xs
xsm
sm
md
lg

ประมวลภารกิจครบเดือนบนดาวอังคารของ “คิวริออซิตี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คิวริออซิตี และตำแหน่งของกล้องต่างๆ 17 ตัวสำหรับใช้สำรวจพื้นผิวดาวอังคาร (นาซา)
เป็นเวลา 1 เดือนแล้วที่ “คิวริออซิตี” ลงจอดบนดาวอังคาร จากภาพเบลอๆ ของกล้องที่ตรวจจับการแตะพื้นผิวดาวแดง ตอนนี้ยานสำรวจของนาซาได้ส่งภาพถ่ายและข้อมูลที่หลากหลายกลับมายังโลก

ข้อมูลล่าสุดจากองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ระบุว่า “คิวริออซิตี” (Curiosity) ยานสำรวจเคลื่อนที่ (rover) ซึ่งลงจอดที่หลุมอุกกาบาตเกล (Gale Crater) บนดาวอังคารไปเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2012 ได้ปฏิบัติภารกิจขับสำรวจไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นระยะทาง 100 ฟุต หรือประมาณ 30.5 เมตร เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา หรือตรงกันซอล (Sol) ที่ 29 บนดาวอังคาร

นับแต่ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคาร ยานคิวริออซิตีก็ส่งภาพถ่ายพื้นผิวดาวแดงส่งกลับมายังโลกจำนวนมาก รวมถึงเริ่มปฏิบัติภารกิจตรวจวิเคราะห์คุณสมบัติของดินบนดาวอังคารด้วยกล้องเลเซอร์เคมแคม (ChemCam) และภาพต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของปฏิบัติการบนดาวอังคาร

ภาพบนดาวอังคารชุดๆ แรกจากยานคิวริออซิตี ซึ่งถ่ายกล้องเลนส์ตาปลามุมกว้างซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกล้องระวังภัยที่ติดอยู่ด้านหน้าบริเวณฐานของยาน (ภาพประกอบทั้งหมดจากนาซา)

ภาพพาโนรามาแบบ 360 องศารอบๆ ตัวยานคิวริออซิตี ซึ่งอยู่ภายในหลุมอุกกาบาตเกล ซึ่งเผยให้เห็นตัวยานทางด้านซ้ายและขวาของภาพ ส่วนเงาบริเวณกลางภาพคือ “ศีรษะ” ที่ติดตั้งกล้องเนวิเกชัน (Navigation camera) ซึ่งบันทึกภาพนี้ ทางด้านซ้ายไกลๆ ของภาพยังเผยขอบของหลุมอุกกาบาต ส่วนบริเวณกลางภาพด้านหลังแสดงตีนภูเขาเมานท์ชาร์ป (Mount Sharp)

ภาพสีจากคิวริออซิตีที่มองไปทางใต้ของบริเวณจุดลงจอดบนดาวอังคาร หันหน้าไปทางภูเขาเมานท์ชาร์ป ซึ่งเป็นภาพสีความละเอียดสูงที่ปะติดปะต่อขึ้นจากภาพที่ถ่ายด้วยกล้องแมสต์ (Mast Camera)

ภาพร่องรอยของยานคิวริออซิตี เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2012 หลังเสร็จภารกิจทดสอบวิ่งบนดาวอังคาร โดยยานเดินหน้าไปไกล 4.5 เมตร หมุนอีก 120 องศาแล้วเคลื่อนกลับอีก 2.5 เมตร

ภาพจากยานคิวริออซิตีแสดงชั้นข้อมูลทางธรณีวิทยาของภูเขาเมานท์ชาร์ป ซึ่งเป็นภูเขาสูงประมาณ 5 กิโลเมตรที่อยู่กลางหลุมอุกกาบาตเกล

ภาพล้อเปื้อนฝุ่นดาวอังคารของยานคิวริออซิตี หลังเสร็จสิ้นการทดสอบขับเคลื่อนทางไกลเมื่อวันที่ 28 ส.ค.2012 ซึ่งเป็นการทดสอบทางไกลครั้งแรกเป็นระยะทาง 15 เมตร

ภาพจากชุดทดสอบเพื่อแสดงคุณสมบัติพิเศษของกล้องแมสต์ (Mast Camera) ขนาด 100 มิลลิเมตร บนยานคิวริออซิตี ที่บันทึกเมื่อ 23 ส.ค.2012 ซึ่งบันทึกภาพทางด้านใต้ของทิศตะวันตกเฉียงใต้ที่ยานลงจอด และได้แสดงเครื่องหมายระบุระยะทางในตำแหน่งของภาพที่แตกต่างกัน

หินเอ็น 165 (N165) เป้าหมายแรกบนดาวอังคารของยานคิวริออซิตี สำหรับใช้กล้องเคมแคม (ChemCam) ยิงเลเซอร์ศึกษาองค์ประกอบทางเคมี จากการวิเคราะห์การเรืองแสง ก๊าซที่เกิดการแตกตัวกลายเป็นพลาสมาจากการกระตุ้นด้วยเลเซอร์

ร่องรอยเลเซอร์ที่คิวริออซิตี ยิงจากกล้องเคมแคมไปบนพื้นผิวดาวอังคารจุดต่อจุด (สามจุดในภาพขวา) เปรียบเทียบกับภาพพื้นผิวดินก่อนยิงเลเซอร์







กำลังโหลดความคิดเห็น