xs
xsm
sm
md
lg

สดร.เผยภาพดาวหางเฉียดดาวอังคารจากกล้องไทยในชิลี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดาวหางไซดิงสปริง (C/2013 A1) ขณะที่ผ่านเนบิวลามืด LDN74 ณ วันที่ 19 ต.ค.57 เวลา 00:40 UTC ก่อนเฉียดใกล้ดาวอังคาร ในภาพดาวอังคารอยู่ทางด้านล่างซ้าย ภาพถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติซีกฟ้าใต้ ดำเนินการโดย สดร.
สดร.เผยภาพ “ไซดิงสปริง” ดาวหางเฉียดดาวอังคารจากกล้องไทยในชิลี ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ พร้อมลระบุ นักดาราศาสตร์ต่างจับตาดาวหางดวงนี้ ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ปลายระบบสุริยะเมื่อหลายพันปีก่อน และมีองค์ประกอบเสมือน “แคปซูลกาลเวลา” ให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษากำเนิดระบบสุริยะ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผยภาพดาวหาง “ไซดิงสปริง” (Siding Spring) ดาวหางที่เพิ่งเฉียดดาวอังคารไปเมื่อเวลา 01.27 น. เมื่อวันที่ 20 ต.ค.57 ตามเวลาประเทศไทย ผ่านทางเว็บไซต์ของสถาบัน (www.narit.or.th) โดยเป็นภาพที่บันทึกได้ทั้งก่อนและหลังการเฉียดใกล้ดาวอังคารด้วยกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติซีกฟ้าใต้ของไทยซึ่งตั้งอยู่ในประเทศชิลี

ข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ สดร.ยังระบุด้วยว่า ดาวหางไซดิงสปริงมีกำเนิดเมื่อ 4 พันล้านปีก่อนในบริเวณเมฆออร์ต (Oort Cloud) ที่อยู่ปลายระบบสุริยะ และใช้เวลาเป็นล้านปีเดินทางเข้าสู่ระบบสุริยะชั้นในเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการเฉียดใกล้ดาวอังคารนี้เป็นครั้งแรก และองค์ประกอบของดาวหางยังเปรียบเสมือน ไคปซูลกาลเวลา” ที่บันทึกองค์ประกอบดั้งเดิมของระบบสุริยะในอดีตเอาไว้ การศึกษาองค์ประกอบของดาวหางจะช่วยให้เราศึกษาต้นกำเนิดระบบสุริยะได้

“นอกไปจากนี้ การที่ดาวหางเฉียดผ่านดาวอังคารอาจจะทำให้ฝุ่นละอองที่ประกอบเป็นหางของดาว หางบางส่วนตกลงบนพื้นผิวของดาวอังคาร ซึ่งอาจจะสามารถสังเกตเห็นได้เป็นฝนดาวตกโดยหุ่นยนต์สำรวจอวกาศออพพอร์จูนิตี (Opportunity) และ คิวริออซิตี (Curiosity) และนักดาราศาสตร์ทั่วทุกมุมโลกก็กำลังจับตาดูเพื่อศึกษาดาวหางดวงนี้ โดยคาดว่าจะมีการรายงานการค้นพบเบื้องต้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า” เว็บไซต์ สดร.ระบุ

ทั้งนี้ ไซดิงสปริงเป็นดาสวหางที่มีความกว้างประมาณ 1 ไมล์ ถูกค้นพบโดย โรเบิร์ต แมคนอต (Robert McNaught) จากหอดูดาวไซดิงสปริง (Siding Spring Observatory) ในออสเตรเลียเมื่อเดือน ม.ค.2013 ที่ผ่านมา ซึ่งองคืประกอบที่เป็นเศษฝุ่นและก้อนกรวดทำให้องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ต้องโปรแกรมให้ยานโคจรสำรวจดาวอังคารทั้งหมดหลบอยู่ในด้านที่ปลอดภัยจากเศษฝุ่นเหล่านั้น แต่ก็อยู่ในตำแหน่งที่เตรียมพร้อมสำหรับบันทึกภาพและเก็บข้อมูลของดาวหางด้วย
ดาวหางไซดิงสปริง (C/2013 A1) ณ วันที่ 20 ต.ค.57 เวลา 00:40 UTC หรือ 6 ชั่วโมงหลังดาวหางได้ผ่านเข้าใกล้ดาวอังคารมาประมาณหกชั่วโมง ในภาพแสงทางด้านบนขวา เป็นแสงจากดาวอังคาร สาเหตุที่จำเป็นต้องวางดาวเอาไว้นอกกรอบภาพเพื่อป้องกันความเสียหายต่อกล้องโทรทรรศน์ ภาพถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติซีกฟ้าใต้ ดำเนินการโดย สดร.
ภาพวาดจากนาซาจำลองเหตุการณ์ระหว่างดาวหางเฉียดใกล้ดาวอังคาร และยานโคจรหลบอยู่อีกฝั่งที่ปลอดภัย ส่วนภาพหรือข้อมูลของดาวหางคาดว่าจะถูกเผยออกมาหลังจากนี้ (นาซา/เอเอฟพี)






*******************************

กำลังโหลดความคิดเห็น