หลังเดินทางนานนับ 10 เดือน ยาน “มาเวน” ของนาซาก็เข้าสู่วงโคจรของดาวอังคาร เตรียมเริ่มภารกิจใหม่ “ศึกษาการหายไปของน้ำบนดาวอังคาร?” พิสูจน์ข้อสันนิษฐานว่าครั้งหนึ่งดาวแดงไม่ได้หนาวเหน็บและแห้งแล้งเหมือนทุกวันนี้ และอาจเคยมีสภาพปัจจัยที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต
องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) แถลงว่า ยานมาเวน (MAVEN: Mars Atmosphere and Volatile Evolution) ยานสำรวจ 6 เครื่องยนต์ขับเคลื่อนความดัน ซึ่งตะลุยอวกาศเป็นระยะทางกว่า 71 ล้านกิโลเมตร เพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจชั้นบรรยากาศและศึกษาวิวัฒนาการการระเหยของน้ำดาวอังคารนั้น ได้เข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารและเตรียมพร้อมสำหรับปรับเข้าสู่ระดับวงโคจรที่เหมาะสมสำหรับปฏิบัติการในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
เป็นเวลากว่า 10 เดือนนับแต่ยานมาเวนถูกส่งขึ้นไปจากพื้นโลกเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่ผ่านมา จากยานอวกาศที่มุ่งหน้าสู่ดาวอังคารด้วยความเร็วสูง ตอนนี้มาเวนได้ลดระดับความเร็วลงหลังเข้าใกล้เป้าหมาย โดยเมื่อผ่านขั้วเหนือของดาวอังคารเครื่องยนต์ได้ติดเครื่องนาน 33 นาทีเพื่อให้อยู่ในแรงโน้มถ่วงของดาวอังคาร และปรับวงโคจรที่ระดับความสูงเหนือพื้นผิวดาวอังคารในระยะ 380-44,600 กิโลเมตร เพื่อเข้าสู่วงโคจรในระยะ 150-6,200 กิโลเมตร
“ฉันไม่ต้องลุ้นตัวโก่งอีกต่อไป แต่พวกเราก็ทำสำเร็จ” คอลลีน ฮาร์ทแมน (Colleen Hartman ) รองผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ แห่งศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ดของนาซา ในกรีนเบลต์ แมรีแลนด์ สหรัฐฯ กล่าว ระหว่างการถ่ายออกอากาศทางช่องทีวีนาซาระหว่างที่ยานไปถึงเป้าหมาย
ขณะเดียวกันทีมปฏิบัติการยานอวกาศมาเวนที่ศูนย์ควบคุมการบิน ก็แสดงความดีใจหลังจากได้ยินสัญญาณวิทยุที่ยืนยันว่า ยานมาเวนอยู่ในวงโคจรของดาวอังคารเมื่อเวลา 09.25 น.วันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมาตามเวลาประเทศไทย
ส่วนเอพีได้รายงานเพิ่มเติมว่า ทีมควบคุมจะใช้เวลาอีก 6 สัปดาห์หลังจากนี้เพื่อปรับระดับความสูงของยานมาเวนเหนือดาวอังคาร และตรวจสอบการทำงานของอุปกร์ณทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ แล้วสังเกตดาวหางที่เฉียดมาใกล้ จากนั้นในช่วงต้นเดือน พ.ย. ยานมาเวนก็จะเริ่มปฏิบัติการตรวจวัดบรรยากาศชั้นบนของดาวอังคาร โดยยานจะทำการสำรวจดาวอังคารจากวงโคจรโดยไม่ได้ลงจอดที่พื้นผิว
ฮาร์ทแมนเผยว่าภารกิจต่อไปของยานมาเวนคือศึกษาว่าลมสุริยะเปลือยอะตอมและโมเลกุลของบรรยากาศชั้นบนของดาวอังคารออกไปได้อย่างไร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน
ด้าน จอห์น คลาร์ก (John Clarke) นักวิทยาศาสตร์ในโครงการมาเวนจากมหาวิทยาลัยบอสตันให้สัมภาษณ์ผ่านทีวีนาซาว่า การศึกษากระบวนการดังกล่าวที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้น่าจะช่วยให้พวกเขานำไปอ้างอิงเพื่อย้อนอดีตและศึกษาเรื่องราวก่อนหน้าของดาวอังคารได้
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ค่อนข้างเชื่อว่าดาวอังคารไม่ได้หนาวเย็นและแห้งแล้งอย่างทุกวันนี้มาตั้งแต่ต้น พื้นผิวของดาวอังคารได้ทิ้งปริศนาไว้ด้วยร่องรอยของก้นทะเลสาบที่แห้งขอดและแร่ธาตุที่มีอยู่ในน้ำ แต่หากจะให้มีแหล่งน้ำบนพื้นผิวดาวอังคารได้นั้นชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้ต้องหนาแน่นและหนามากกว่าที่เป็นอยุ่ในทุกวันนี้ ปัจจุบันชั้นบรรยากาศของดาวอังคารบางเบากว่าชั้นบรรยากาศโลกประมาณ 100 เท่า
ตามรายงานของรอยเตอร์ยังระบุอีกว่า นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าดาวอังคารนั้นสูญเสียชั้นบรรยากาศของตัวเองไปเมื่อหลายล้านปีก่อน ขณะที่ดาวเคราะห์เย็นตัวลงและสนามแม่เหล็กก็เริ่มจางลงด้วย ทำให้อนุภาคมีประจุจากลมสุริยะพัดเอาน้ำและก๊าซในบรรยากาศอื่นๆ ออกไป การศึกษาว่าดาวอังคารสูญเสียน้ำไปได้อย่างนั้นเป็นกุญแจหลักที่จะไขความเข้าใจว่า ดาวเคราะห์ที่คล้ายโลกมากที่สุดในระบบสุริยะดวงนี้ อาจเคยมีสภาพปัจจัยเอื้อต่อสิ่งมีชีวิตหรือไม่
การส่งยานมาเวนเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารครั้งนี้มีระยะเวลาปฏิบัติภารกิจนาน 1 ปี และการทำงานของยานลำนี้จะเข้าไปเสริมทัพยานสำรวจดาวอังคารอื่นๆ ที่ถูกส่งไปก่อนนี้ ซึ่งมียานโคจรสำรวจของนาซา 2 ลำ และยานโรเวอร์สำรวจพื้นผิวของนาซาอีก 2 ลำ ร่วมกับยานโคจรสำรวจของยุโรปอีก 1 ลำ