xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นยานโลว์คอสต์ของอินเดียเข้าสู่วงโคจรดาวอังคาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้มขณะนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรของอินเดียทำงานในห้องควบคุมมงคลยานด้วยระบบทางไกล ซึ่งตั้งอยู่ในบังกาลอร์ (รอยเตอร์)
ขณะที่นาซาเพิ่งประกาศความสำเร็จของยานอวกาศสหรัฐที่เข้าสู่วงโคจรดาวอังคารได้ตามเป้าหมาย ทางอินเดียก็มีข่าวดีไล่ตามมาติดๆ เมื่อยานอวกาศของแดนภารตะพร้อมจะเข้าสู่วงโคจรของดาวแดงเช่นกัน หากทำสำเร็จอินเดียจะเป็นมหาอำนาจทางด้านอวกาศเป็นอันดับ 4 ของโลก

ตามรายงานของรอยเตอร์ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์อินเดียประสบความสำเร็จในการทดสอบเครื่องหลักของมงคลยาน (Mangalyaan) ที่จะส่งยานลำนี้เข้าสู่วงโคจรดาวอังคารในวันพุธที่ 24 ก.ย.นี้ ซึ่งหากเป็นไปตามเป้าจะเป็นภารกิจแรกของอินเดียที่เข้าสู่วงโคจรดาวอังคารได้สำเร็จตั้งแต่ความพยายามในครั้งแรกนี้ และเป็นการยกระดับอินเดียในการแข่งขันทางด้านอวกาศ

ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นจะทำให้อินเดียขยับสู่มหาอำนาจด้านอวกาศเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจาก สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและรัสเซีย ทั้งนี้ โครงการส่งมงคลยานได้รับการสานต่อโดย นเรนทรา โมที (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอินเดีย ที่ตั้งเป้าให้อินเดียเป็นผู้เล่นรายสำคัญในตลาดเทคโนโลยีอวกาศที่มีมูลค่ากว่า 90 ล้านล้านบาท ซึ่งแม้แต่จีนก็เข้าร่วมในการแข่งขันนี้ด้วยการสร้างจรวดนำส่งที่ใหญ่ขึ้น

มงคลยานนั้นถูกส่งขึ้นไปเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่ผ่านมาด้วยมูลค่าโครงการกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่ถูกกว่ายานมาเวน (MAVEN) ของนาซาที่มีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท และเพิ่งเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารไปก่อนหน้าไม่กี่วัน

ในช่วงโค้งสุดท้ายของปฏิบัติการส่งมงคลยานเข้าสู่วงโคจรดาวอังคาร โมทีจะเข้านั่งร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organisation: ISRO) ภายในศูนย์ควบคุมที่เมืองบังกาลอร์ด้วย  ทาง วี โกทีสวาระ ราโอ (V. Koteswara Rao) เลขาธิการขององค์การอวกาศอินเดียเผยแก่ทางรอยเตอร์

ทั้งนี้ องค์การอวกาศอินเดียประสบความสำเร็จในการทดสอบการเผาไหม้ของเครื่องยนต์หลักเป็นเวลา 4 วินาทีตามที่วางโปรแกรมไว้ หลังจากที่เครื่องยนต์ถูกปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ เป็นเวลากว่า 300 วันระหว่างการท่องอวกาศ และจากนี้เครื่องยนต์ดังกล่าวจะถูกใช้งานร่วมกับจรวดขับดันอีก 8 เครื่องเพื่อผลักยานเข้าสู่วงโคจร โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ขั้นตอนในการลดความเร็วของยานจากความเร็วปัจจุบันที่อัตรา 22 กิโลเมตรต่อวินาทีนั้นเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

ด้านราโอบอกอีกว่า หลังจากประสบความสำเร็จในการทดสอบเครื่องยนต์หลัก มีนักวิทยาศาสตร์ประมาณ 100 ชีวิตที่ร่วมยินดี หลังได้รับสัญญาณจากมงคลยานที่บ่งบอกว่าการทดสอบเครื่องยนต์ประสบความสำเร็จ โดยสัญญาณต้องใช้เวลาเดินทางมาถึงโลกนาน 12 นาที ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาแห่งความรื่นรมย์

“นี่เป็นการทดสอบครั้งสำคัญที่เราต้องผ่านไปให้ได้ ปฏิบัติการนี้เผยให้เห็นว่ากำลังเข้าใกล้ความสำเร็จแล้ว” ราเชสวารี พิลลัย ราชาโกพลัน (Rajeswari Pillai Rajagopalan) ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางอวกาศจากมูลนิธิการวิจัยสังเกตการณ์ (Observer Research Foundation) ในนิวเดลีให้ความเห็น

มงคลยานคือชื่ออย่างไม่เป็นทางการของ ยานอวกาศมาร์ออร์บิเตอร์มิชชัน (Mars Orbiter Mission: MOM) ซึ่งมีเป้าหมายในการศึกษาพื้นผิวดาวอังคารและองค์ประกอบแร่ธาตุต่างๆ ของดาวอังคาร รวมถึงกราดดูชั้นบรรยากาศดาวอังคารเพื่อค้นหามีเทน ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีความเกี่ยวพันกับสิ่งมีชีวิตบนโลก

นอกจากนี้รอยเตอร์ยังรายงานอีกว่าชาวอินเดียได้เริ่มสวดมนต์เพื่อให้ปฏิบัติการลุล่วงมาตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยทางกลุ่มสนับสนุนทางการเมืองของโมทียังได้เปิดพื้นที่ในนิวเดลีให้ผู้ร่วมสวดมนต์เข้าไปใช้
นักวิทยาศาสตร์เฝ้าดูมงคลยานผ่านระบบควบคุมทางไกลในศูนย์ควบคุมขององค์การอวกาศอินเดียที่บังกาลอร์ (รอยเตอร์)
แบบจำลองมงคลยานตามสัดส่วนจริงในห้องจัดแสดงที่ศูนย์ควบคุมทางไกลขององค์การอวกาศอินเดีย (รอยเตอร์)
ภาพร่างจำลองปฏิบัติการมงคลยานของอินเดีย (ISRO)






*******************************

กำลังโหลดความคิดเห็น