xs
xsm
sm
md
lg

In Pics & Clips : “เราอยู่บนดาวหางแล้ว!!!” เปิดภาพระทึก “ยานฟิเลของ ESA ยุโรป” ร่อนจอดบน “ดาวหาง 67 พี/ซี-จี “ ห่างโลก 510 ล้าน กม.สำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - ภาพถ่ายห่างจากพื้นผิว 3 กม.ของดาวหาง 67 พี/ชูริมอฟ-เกราซิเมนโก (67 P/Churyumov–Gerasimenko) หรือ 67 พี/ซี-จี พิสูจน์ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติที่ยานสำรวจอวกาศฟิเล (Philae) ขนาดเท่ากับตู้เย็นในบ้าน สามารถร่อนลงแตะพื้นผิวดาวหางที่อยู่ห่างจากโลกไปร่วม510 ล้านกม.ได้สำเร็จในวันพุธ (12) ในการภารกิจ 10 ปีขององค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ที่ได้ทุ่มเม็ดเงินมหาศาลถึง 1.75 พันล้านดอลลาร์ ใเพื่อค้นหาต้นกำเนิดระบบสุริยะอายุ 4.5 พันล้านปี รวมถึงโลกที่เราอาศัยอยู่ในทุกวันนี้ ที่แม้กระทั่งกูเกิลยังต้องร่วมฉลองความสำเร็จครั้งนี้จากรูปที่ปรากฏบนหน้าเสิร์ชเอนจิน

NBC News สื่อสหรัฐฯ และเดลิเมล สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้ (12) ว่า เสียงเฮดังลั่นภายในห้องควบคุมขององค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ที่ดาร์มสตัดท์ (Darmstadt) เยอรมนี ในเวลา 11.03 น.ตามเวลาฝั่งตะวันออกสหรัฐฯ หรือเวลาประมาณ 15.35 น. วันที่ 12 พฤศจิกายน ตามเวลาประเทศไทย เมื่อพบว่าสัญญาณวิทยุแผ่วเบาตอบรับส่งกลับมายังหอบังคับการจากยานสำรวจอวกาศฟิเล (Philae) ที่มีตัวยานขนาดเท่ากับตู้เย็น ได้ยืนยันให้บรรดาเจ้าหน้าที่หอควบคุมในเยอรมันทราบว่า “ฟิเลสามารถร่อนลงแตะพื้นผิวของดาวหาง 67 พี/ชูริมอฟ-เกราซิเมนโก (67 P/Churyumov–Gerasimenko) หรือ 67 พี/ซี-จี สำเร็จ” หลังจากที่เดินทางออกไปจากโลกพร้อมยานแม่โรเซตตา (Rosetta) ที่มีขนาดตัวยานเท่ากับรถยนต์ในปี 2004 ในโครงการมูลค่า 1.75 พันล้านดอลลาร์ของ ESA

สื่อสหรัฐฯรายงานเพิ่มเติมว่า สัญญาณวิทยุจากฟิเลเดินทางกลับโลกมาด้วยความเร็วแสงภายใน 28 นาที ระยะทาง 510 ล้าน กม. (317 ล้านไมล์) จากดาวหาง 67 พี/ซี-จี

“ฟิเลยังคงจอดบนพื้นผิวของ67 พี/ซี-จี!!” สเตฟาน อูลาแมค (Stefan Ulamec) ผู้จัดการลงจอดของฟิเลประจำศูนย์อวกาศเยอรมนี DLR กล่าวตะโกนด้วยความตื่นเต้น พร้อมเสริมว่า “ฟิเลกำลังพูดกับเรา...ในขณะนี้เราอยู่บนดาวหางเป้าหมายแล้ว”

นอกจากนี้ อูลาแมคให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความจริงแล้วฟิเลพยายามร่อนลงจอดครั้งแรก แต่ต้องกระเด้งกลับไปก่อนที่จะสามารถลงจอดได้สำเร็จในครั้งที่ 2 ซึ่งเขาได้เปิดแถลงข่าวความสำเร็จอย่างมีอารมณ์ขันว่า “ตัวยานฟิเลแตะพื้นผิวดาวหางได้สำเร็จ แต่ถูกทำให้กระเด้งออกไปก่อนที่จะสามารถกลับมาลงจอดได้อีกครั้ง ดังนั้นวันนี้อาจจะได้กล่าวได้ว่า เราไม่เพียงแค่ลงจอดเท่านั้น แต่เรายังทำสำเร็จที่สามารถแตะพื้นผิวดาวหางได้ถึง 2 ครั้งด้วยกัน”

ทั้งนี้ ฟิเลถูกปล่อยออกมาจากยานแม่โรเซตตา 7 ชม.ก่อนที่จะสามารถร่องลงแตะพื้นผิวดาวหาง ซึ่งโรเซตตาเพิ่งเริ่มตื่นกลับมาทำงานอีกครั้งในเดือนมกราคมต้นปีนี้ หลังจากการเดินทางที่ยาวนานตั้งแต่ออกเดินทางจากโลกในปี 2004 และได้ได้เข้าใกล้ดาวหางดวงนี้ในตำแหน่งที่กำหนดไว้ตั้งแต่สิงหาคมที่ผ่านมา โดยฟิเลเคลื่อนที่เข้าใกล้ดาวหาง 67 พี/ชูริมอฟ-เกราซิเมนโกในอัตราความเร็ว 1 ม./วินาที “แต่ทว่าในภารกิจนี้ที่นอกจากระบบผลักยานลงจอดไม่ทำงานแล้ว และอุปกรณ์ยึดติดระหว่างยานฟิเลและดาวหางยังไม่ทำงานอีกด้วย

อูลาแมคกล่าวยอมรับว่า ในการร่อนลงจอดของฟิเลนั้น ทางเจ้าหน้าที่ยังต้องตรวจสอบถึงปัญหาและรายละเอียดที่เกิดขึ้นเสียก่อน เพราะในขณะนี้ยังไม่มีใครเข้าใจอะไรทั้งนั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการร่อนลงจอดบนพื้นผิวดาวหาง 67 พี/ชูริมอฟ-เกราซิเมนโกได้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มียานจากโลกมนุษย์สามารถทำได้

“หลังจาก 10 ปี 5 เดือน และอีก 4 วันของการเดินทางจากโลก และต้องโคจรรอบดวงอาทิตย์ถึง 5 รอบ ในระยะการเดินทางทั้งหมดจากโลกร่วม 6.4 พันล้านกม. ทาง ESA ขอประกาศอย่างภาคภูมิว่า เราได้เดินทางมาถึงจุดหมายแล้ว!!!” ฌากส์ ดอร์แดง ผู้อำนวยการใหญ่ ESA ประกาศผ่านแถลงการณ์อย่างตื่นเต้น

NBC News รายงานเพิ่มเติมว่า โรเซตตาเดินทางมาถึงจุดเป้าหมายใกล้กับดาวหาง 67 พี/ชูริมอฟ-เกราซิเมนโกในเดือนสิงหาคม และหลังจากนั้นทางทีมเจ้าหน้าที่ ESA เริ่มทำแผนที่การเดินทางสำหรับยานสำรวจฟิเลเพื่อจะร่อนลงจอดบนพื้นผิวดาวหาง โดยยานฟิเลมีนำหนักราว 100 กก.

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ ESA ยังเผยต่อว่า วงโคจรของโรเซตตานั้นแปลกออกไปจากปกติ กล่าวคือ มีลักษณะเป็นวงโคจรรูปสามเหลี่ยม เพื่อให้สอดคล้องกับการเคลื่อนที่ของดาวหาง ซึ่งความสำเร็จนี้จะช่วยทำให้ ESA สามารถวิจัยหาวงโคจรที่แท้จริงของดาวหาง 67 พี/ชูริมอฟ-เกราซิเมนโก เพื่อที่จะสามารถทำการสำรวจดาวหางดวงนี้ได้อย่างใกล้ชิดต่อไปจนกระทั่งสิ้นปี 2015

แต่ในขณะนี้ยานแม่โรเซตตาอยู่ในวงโคจรที่มีระยะห่างจากดาวหาง 67 พี/ชูริมอฟ-เกราซิเมนโกไปราว 60 กม. แต่ในท้ายสุดทางนักวิทยาศาสตร์คาดว่าโรเซตตาจะสามารถเข้าใกล้ดาวหางดวงนี้ได้ในระยะอัลติจูด 20-30 กม.

และก่อนที่ฟิเลจะสามารถร่อนลงจอดบนดาวหางได้ เดลีเมล์รายงานว่า วิลเลียม ชาตเนอร์ (William Shatner)นักแสดงวัย 83 ปี จากสตาร์เทรคได้ส่งข้อความทางวิดีโอคลิปใจความว่า “ขอให้โชคดีโรเซตตา ยานฟิเลกำลังจะร่อนลงจอด”

นอกจากนี้ หนึ่งในเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อวกาศในดาร์มสตัดท์บรรยายถึงช่วงเวลา 7 ชม.ที่โหดร้ายซึ่งทางนักวิทยาศาตร์ประจำศูนย์ต้องหาทางทำให้ฟิเลที่ถูกปล่อยออกจากยานแม่สามารถร่อนลงบนดาวหาง 67 พี/ชูริมอฟ-เกราซิเมนโกได โดยฟิเลลอยอยูเหนือพื้นผิวไปราว 21.88 กม. โดยดอกเตอร์แมทธิว เกนจ์(Matthew Genge)จากวิทยาลัยอิมพิวเรียลคอลลเลจในกรุงลอนดอนให้สัมภาษณ์ในขณะรอคอยวินาทีสำคัญว่า “นี่ถือเป็นการร่อนลงจอดที่ยากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการสำรวจอวกาศ เหมือนเป็นความพยายามที่จะทำให้ลูกโป่งร่อนลงในจุดใจกลางเมืองในวันที่ลมแรงในขณะที่คนปล่อยกำลังยืนหลับตา”

ด้าน คลิม ชูริวมอฟ (Klim Churyumov) นักวิทยาศาสตร์ชาวยูเครน ที่ได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมค้นพบดาวหาง 67 พี/ชูริมอฟ-เกราซิเมนโกเมื่อ 45 ปีก่อนหน้านี้ได้ให้สัมภาษณ์จากห้องควบคุมปฏิบัติการในเยอรมนีว่า “เราค้นพบแสงแรกของดาวหางดวงนี้ในปี 1969 และในช่วงเวลาขณะนี้ เรากำลังร่อนลงจอดบนดาวดวงนี้ ช่างเป็นสิ่งที่น่าเหลือเชื่อ ถือเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ”

ทั้งนี้ สื่ออังกฤษรายงานเพิ่มเติมว่า ยานฟิเลนั้นติดกล้อง และอุปกรณ์ต่างๆอีก 10 ประเภท พร้อมกับอุปกรณ์ที่จะสามารถเก็บตัวอย่างที่อยู่ลึกลงไปจากพื้นผิวของดาวหางราว 9 นิ้ว และมี “ปโตเลมี” อุปกรณ์ขนาดเล็กเท่ากล่องรองเท้า ทำหน้าที่เป็นแล็บวิจัยที่สร้างโดยอังกฤษ จะถูกใช้เพื่อวิเคราะห์ตัวอย่างที่เก็บมาจากดาวหางดวงนี้ที่มีอายุร่วม 4.5 พันล้านปี ด้านศาสตราจารย์เอียน ไรท์ (Ian Wright) หนึ่งในทีมนักวิจัยสร้าง “ปโตเลมี” ได้ให้ความเห็นว่า เราต้องการศึกษาดาวหาง 67 พี/ชูริมอฟ-เกราซิเมนโกเพราะเชื่อว่าเราสามารถเรียนรู้ถึงการกำเนิดโลกใบนี้





ภาพถ่ายห่างจากพื้นผิว 3 กม.ของดาวหาง67พี/ชูริมอฟ-เกราซิเมนโก (67P/Churyumov–Gerasimenko) หรือ 67 พี/ซี-จี พิสูจน์ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติที่ยานสำรวจอวกาศฟิเล(Philae) ขนาดเท่ากับตู้เย็นในบ้าน สามารถร่อนลงแตะพื้นผิวดาวหางที่อยู่ห่างจากโลกไปร่วม510 ล้านกม.ได้สำเร็จในวันพุธ(12)

















“หลังจาก 10ปี 5 เดือน และอีก 4 วันของการเดินทางจากโลก และต้องโคจรรอบดวงอาทิตย์ถึง 5 รอบ ในระยะการเดินทางทั้งหมดจากโลกร่วม 6.4 พันล้านกม. ทาง ESAขอประกาศอย่างภาคภูมิว่า เราได้เดินทางมาถึงจุดหมายแล้ว!!!” ฌากส์ ดอร์แดง ผู้อำนวยการใหญ่ ESA ประกาศผ่านแถลงการณ์อย่างตื่นเต้น

วิลเลียม ชาตเนอร์ (William Shatner)นักแสดงวัย 83 ปี จากสตาร์เทรคได้ส่งข้อความทางวิดีโอคลิปใจความว่า “ ขอให้โชคดีโรเซตตา ยานฟิเลกำลังจะร่อนลงจอด”



ภาพอดีตนักวิทยาศาสตร์ที่เคยทำงานในโปรเจกต์โรเซตตาตัดเค็กแสดงความยินดีในยุคเริ่มต้นของโปรเจกต์









กำลังโหลดความคิดเห็น