xs
xsm
sm
md
lg

นาซาพบสัญญาณ “จุลินทรีย์” เคยดำรงชีพบนดาวอังคาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างแรกที่คิวริออซิตีขุดขึ้นมา (นาซา/ไลฟ์ไซน์)
นาซาแถลงผลสำรวจของยาน “คิวริออซิตี” ที่ปฏิบัติหน้าที่บนดาวอังคารมาร่วม 7 เดือนว่า ตัวอย่างหินที่ยานสำรวจเจาะขึ้นมาจากบริเวณพื้นที่สำรวจนั้น มีสัญญาณบ่งชี้ว่าครั้งหนึ่งดาวเคราะห์เพื่อนบ้านดวงนี้อาจเคยมีจุลินทรีย์ดำรงชีวิตอยู่

สเปซด็อทคอมรายงานว่า องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เพิ่งประกาศออกมาว่า ตัวอย่างหินดาวอังคารที่ยานคิวริออซิตี (Curiosity rover) เจาะมาวิเคราะห์ด้วยอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ติดตั้งอยู่ภายในยานสำรวจเคลื่อนที่นั้น ชี้ว่าในอดีตของดาวอังคารนั้นอาจเอื้อต่อการดำรงชีพของจุลินทรีย์

การสำรวจดังกล่าวเป็นผลงานของยานคิวริออซิตีที่ลงจอดบนดาวอังคารได้ประมาณ 7 เดือนแล้ว จะมีภารกิจปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปี เพื่อหาคำตอบว่า ดาวเคราะห์ที่อยู่ถัดออกไปจากโลกนั้นเคยมีสภาพที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของ “ชีวิตดึกดำบรรพ์” (primitive life) หรือไม่

“คำถามสำคัญของปฏิบัติการนี้คือ ดาวอังคารนั้นเคยมีสภาพแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้หรือไม่ ซึ่งจากทั้งหมดที่เราทราบตอนนี้ คำตอบคือ ใช่” ไมเคิล เมเยอร์ (Michael Meyer) นักวิทยาศาสตร์หัวหน้าทีมจากโครงการสำรวจดาวอังคารของนาซา แถลงไว้ ณ สำนักงานใหญ่ในวอชิงตัน

เมื่อ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ยานคิวริออซิตีได้ขุดเจาะลงไปบนเนินหินที่ถูกตั้งชื่อว่า “จอห์น เกลน” (John Klein) ตามชื่อนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของนาซา ด้วยความลึก 6.4เซ็นติเมตร ด้วยอุปกรณ์ขุดเจาะที่เชื่อมเข้ากับแขนกล และนับเป็นความลึกที่สุดเท่าที่เคยมีหุ่นยนต์ขุดสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร

จากนั้นอีก 2 สัปดาห์คิวริออซิตีได้ใส่ตัวอย่างที่ถูกบดอัดเป็นผงสีเทาเข้าไปในอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ 2 ชิ้นที่ติดตั้งอยู่ในตัวยาน นั่นคือ เครื่องเคมิน (CheMin: Chemistry and Mineralogy) และเครื่องแซม (SAM: Sample Analysis at Mars) ซึ่งอุปกรณ์ทั้งสองเครื่องจะวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญต่อการสิ่งมีชีวิตในผงตัวอย่างดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย ซัลเฟอร์ ไนโตรเจน ไฮโดรเจน ฟอสฟอรัสและคาร์บอน

ตัวอย่างจากหินจอห์นเกลนนี้ยังมีแร่ดิน ซึ่งบ่งบอกว่าเมื่อนานมาแล้วดาวอังคารเคยมีสภาพแวดล้อมที่มีน้ำ ซึ่งเค็มและมีสภาพกรดด่างเป็นกลาง ซึ่งนักวิจัยกล่าวว่าเป็นลักษณะของพื้นที่ซึ่งน่าจะอาศัยอยู่ได้ แต่การวิเคราะห์ตัวอย่างดังกล่างก็ค่อนข้างยุ่งยากอันเป็นผลจากความบกพร่องเล็กน้อยในคอมพิวเตอร์ของคิวริออซิตี ซึ่งเมื่อปลาย ก.พ.มีการประเมินว่ามีความบกพร่องต่อระบบความจำแบบแฟลชในคอมพิวเตอร์หลักของยาน ทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้คอมพิวเตอร์สำรอง และเข้าสู่ภาวะ “เซฟโหมด” เมื่อ 28 ก.พ.แล้วฟื้นขึ้นมาทำงานตามปกติเมื่อ 2 มี.ค.ซึ่งทีมทำงานระบุว่าคอมพิวเตอร์สำรองทำงานได้ดี

คิวริออซิตีลงจอดบนดาวอังคารที่หลุมอุกาบาตเกล (Gale Crater) ขนาดใหญ่เมื่อ 5 ส.ค.2012 และเริ่มต้นภารกิจที่มีระยะเวลายาว 2 ปีเพื่อไขคำตอบว่า ดาวแดงนั้นมีสภาพที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของจุลินทรีย์หรือไม่ และเครื่องเคมินกับแซมก็เป็นเพียง 2 ใน 10 อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่จะช่วยคิวริออซิตีหาคำตอบดังกล่าว
(นาซา/ไลฟ์ไซน์) ภาพเปรียบเทียบการเก็บตัวอย่างของยาน ออพพอร์จูนิตี (Opportunity) ยานสำรวจดาวอังคารอีกลำของนาซา และภาพการขุดเจาะหินจอห์นเกลนของยานคิวริออซิตี (ขวา)

คลิปอธิบายการทำงานของอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ในยานคิวริออซิตี


ภาพแสดงจุดลงจอดยานคิวริออซิตีในหลุมอุกกาบาตเกล และจุดที่ยานขุดเจาะหินมาสำรวจ (นาซา/ไลฟ์ไซน์)






กำลังโหลดความคิดเห็น