xs
xsm
sm
md
lg

ยานอวกาศอินเดียหลุดวงโคจรโลก พร้อมมุ่งหน้าสู่ดาวอังคารแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มงคลยานเข้าสู่เส้นทางที่ไม่อาจหวนคืนสู่วงโคจรโลกแล้ว และเดินหน้าสู่ดาวอังคารในอีก 10 เดือน (ISRO)
ยานอวกาศอินเดียจุดระเบิดเครื่องยนต์หลักเพิ่มความเร็วหนีวงโคจรโลกสำเร็จ พร้อมเริ่มต้นการเดินทางยาว 300 วันมุ่งหน้าสู่ดาวอังคารแล้ว

หลังจากโคจรรอบโลกอยู่หลายสัปดาห์เพื่อให้ความเร็วมากพอที่จะหนีแรงดึงดูดโลก นับแต่ถูกส่งขึ้นไปเมื่อ 5 พ.ย.2013 ที่ผ่านมา ตอนนี้ยานสำรวจดาวอังคารมาร์ออร์บิเตอร์มิสชัน (Mars Orbiter Mission) หรือ มอม (MOM) ขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organisation: Isro) หรือ มงคลยาน (Mangalyaan) ที่คนอินเดียรู้จักได้จุดระเบิดเครื่องยนต์หลักจนหลุดจากวงโคจรโลกแล้ว และเดินทางไปไกลเลยระยะวงโคจรของดวงจันทร์ ซึ่งนับเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เดินไปไกลที่สุดของอินเดีย

ทางบีบีซีนิวส์รายงานว่า ตอนนี้ยานอวกาศของอินเดียได้พ้นจากวงโคจรโลก และเริ่มต้นการเดินทางนาน 300 วัน เป็นระยะทางไกล 680 ล้านกิโลเมตร* เพื่อไปให้ถึงวงโคจรของดาวอังคารในวันที่ 24 ก.ย.2014 โดยยานอวกาศกว่า 2,100 ล้านบาทลำนี้ได้แบกอุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์ไปยังดาวเคราะห์เพื่อนบ้าน ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์ตรวจหาก๊าซมีเทนในบรรยากาศด้วย  

ทางด้าน เค ราธากฤษนัน (K Radhakrishnan) ผู้อำนวยการองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย กล่าวถึงปฏิบัติการนำยานออกจากโคจรโลกว่า ผ่านได้ด้วยดี โดยทวิตเตอร์ของยานมอมเองยังทวีตว่า มงคลยานได้สิ้นสุดการอยู่ในโคจรของโลก และเริ่มเข้าสู่เส้นทางรอบดวงอาทิตย์สู่ดาวอังคารนาน 10 เดือน

ในส่วนการค้นหามีเทนซึ่งเป็นหนึ่งในการทดลองหลักของมงคลยานนั้น บีบีซีนิวส์ระบุว่า บนโลกนั้นก๊าซมีเทนส่วนใหญ่ในบรรยากาศนั้นผลิตขึ้นจากสิ่งมีชีวิต ซึ่งก่อนหน้านี้มียานโคจรรอบดาวอังคารและกล้องโทรทรรศน์บนโลกสามารถตรวจจับก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศดาวอังคารได้

ทว่าคิวริออซิตี (Curiosity) ยานโรเวอร์ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ที่กำลังสำรวจพื้นผิวดาวอังคารอยู่นี้ กลับไม่สามารถตรวจจับก๊าซมีเทนในบรรยากาศของดาวอังคารได้ ซึ่งบีบีซีนิวส์กล่าวว่า หากยานมอมหรือมงคลยานสามารถตรวจจับก๊าซมีเทนได้ แหล่งกำเนิดของก๊าซดังกล่าวที่น่าจะเป็นไปได้น่าจะมาจากจุลินทรีย์บนดาวอังคาร ซึ่งอาจจะมีอยู่ลึกลงไปใต้พื้นผิวดาวอังคาร แต่ก็มีโอกาสที่ก๊าซมีเทนอาจถูกผลิตขึ้นมาจากกระบวนการทางธรณี เช่น กิจกรรมของภูเขาไฟบนดาวอังคารได้ เป็นต้น
มงคลยานเดินทางไกลกว่าระยะวงโคจรของดวงจันทร์แล้ว นับเป็นสิ่งประดิษฐ์ของอินเดียที่เดินทางออกไปอวกาศที่ไกลที่สุด (ISRO)
เส้นทางโคจรของมงคลยานรอบโลกเพื่อสะสมความเร็วหนีแรงดึงดูดโลก (ISRO)
*(Edited)







กำลังโหลดความคิดเห็น