หลังประสบความสำเร็จในการส่งยานโคจรไปวนรอบดาวอังคารในเวลาไล่เลี่ยกัน สหรัฐฯ และ อินเดียตกลงทำความร่วมมือในการทำการสำรวจดาวอังคารในอนาคต
ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการประชุมที่จัดขึ้นในเมืองโตรอนโต แคนาดา โดย ชาร์ลส โบลเดน (Charles Bolden) ผู้อำนวยการองค์การบริการบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ได้ลงนามความร่วมมือครั้งนี้กับ เค. ราธากฤษนัน (K. Radhakrishnan) ประธานองค์การวิจัยอวกาสอินเดีย (Indian Space Research Organization: ISRO)
หนึ่งในข้อตกลงดังกล่าวตามรายงานของเอเอฟพีระบุว่า ตัวแทนจากองค์การอวกาศของทั้งสองประเทศจะร่วมกันปูทางสู่ปฏิบัติการร่วมในการสำรวจดาวอังคารในอนาคต ส่วนอีกข้อตกลงอีกฉบับยังระบุถึงการอนุญาตเข้าถึงการใช้งานดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลกด้วย
“การลงนามทั้งสองฉบับนี้สะท้อนถึงข้อผูกมัดอันเหนี่ยวแน่นระหว่างนาซาและอิสโร ที่จะสร้างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และยกระดับคุรภาพชีวิตบนโลก ความร่วมมือนี้จะสร้างผลประโยชน์ที่ชัดเจนระหว่างสองประเทศและทั้งโลก” โบลเดนแถลง
ทางด้านนาซายังระบุอีกว่า ความร่วมมือครั้งนี้ปูทางสู่การสร้างกลุ่มทำงานที่มุ่งเป้าเฉพาะเรื่องดาวอังคาร โดยค้นหาโครงการ เทคโนโลยีและองค์ความรู้วิทยาศาสตร์เพื่อการสำรวจดาวอังคารที่นาซาและอิสโรมีเหมือนกัน โดยกลุ่มดังกล่าวจะประชุมการทำงานปีละครั้งเพื่อวางแผนทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงปฏิบัติการไปเยือนดาวอังคารในอนาคต ร่วมถึงวางแผนการร่วมสำรวจระหว่างยานมาเวน (MAVEN) ของนาซา และยานมอม (Mars Orbiter Mission: MOM) หรือมงคลยาน (Mangalyaan) ของอิสโร
สำหรับมงคลยานเป็นยานโคจรลำแรกของอินเดียที่ไปถึงดาวอังคารตั้งแต่การส่งเพียงครั้งเดียว โดยไปถึงเป้าหมายเมื่อ 24 ก.ย.หลังยานมาเวนของนาซาเพียง 2 วัน และมีเป้าหมายในการสำรวจพื้นผิวและชั้นบรรยากาศดาวอังคาร ขณะที่ความร่วมมือในการเข้าถึงดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลกนั้น นาซาและอิสโรมีความร่วมมือในการพัฒนาดาวเทียมนิซาร์ (NASA-ISRO Synthetic Aperture Radar: NISAR) ซึ่งมีกำหนดปล่อยในปี 2020
*******************************