดบริเวณเกือบเส้นศูนย์สูตรของดาวเคราะห์
ภาพแสดงภูมิประเทศบนดาวอังคาร ซึ่งโซแลนเดอร์พอยท์ อันเป็นเป้าหมายในการสำรวจต่อไปของยานอยู่่ทางซ้ายมือของภาพ และอยู่ห่างจากตำแหน่งปัจจุบันของยานประมาณกิโลเมตรกว่า (บีบีซีนิวส์/นาซา)
ส่วนจุดที่ยานเก่าของนาซาทำการสำรวจนั้นอยู่ตำแหน่งที่เรียกว่า “เคป ยอร์ก” (Cape York) ซึ่งบริเวณขอบหลุมอุกกาบาตกว้าง 22 กิโลเมตรชื่อ “เอ็นดูแรนซ์” (Endurance) และตอนนี้ผู้จัดการปฏิบัติการก็ได้สั่งให้ยานเริ่มเคลื่อนไปตามแนวสันอุกกาบาตสู่จุดที่เรียกว่า “โซแลนเดอร์พอยท์” (Solander Point) ซึ่งมีความคาดหวังว่าจะออพพอร์จูนิตีจะพบกองหินที่ลึกลงไปอีกบริเวณตำแหน่งสำรวจใหม่ เพื่อติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับน้ำของเอสเพอเรนซ์ต่อ

เรย์ อาร์วิดสัน (Ray Arvidson) ผู้ช่วยหัวหน้าโครงการสำรวจของยานออพพอร์จูนิตี จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (Washington University) ในเซนต์หลุย สหรัฐฯ กล่าวว่าเป็นไปได้ที่เราอาจจะสร้างสภาพแวดล้อมจริงๆ ของวัตถุที่ยานขุดสำรวจและตรวจสอบดูว่าครั้งหนึ่งบริเวณเหล่านั้นเคยเป็นแหล่งน้ำใดๆ มาก่อนหรือไม่ 

ในแง่การทำงานถือว่าออพพอร์จูนิตีทำงานเกินเวลาที่ตั้งเป้าไว้มาก โดยนาซาคาดว่ายานน่าจะทำงานได้อย่างน้อย 90 ซอล (sol) หรือวันตามเวลาบนดาวอังคาร แต่ตอนนี้ยานทำงานมาได้ 3,300 ซอลแล้ว แม้ว่าสภาพทางกายภาพจะสึกหรอไปบ้างแล้วก็ตาม โดยข้อต่อของแขนกลและแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของยานกำลังสูญเสียประสิทธิภาพการทำงาน และยานต้องเดินถอยหลังเพื่อป้องการสึกหรอในระบบเคลื่อนที่

รวมถึงยังพบความบกพร่องเล็กน้อยในระบบหน่วยความจำระยะสั้น แต่ทางนาซาก็อยากยึดอายุการทำงานของยานออกไปให้นานเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่ง จอห์น คาลลัส (John Callas) ผู้จัดการโครงการออพพอร์จูนิตีของนาซากล่าวว่า ยานทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมของดาวอังคารอันเลวร้าย และยานอาจดับไปได้ทุกเวลานั้น ดังนั้น ผลงานแต่วันจึงเป็นเหมือนฟ้าประทาน 
ยานออพพอร์จูนิตี






กำลังโหลดความคิดเห็น