อีซายืนยัน "ฟิเล" ลงจอดดาวหางแล้ว ท่ามกลางความยินดีจากศูนย์ควบคุมในเยอรมนี ด้านนักวิทยาศาสตร์เชื่อพื้นผิวดาวหางมีความลับของกำเนิดระบบสุริยะเมื่อ 4.5 พันล้านปีก่อน
องค์การอวกาศยุโรป (อีซา) ยืนยันยานฟิเล (Philae) ซึ่งแยกตัวจากยานแม่โรเซตตา (Rosetta) เมื่อเวลาประมาณ 15.35 น. วันที่ 12 พ.ย.2014 ตามเวลาประเทศไทย ได้ลงจอดบนดาวหาง 67พี/ชูริมอฟ-เกราซิเมนโก (67P/Churyumov–Gerasimenko) หรือ 67 พี/ซี-จี แล้ว
ด้านบีบีซีนิวส์เผยว่า หลังจากได้รับสัญญาณยืนยันการลงจอดบนดาวหางที่ตำแหน่งอากิลเกีย (Agilkia) ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากดาวหางมาถึงโลก 28 นาที 20 วินาที เจ้าหน้าที่ในศุนย์ควบคุมในดาร์มสตัดท์ เยอรมนี ต่างกอดกันและโห่ร้องแสดงความยินดี
ปฏิบัติการโรเซตตาและยานลูกถูกส่งขึ้นไปตามดาวหางตั้งแต่ปี 2004 เป็นระยะทางกว่า 6.4 พันล้านกิโลเมตรเพื่อไขปริศนาการก่อกำเนิดระบบสุริยะเมื่อ 4.5 พันล้านปีก่อน หากทุกอย่างไปได้ดียานฟิเลจะบันทึกภาพภูมิทัศน์ของดาวหางและวิเคราะห์องค์ประกอบเคมีของดาวหาง
อย่างไรก็ดี บีบีซีนิวส์ระบุว่ามีความขัดข้องระหว่างลงจอดที่อุปกรณ์ยึดติดระหว่างยานฟิเลและดาวหางไม่ทำงาน ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์กำลังติดสินใจว่าจะจุดการทำงานของอุปกรณ์ยึดติดพื้นผิวดังกล่าวอีกหรือไม่ และก่อนหน้านี้ระบบในการผลักยานลงจอดสู่พื้นผิวดาวหางก็ไม่ทำงาน ซึ่งส่วนที่ยากที่สุดคือการลงจอดบนภูเขาน้ำแข็งกว้าง 4 กิโลเมตรที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำ ซึ่งยานต้องระมัดระวังไม่ให้เด้งกลับออกไปในอวกาศ
ดาวหาง 67พี/ซี-จี ถูกพบครั้งแรกเมื่อปี 1969 และถูกตั้งชื่อตามผู้ค้นพบคือ คลิม ชูริวมอฟ (Klim Churyumov) และชเวทลานา เกราซิเมนโต (Svetlana Gerasimenko)
*******************************