xs
xsm
sm
md
lg

นาซาเผยดาวหางเฉียดดาวอังคารเปลี่ยนเคมีในชั้นบรรยากาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากนาซาเผยให้เห็นดาวหางไซดิงสปริง ซี/2013 เอ1 (C/2013 A1 Siding Spring) ผ่านดาวอังคารไปเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2014 ใช้ระยะเวลา 35 นาที ซึ่งภาพดังกล่าวบันทึกด้วยกล้องบันทึกภาพวิทยาศาสตร์ความละเอียดสูงไฮไรส (High Resolution Imaging Science Experiment: HiRISE) บนยานมาร์สรีคองเนซองส์ออร์บิเตอร์ (Mars Reconnaissance Orbiter) ของนาซา และให้ข้อมูลเกี่ยวกับนิวเคลียสของดาวหางมีขนาดเล็กกว่า 2 กิโลเมตร  (AFP PHOTO HANDOUT-NASA)
นาซาเผยดาวหางเฉียดดาวอังคารทำเคมีในชั้นบรรยากาศชั้นบนของดาวเคราะห์แดงเปลี่ยนในช่วงสั้นๆ โดยก่อให้เกิดชั้นประจุไฟฟ้าชั่วคราว และยังทำให้เกิดฝนดาวตกบนดาวเคราะห์เพื่อนบ้าน  

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) เผยว่า ดาวหางไซดิงสปริง (Siding Spring) ที่มาจากเมฆออร์ต (Oort Cloud) บริเวณปลายระบบสุริยะ และเฉียดดาวอังคารไปเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2014 ที่ผ่านมาด้วยความเร็ว 56 กิโลเมตรต่อวินาที ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชั้นบรรยากาศด้านบนของดาวเคราะห์พื้นบ้านเป็นช่วงเวลาสั้นๆ

ทั้งนี้ นาซาได้ใช้คำสั่งให้ยานอวกาศที่อยู่ในวงโคจรของดาวอังคารจับตาปรากฏการณ์ดังกล่าว ซึ่ง จิม กรีน (Jim Gree) ผู้อำนวยการแผนกวิทยาการดาวเคราะห์ของนาซาระบุว่า เป็นปรากฏการณ์ประเภทที่ 8 ล้านปีจะเกิดขึ้นสักครั้ง อ้างตามรายงานของเอเอฟพี

ดาวหางดังกล่าวได้ปล่อยฝุ่นออกมามากกว่าที่นาซาคาดไว้ ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าเมื่อดาวหางเฉียดดาวอังคารที่ระยะ 140,000 กิโลเมตร จะปล่อยฝุ่นออกมาหลายพันกิโลกรัม แต่กรีนเผยแก่สื่อมวลชนว่า ฝุ่นดาวหางได้กระแทกใส่บรรยากาศชั้นบนของดาวอังคาร และทำให้เกิดชั้นไอโอโนสเฟียร์ที่มหึมาและหนาแน่น และยังเปลี่ยนแปลงเคมีของบรรยากาศชั้นบนของดาวอังคารด้วย ซึ่งชั้นไอออนที่เกิดขึ้นนี้เป็นชั้นที่มีประจุไฟฟ้าอยู่เหนือดาวเคราะห์ และอยู่เพียงชั่วคราว  
 
นาซายังเผยอีกว่าเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเศษซากจากฝนดาวตกกับการเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญในชั้นบรรยากาศดาวอังคาร และองค์การอวกาศสหรัฐยังหวังด้วยว่า การศึกษาเพิ่มเติมจะเผยให้เห็นว่ามีการส่งผลกระทบในระยะยาวด้วยหรือไม่
 
ฝนดาวตกจากการเฉียดของดาวหางเกิดขึ้นประมาณชั่วโมงหรือนานกว่านาน อ้างตามข้อมูลจาก “มาเวน” (MAVEN) ยานโคจรของนาซา ที่มีภารกิจในการศึกษาบรรยากาศและประวัติการระเหยของน้ำบนดาวอังคาร และเครื่องมือวิทยาศาสตร์บนยานยังตรวจพบไอออนโลหะที่ต่างกันถึง8 ชนิด ซึ่งรวมถึงโซเดียม แมกนีเซียม และเหล็ก ซึ่งนับเป็นการวัดองค์ประกอบดังกล่าวจากดาวหางในเมฆออร์ตได้เป็นครั้งแรก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเชื่อว่าเมฆดังกล่าวเป็นเป็นเหมือนก้อนหิมะในอวกาศ  
 
“มาเวนตรวจพบการปลดปล่อยรังสีอัลไวโอเลตอย่างเข้มข้นสูงจากไอออนแมกนีเซียมและไอออนเหล็กในบรรยากาศของดาวอังคาร หลังการเกิดฝนดาวตก ซึ่งไม่ใช่แคต่พายุฝนดาวตกบนโลกที่ทำให้เกิดการตอบสนองที่ชัดเจนเช่นนี้” องค์การอวกาศสหรัฐระบุ   
 
ด้าน นิค ชไนเดอร์ (Nick Schneider) หัวหน้าทีมคุมอุปกรณ์บันทึกสเปกตรัมอัลตราไวโอเลตของยานมาเวน จากมหาวิทยาลัยโคโลราโดในโบลเดอร์ สหรัฐฯ เผยว่า หากมีมนุษย์อยู่บนดาวอังคาร พวกเขาอาจจะได้เห็นแสงสีเหลืองเรืองบนท้องฟ้า ซึ่งน่าจะเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับสายตามนุษย์ และอาจจะมีฝนดาวตกหลายพันดวงต่อชั่วโมง ซึ่งชั้นของโซเดียมน่าจะหลงเหลืออยู่ในบรรยากาศชั้นบนของดาวอังคาร และทำให้เกิดการเรืองแสงสีเหลืองตามมา
 
ระหว่างเกิดเหตุการณ์ดาวหางเฉียดใกล้นั้นยานมาเวน ยานมาร์สรีคองเนซองส์ (Mars Reconnaissance Orbiter : MRO) ของนาซา และยานมาร์สเอกซ์เพรสของยุโรปได้ถูกโปรแกรมให้หลบอยู่อีกด้านของดาวอังคาร เพื่อเลี่ยงเศษซากฝุ่นจากดาวหาง หากไม่เช่นนั้นก็อาจก่อให้เกิดการเสียหายอย่างใหญ่หลวง    

“ผมคิดว่ายานเหล่านั้นคงไม่รอด เมื่อดูจากการตอบสนองอย่างรุนแรงของชั้นบรรยากาศดาวอังคารต่อหางของดาวหาง” กรีนกล่าว

นอกจากนี้เครื่องมือที่ติดตั้งอยู่บนยานมาร์สเอกซ์เพรสยังสังเกตพบการกระโดด ของสัญญาณความหนาแน่นของอิเล้กตรอนในช่วงไม่กี่ชั่วโมง หลังจากที่ดาวหางผ่านไปแล้ว ส่วนยานออพพอร์จูนิตี (Opportunity ) ยานโรเวอร์ของนาซา ซึ่งขับเคลื่อนไปบนพื้นผิวดาวอังคารด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ยังจับภาพหยาบๆ ขณะที่ดาวหางผ่านไปได้ และนักวิทยาศาสตร์กำลังวิเคราะห์ข้อมูลจากยานคิวริออซิตี (Curiosity) ยานโรเวอร์อีกลำของนาซาที่ลงจอดบนดาวอังคารเมื่อปี 2012 ที่ผ่านมา







*******************************

"ผมไม่ได้ถ่ายภาพดาราศาสตร์เพื่อล่ารางวัล แต่ผมถ่ายเพราะผมมีความสุข" คำพูดจาก สิทธิ์ สิตไทย อาจารย์มหาวิทยาลัยที่อุทิศเวลาว่างให้การถ่ายภาพดาราศาสตร์ จนคว้า 3 รางวัลจากการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2557 ไปครอง อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #managersci #sciencenews #astronomy #astrography #astvscience

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on


กำลังโหลดความคิดเห็น