xs
xsm
sm
md
lg

จนๆ อย่างอินเดียจะไปดาวอังคาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้าย) จรวดนำส่งยานอวกาศ (ขวาบน) ภาพยาน MOM (ขวาล่าง) ภาพการเข้าสู่วงโคจรดาวอังคาร
นอกจากจีนแล้วอินเดียเป็นชาติหนึ่งในเอเชียที่มีพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศแบบพุ่งจรวด แม้หลายคนจะนึกค้านว่าแดนภารตะแห่งนี้ควรเอางบประมาณมหาศาลไปบรรเทาทุกข์แก่ผู้หิวโหยในชาติหลายร้อยล้านคน มากกว่าทุ่มงบประมาณออกไปนอกโลกเช่นนี้ ทว่า ความกระหายใคร่รู้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

ในเดือน พ.ย.นี้ อินเดียมีโครงสร้างส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวอังคาร ในปฏิบัติการส่งยานมาร์สออร์บิเตอร์มิสชัน (Mars Orbiter Mission) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “มอม” (MOM) ซึ่งเป็นยานสำรวจอัตโนมัติที่เข้าไปวนรอบวงโคจรของดาวอังคาร โดยเบื้องต้นมีกำหนดส่งยานไปกับจรวดนำส่งดาวเทียมขั้วโลก (Polar Sattellite Launch Vehicle: PSLV-XL) ในวันที่ 5 พ.ย.2013

เค ราธากฤษนัน (K Radhakrishnan) ประธานองค์การวิจัยอินเดีย (Indian Space Research Organisation: Isro) ให้สัมภาษณ์ในรายงานเอเชียบิวซิเนสรีพอร์ต (Asia Business Report) ของบีบีซีถึงความคาดหวังต่อปฏิบัติอวกาศของอินเดียว่า เป็นปฏิบัติการที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอินเดียในการเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคาร และทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ

“หลักๆ เมื่อเราพูดถึงดาวอังคารและการสำรวจดาวอังคาร เราจะมองสิ่งมีชีวิตเป็นหนึ่งในเป้าหมาย ดังนั้น เราจึงค้นหาหลักฐานของมีเทนบนสภาพแวดล้อมของดาวอังคาร และพิจารณาว่ามีเทนเหล่านั้นมีกำเนิดทางชีววิทยาหรือกำเนิดทางธรณีหรือไม่ และเรายังต้องการศึกษาชั้นบรรยากาศดาวอังคารและขั้นตอนการกลับออกมาจากดาวอังคารด้วย” ผู้บริหารองค์การอวกาศอินเดียให้ข้อมูล

ทว่าบีบีซีได้ตั้งคำถามว่า การที่คิวริออซิตี (Curiosity) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ไม่พสัญญาณของมีเทน จะทำลายความตั้งใจของอินเดียในการค้นหามีเทนบนดาวอังคารหรือไม่? ซึ่งในความเห็นของ ราธากฤษนัน กล่าวว่า ในตอนนี้คิวริออซิตีตรวจหามีเทนแค่บนพื้นที่เล็กๆ ของดาวอังคาร ขณะที่อินเดียกำลังพุ่งเป้าไปที่สภาพแวดล้อมของดาวอังคารทั้งหมด การที่ยานของนาซาไม่พบมีเทนจึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวล

ทั้งนี้ จรวดจะนำยานสำรวจอวกาศของอินเดียจากชายฝั่งตะวันออกของประเทศ ซึ่งหน้าต่างการบิน (window) ที่อนุญาตให้การเดินทางจากวงโคจรโลกเข้าสู่วงโคจรดาวอังคารเป็นระยะทางสั้นที่สุดนั้นอยู่ในช่วงเดือน พ.ย.นี้ ดังนั้นอินเดียจึงต้องการส่งยานขึ้นไปให้ได้ไม่เกินสิ้นเดือนนี้ หากส่งยานขึ้นไปได้ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์แรกของเดือน จรวด PSLV-XLจะนำยานเข้าสู่โคจรรูปวงรีของโลก

จากนั้นช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนทางอินเดียจะควบคุมยานให้มุ่งหน้าสู่ดาวอังคารต่อไป โดยยานจะใช้เวลากว่า 300 วัน เพื่อเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารโดยการควบคุมของอินเดียในวันที่ 21 ก.ย.2014 เมื่อยานเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคาร ทางอินเดียก็จะเริ่มการทดลองทางวิทยาศาสตร์ แต่ระหว่างที่ยานมุ่งหน้าจากโลกไปดาวอังคารนั้น พวกเขาก็จะสอบเทียบเครื่องมือไปด้วย โดยข้อมูลจากยานในวงโคจรดาวอังคารจะใช้เวลาอย่างน้อย 20 นาทีมาถึงโลก

บีบีซียังถาม ผอ.องค์การอวกาศอินเดียในประเด็นที่หลายคนสงสัยว่าเขาคิดเห็นอย่างไร เพราะถึงแม้การส่งยานอวกาศจะสร้างความตื่นเต้นและความภาคภูมิใจแก่ชาติ แต่อินเดียก็ยังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ การขาดแคลนพลังงาน อีกทั้งยังมีความยากจนและขาดแคลนอาหารอยู่มาก ซึ่ง ราธากฤษนันกล่าวว่า อินเดียถูกถามเช่นนี้มาตลอด 50 ปี ว่าทำไมจึงเข้ามาอยู่ในวงการอวกาศ

“คำตอบสำหรับตอนนั้น ตอนนี้และอนาคตคือ มันเป็นการหาทางแก้ปัญหาให้แก่มนุษย์และสังคม” ราธากฤษมันกล่าว พร้อมให้ตัวเลขว่า งบประมาณกว่า 30,000 ล้านบาทที่อินเดียทุ่มให้แก่โครงการอวกาศนั้น คิดเป็น 0.34% ของรายจ่ายทั้งหมดของรัฐบาล ซึ่งรายจ่ายหลักๆ ในโครงการอวกาศคือการสร้างดาวเทียมเพื่อการสื่อสารและดาวเทียมสำรวจทรัพยากร และ 35% เป็นงบในการพัฒนายานนำส่ง และ 7-8% เป็นงบสำหรับโครงการทางวิทยาการและการสำรวจอวกาศ

“ปฏิบัติการดาวอังคารที่เรากำลังพูดถึงนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงบ 8% จาก 0.34% ของรายได้ประชาชาติของอินเดีย ผลประโยชน์ที่ประเทศเราได้กลับนั้นพอกพูนขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา มันมากเกินกว่าเงินที่ใช้เพื่อประโยชน์ต่อสิ่งที่จับต้องได้และไม่ได้ มีทั้งประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ ชาวประมงได้รับ เกษตรกรได้รับ รัฐบาลได้รับเพื่อการตัดสินใจโดยอิงข้อมูล การสนับสนุนประเทศในการจัดการภัยพิบัติ และการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารแก่ประเทศนี้ด้วยดาวเทียมอินแซท (INSAT) วันนี้เรามีดาวเทียมสื่อสารเกือบ 10 ดวง ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร 10 ดวง นี่เป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นตลอด 50 ปีที่ผ่านมาในประเทศ จากงบประมาณอันจำกัดที่ใส่เข้าไปในโครงการอวกาศ” ราธากฤษนันแจกแจง

นอกจากนี้อินเดียยังมีโครงการส่งยานไปสำรวจดวงจันทร์หลังความสำเร็จของจันทรายาน-1 (Chandrayaan-1) ซึ่งถูกส่งขึ้นไปโคจรรอบดวงจันทร์ และจันทรายาน-2 ที่จะส่งขึ้นไปนั้นจะลงไปสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ โดยจะใช้ยานโรเวอร์ (rover) และมีโมดูลลงจอดด้วย ซึ่งตามแผนเดิมที่วางไว้ระหว่างปี 2009-2010โครงการนี้จะร่วมมือกับรัสเซียที่จะผลิตยานลงจอดและยานโรเวอร์ ส่วนอินเดียจะผลิตยานนำส่งและยานโคจร แต่มีการปรับเปลี่ยนโดยอินเดียจะผลิตยานทั้งหมด และจะสร้างยานลงจอดให้เสร็จในปี 2016 และจะทดสอบจรวดนำส่งในเดือน ธ.ค.นี้

ส่วนโครงการส่งมนุษย์ไปอวกาศของอินเดียนั้น ราธากฤษนันกล่าวว่าทางอินเดียยังไม่ประกาศชัดเจน แต่เริ่มมีการศึกษาความเป็นไปได้เมื่อปี 2006-2007 ซึ่งมีการศึกษาการพัฒนายานโมดูลหลัก การควบคุมสภาพแวดล้อม และระบบเอื้อการยังชีพ ระบบดีดตัวออกจากยาน แต่เบื้องต้นต้องการยานสำหรับนำส่งมนุษย์ขึ้นสู่วงโคจรระดับต่ำ ซึ่งต้องมีจรวดนำส่งที่วางใจได้

นอกจากนี้ยังการเปรียบเทียบระหว่างโครงการอวกาศจีนและอินเดีย โดยจีนใช้เวลาเพียง 10 ปีตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเพื่อส่งมนุษย์คนแรกขึ้นสู่วงโคจร จนเกิดคำถามว่าอินเดียมัวทำอะไรอยู่ ซึ่งผู้อำนวยการองค์การอวกศอินเดียกล่าวว่า แต่ละประเทศก็มีจุดมุ่งหมายของตัวเอง สำหรับอินเดียนั้นพุ่งเป้าไปที่การใช้ประโยชน์อวกาศอย่างสันติ และทุกวันนี้อินเดียก็เป็นต้นแบบสำหรับทั้งโลก ส่วนจีนก็มีเป้าหมายของตัวเองและเดินตามเส้นทางนั้น

“เราไม่ได้แข่งขันกับใครทั้งนั้น แต่ผมอยากจะกล่าวว่า เราแข่งขันกับตัวเอง เราต้องทำให้ดีเลิศ เราต้องพัฒนา และเราต้องนำเสนอการบริการใหม่ๆ เราต้องทำให้มันคุ้มค่าและนำส่งไปยังเป้าหมายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน หรือรัฐบาล หรือ หน่วยงานต่างๆ ในประเทศ นั่นคือเป้าหมายของโครงการอวกาศอินเดีย” ราธากฤษนันกล่าว
ภาพยาน MOM ระหว่างตรวจโครงสร้างทางกายภาพ (ISRO)
ยาน MOM ระหว่างทดสอบทางแม่เหล็กไฟฟ้า (ISRO)
ภาพยาน MOM ขณะติดตั้งบนชิ้นส่วนจรวดก่อนนำไปยังฐานปล่อยจรวด (ISRO)
เค ราธากฤษนัน ผู้อำนวยการองค์การอวกาศอินเดีย
จรวดพร้อมนำส่งยาน MOM (ISRO)
อ่านเพิ่มเติม

- อย่าดูแคลน! อินเดียเคยพบน้ำแข็งบนดวงจันทร์มาแล้ว

-
อินเดียเปิดตัวสู้ศึกอวกาศแห่งภูมิภาค ส่ง “จันทรายาน” สำรวจผิวดวงจันทร์


-
อินเดียฉลองชัย “จันทรายาน” ปักธงบนดวงจันทร์สำเร็จ


- จันทรายานส่งเรดาร์ลงสำรวจหลุมมืดที่สุดบนดวงจันทร์ ได้เป็นครั้งแรก


-
อินเดียงานเข้า! “จันทรายาน” ร้อนเกินสำรวจดวงจันทร์ต่อ


- อินเดียเชื่อ “จันทรายาน” โหม่งพื้นดวงจันทร์หลังติดต่อไม่ได้


-
อินเดียเปิดบ้าน “ประชุมอวกาศ” ฉลองครึ่งศตวรรษตะลุยนอกโลก


-
ญี่ปุ่น-จีน-อินเดียแข่งสำรวจดวงจันทร์








กำลังโหลดความคิดเห็น