xs
xsm
sm
md
lg

ดาวอังคารเพิ่งถูกดาวหางเท่าภูเขาย่อมๆ เฉียดไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพวาดจากนาซาจำลองเหตุการณ์ระหว่างดาวหางเฉียดใกล้ดาวอังคาร และยานโคจรหลบอยู่อีกฝั่งที่ปลอดภัย ส่วนภาพหรือข้อมูลของดาวหางคาดว่าจะถูกเผยออกมาหลังจากนี้ (นาซา/เอเอฟพี)
ดาวหางเท่าภูเขาเล็กๆ ดวงหนึ่งเพิ่งเฉียดดาวอังคารไปเมื่อตี 1 กว่าๆ ของวันจันทร์ที่ 20 ต.ค.นี้ นับเป็นปรากฏการณ์หายากที่ล้านปีจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง แต่คนบนโลกไม่อาจสังเกตเห็นเหตุการณ์นี้ได้ ขณะที่ยานอวกาศและหุ่นยนต์ที่ส่งไปสำรวจดาวแดงต่างจับตาปรากฏการณ์สำคัญนี้ และไม่ได้รับอันตรายจากการถูกเฉียดใกล้

ตามรายงานของเอเอฟพีระบุว่า ดาวหางไซดิงสปริง (Siding Spring) หรือ ซี/2013 เอ1 (C/2013 A1) เพิ่งเฉียดใกล้ดาวอังคารเพื่อนบ้านของโลกเมื่อเวลา 01.27 น.ของวันที่ 20 ต.ค.2014 ตามเวลาประเทศไทย ด้วยความเร็ว 203,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง   

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สามารถมองเห็นได้ในอวกาศขณะดาวหางพุ่งเข้าหาดาวเคราะห์แดงที่สว่างสดใสและเห็นเมฆฝุ่นเป็นทางยาว โดยขณะที่ดาวหางเฉียดใกล้ดาวอังคารนั้นอยู่ในระยะห่างเพียง 139,500 กิโลเมตร หรือประมาณ 1 ใน 3 ของระยะห่างระหว่างโลกและดวงจันทร์ แต่ปรากฏการณ์นี้ไม่สามารถมองเห็นได้จากบนโลก

ขณะที่ยานสำรวจและหุ่นยนต์บนดาวอังคารต่างถูกโปรแกรมให้จดจ้องปรากฏการณ์นี้ ซึ่งองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) คาดหวังว่ายานอวกาศของสหรัฐฯ จะบันทึกภาพเหตุการณ์ที่ในรอบล้านปีจะเกิดขึ้นสักครั้ง และเว็บไซต์ของนาซายังระบุด้วยว่า ยานโคจรทั้ง 3 ลำของนาซาที่วนรอบดาวอังคารคือ มาร์สโอดิสซีย์ (Mars Odyssey) มาร์สรีคองเนสซองส์ออร์บิเตอร์ (Mars Reconnaissance Orbiter) และยานมาเวน (MAVEN) ไม่ได้รับอันตรายจากการเฉียดใกล้ครั้งนี้

ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์ไม่คาดว่าดาวหางจะพุ่งชนดาวอังคาร แต่ก็หวังว่าดาวหางจะเฉียดใกล้พอที่จะเผยร่องรอยของกำเนินดระบบสุริยะ เนื่องจากเชื่อว่าดาวหางมีกำเนิดเมื่อหลายพันล้านปีก่อนในเมฆออร์ต (Oort Cloud) ที่อยู่ไกลออกไปบริเวณชายขอบระบบสุริยะ และนักวิทยาศาสตร์ยังระบุด้วยว่า ปรากฏการณ์นี้ยังให้โอกาสที่หาได้ยากในการศึกษาผลกระทบของดาวหางต่อชั้นบรรยากาศดาวอังคาร  

นิค ชไนเดอร์ (Nick Schneider) หัวหน้าทีมควบคุมทางไกลในปฏิบัติการยานมาเวนของนาซาให้ความเห็นว่า มากกว่าแค่อิทธิพลภายนอกจากดาวหางขนาดใหญ่ นักวิทยาศาสตร์ยังมีโอกาสได้เห็นว่าชั้นบรรยากาศของดาวอังคารนั้นตอบสนองต่อดาวหางอย่างไร  

“มันเป็นโอกาสในการเรียนรู้ที่สุดยอด” ชไนเดอร์กล่าว

ฝูงยานโคจรรอบดาวอังคารและหุ่นยนต์บนพื้นผิวดาวอังคารของนาซาถูกจัดวางให้เตรียมพร้อมสำหรับการเฉียดใกล้ของดาวหาง โดยหลบเลี่ยงโอกาสที่จะถูกชนจากดาวหางที่พุ่งมาด้วยความเร็วสูงอยู่นาน 3 ชั่วโมง พร้อมทั้งบันทึกภาพเหตุการณ์หายากและข้อมูลล้ำค่า แล้วส่งกลับมายังโลกเพื่อการศึกษาต่อไป และยานทั้งหมดก็รายงานกลับมาว่าอยู่ในสภาพปลอดภัย

บรูซ แจโกสกี (Bruce Jakosky) ผู้ตรวจการณ์หลักประจำยานมาเวนเผยว่า ดีใจที่ยานประคองตัวไว้ได้ และตื่นเต้นที่จะทำการศึกษาให้ลุล่วงว่าดาวหางส่งผลกระทบต่อดาวอังคารอย่างไร และกระหายที่จะเข้าสู่ปฏิบัติการหลักทางด้านวิทยาศาสตร์ตามภารกิจของยานที่ถูกส่งขึ้นไปศึกษาบรรยากาศและวิวัฒนาการของดาวอังคารโดยเฉพาะ

ทางด้านนาซายังเผยผ่านทวิตเตอร์ว่า ยานมาร์สโอดิสซีย์ก็ทำงานหนักในการบันทึกภาพดาวหางไซดิงสปริง ทั้งช่วงหลังดาวหางเข้าใกล้และก่อนที่จะถูกหางของดาวหางปะทะ

ทั้งนี้ ดาวหางดังกล่าวมีความกว้างประมาณ 1 ไมล์ และมีความแข็งในระดับกองแป้งฝุ่นทับถมกันเท่านั้น และเมื่อดาวหางพุ่งผ่านในอวกาศก็จะทำให้เกิดฝนดาวตกและเศษซากเป็น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝุ่นและก้อนกรวด ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์เป็นกังวลว่า อาจทำลายยานอวกาศราคาแพงที่วนอยู่รอบดาวอังคารได้

ชไนเดอร์อธิบายว่าเศษฝุ่นเท่าเม็ดทรายแต่พุ่งด้วยความเร็วขนาดนั้น สามารถทำอันตรายต่อแผงเซลล์แสงอาทิตย์ หรืออุปกรณ์ขับเคลื่อนหรือสายไฟเส้นสำคัญได้ และก่อนที่ดาวหางจะเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคาร นาซาก็ได้ปรับตำแหน่งของยานอวกาศทั้ง 3 ลำที่ระบุไปข้างต้น เพื่อเลี่ยงการปะทะกับฝุ่นดาวหางที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง

นาซายังทวีตระบุอีกว่า ปรากฏการณ์ดาวหางเฉียดดาวอังคารยังไม่สิ้นสุด เพราะดาวอังคารยังผ่านเข้าไปยังหางฝุ่น โดยที่ยานโคจรทั้งหมดของนาซาถูกจัดวางให้หลบอยู่อีกฝั่งที่ปลอดภัยจากดาวหาง  

ดาวหางไซดิงสปริงใช้เวลานานกว่า 1 ล้านปีเพื่อเฉียดใกล้ดาวอังคารในครั้งนี้ และจะไม่หวนกลับมาจนกว่าจะวนรอบดวงอาทิตย์ครบรอบในอีกล้านปีข้างหน้า ซึ่งผู้ค้นพบดาวหางดวงนี้คือ โรเบิร์ต แมคนอต (Robert McNaught) จากหอดูดาวไซดิงสปริง (Siding Spring Observatory) ในออสเตรเลียเมื่อเดือน ม.ค.2013 ที่ผ่านมา
ภาพจำลองจากนาซา เผยมุมมองขณะดาวหางไซดิงสปริงกำลังพุ่งเข้าใกล้ดาวอังคาร (นาซา/เอเอฟพี)






*******************************

กำลังโหลดความคิดเห็น