หลังวิศวกรรอมา 6 เดือน พวกเขาก็ปล่อยเครื่องมือที่ปลายแขนยานสำรวจ “คิวริออซิตี” ออกมาขุดเจาะหินบนดาวอังคาร เพื่อเก็บตัวอย่างผงธุรีไปวิเคราะห์อดีตของดาวแดง
บีบีซีนิวส์ รายงานว่า “คิวริออซิตี” (Curiosity) ยานโรเวอร์สำรวจดาวอังคารขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ขุดพื้นผิวดาวอังคารลงไปลึกพอสมควร และอ้างตามนาซาว่า การขุดเจาะครั้งนี้ถือเป็นหลักไมล์สำคัญสำหรับทีมคิวริออซิตี นับแต่ได้นำส่งยานลงจอดบนพื้นผวิดาวแดง และเป็นครั้งแรกของการสำรวจระหว่างดวงดาว ซึ่งไม่เคยมีการสำรวจภายในหินของดาวเคราะห์อื่นด้วยวิธีนี้มาก่อน
การขุดเจาะหินถือเป็นภารกิจหลักของยานโรเวอร์ภายในหลุมอุกกาบาตเกล (Gale Crater) ที่บริเวณเส้นศูนย์สูตรของดาวอังคาร โดยตอนนี้คิวริออซิตีกำลังเสาะหาคำตอบว่าสภาพแวดล้อมในอดีตของตำแหน่งสำรวจดังกล่าวนั้นจะเอื้อต่อการดำรงชีวิตได้หรือไม่
คิวริออซิตีได้เจาะเข้าไปข้างในก้อนหินเพื่อวิเคราะห์ส่วนประกอบของหินว่า จะให้หลักฐานเพิ่มเติมที่บอกอะไรได้มากขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ วิศวกรต้องรอถึง 6 เดือนเต็ม ก่อนจะปล่อยอุปกรณ์ขุดเจาะ ซึ่งติดอยู่ที่ปลายแขนกลยาว 2.2 เมตรของยานโรเวอร์ เพื่อออกมาใช้งาน
ปฏิบัติการแรกของอุปกรณ์ดังกล่าวคือการเคาะที่ก้อนหินเป้าหมายเบาๆ ก่อนหน้าการขุดเจาะประมาณสัปดาห์ ซึ่งเป็นการขั้นตอนตรวจสอบพื้นๆ เพื่อพิสูจน์ว่า เครื่องมือกลนั้นทำงานได้ตามที่ควร จากนั้นจึงตามมาด้วยการขุดเจาะหินเป้าหมายเป็นหลุมกว้าง 2 เซนติเมตร และตัวอย่างจะถูกเก็บเข้าในอุปกรณ์ทดสอบ “เคมิน” (Chemin) และ “แซม” (Sam) โดยมีกระบวนการขจัดสิ่งที่คาดว่าจะปนเปื้อนมาจากโลกออกจากตัวยานสำรวจด้วย
อุปกรณ์ทดสอบทั้งสองจะประเมินข้อมูลด้านเคมีและแร่วิทยาของตัวอย่างได้อย่างแม่นยำ และจำแนกคาร์บอนที่น่าสนใจ ซึ่งอาจจะมีอยู่ในตัวอย่างหินนั้นๆ โดยอุปกรณ์เคมินจะวิเคราะห์ตัวอย่างผงหินก่อน เนื่องจากการค้นพบจากอุปกรณ์ทดสอบนี้จะส่งผลต่อการเดินหน้าทดลองของอุปกรณ์ทดสอบแซม
หินที่ถูกขุดสำรวจนั้นประกอบด้วยผงตะกอนละเอียดที่มีร่องรอยของสิ่งที่น่าจะเป็นแคลเซียมซัลเฟต ทั้งนี้คิวริออซิตีได้พบหลักฐานมากมายของสายน้ำในอดีตภายในหลุมอุกกาบาตเกล และทีมศึกษาคาดว่าผลการวิเคราะห์หินที่เพิ่งถูกขุดเจาะขึ้นมานี้ จะเผยข้อมูลเกี่ยวกับอดีตอันชุ่มฉ่ำของดาวอังคารมากขึ้น