มติ ป.ป.ช.6 ต่อ 2 ฟัน “สุรพงษ์” สมัยนั่ง รมว.ไอซีที พ่วงปลัดกระทรวงและ ผอ.สำนักอวกาศ ผิด ม.157 ละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเซ็นแก้สัญญาดาวเทียมเอื้อชินคอร์ป ตามที่ คตส.ฟ้องเมื่อปี 51 ชงเล่นโทษวินัยร้ายแรง พร้อมส่งอัยการสูงสุด ฟ้องศาลฎีกาแผนคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย
วันนี้ (17 ก.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เว็บไซต์ ป.ป.ช.ได้เปิดเผยผลการประชุม ป.ป.ช.วานนี้ (16 ก.ค.) ถึงข้อกล่าวหากรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2551 กล่าวหา นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายไกรสร พรสุธี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ว่า อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยมิชอบ
ป.ป.ช.ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้แล้ว จึงมีมติด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 2 เสียง โดยนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.อีกคนหนึ่งขอถอนตัวไม่ร่วมพิจารณา เนื่องจากได้เคยพิจารณาเรื่องนี้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง คตส.แล้ว ว่าการกระทำของนายไชยยันต์ และนายไกรสร ที่ได้เสนอความเห็นให้มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) ให้ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยทราบดีอยู่แล้วว่า เหตุที่บริษัทขอลดสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อต้องการหาพันธมิตรขยายศักยภาพในการแข่งขันให้มีความเข้มแข็งและมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินการโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ และการกระทำของนายสุรพงษ์ ที่ได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ดังกล่าว จึงมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยในส่วนของนายไกรสร และนายไชยยันต์ ยังมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 อีกด้วย
ที่ประชุมจึงมีมติให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 และไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องผู้ถูกกล่าวหาที่ 1, ที่ 2 และที่ 3 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 70 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 10
โดย ป.ป.ช.ได้ชี้แจงการสอบสวนว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยมีศาสตราจารย์ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน ปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้ ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ 11 ก.ย. 34 ระหว่างกระทรวงคมนาคม และบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)ในปัจจุบัน ข้อ 4 กำหนดให้บริษัทจะต้องจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่เพื่อดำเนินงานตามสัญญาสัมปทาน โดยมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท และบริษัทจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 และต้องดำเนินการให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่รับผิดชอบตามสัญญาสัมปทานต่อกระทรวงร่วมกันและแทนกันกับบริษัท ซึ่งต่อมาได้มีการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ ตามสัญญาสัมปทานฯ ดังกล่าว คือ บริษัท ชินวัตรแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน
ต่อมา เมื่อเดือนธันวาคม 2546 บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน ได้มีหนังสือลงวันที่ 24 ธ.ค. 46 ถึงกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ขออนุมัติลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 โดยให้เหตุผลว่าธุรกิจให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก โดยเฉพาะโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาพันธมิตรเพื่อขยายศักยภาพในการแข่งขันให้มีความเข้มแข็ง และมีเงินทุนเพียงพอที่จะดำเนินกิจการให้บรรลุไปได้ด้วยดี ซึ่งการหาพันธมิตรหรือแหล่งเงินทุนดังกล่าว จะมีผลทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปฯ ลดลงจาก 51% เนื่องจากต้องให้พันธมิตรหรือเจ้าของแหล่งเงินทุนเข้ามามีส่วนในการถือหุ้น
สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ได้มีบันทึกลงวันที่ 9 ก.พ. 47 ถึงปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เสนอข้อพิจารณาและความเห็นว่า การลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ดังกล่าว บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่นฯ จะยังคงรับผิดชอบการดำเนินการตามสัญญาต่อไป ยังคงรักษาสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลสัญชาติไทย โดยไม่ขัดกับกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เห็นสมควรแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมฯ เพื่อมิให้การดำเนินการผิดข้อกำหนดของสัญญา ข้อ 4 อย่างไรก็ตาม เพื่อความรอบคอบในการดำเนินการเห็นสมควรหารือสำนักงานอัยการสูงสุด และหากเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาตรวจร่างสัญญาแก้ไขก่อน
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้มีหนังสือลงวันที่ 25 ก.พ.47 ลงนามโดยรองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (นายไกรสร พรสุธี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2) หารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาข้อหารือแล้วมีหนังสือลงวันที่ 3 มิถุนายน 2547 ตอบข้อหารือว่า การขอแก้ไขสัญญาโดยลดสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าว ไม่มีกรณีที่รัฐต้องเสียประโยชน์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สามารถที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาอนุมัติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาได้และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาร่างสัญญาดังกล่าวด้วยแล้ว อย่างไรก็ตาม สำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้ข้อสังเกตว่า โครงการนี้ เดิมได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ว่าเป็นโครงการของประเทศ (National Project) คุณสมบัติและความเชื่อถือในฐานะและความสามารถของบริษัทผู้รับสัมปทาน จึงเป็นเงื่อนไขสาระสำคัญอย่างยิ่งของสัญญาสัมปทานนี้ จึงได้กำหนดในสัญญา ข้อ 4.2 ว่า บริษัทจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งใหม่ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ดังนั้น กรณีเมื่อจะพิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาข้อนี้ ซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญาและเป็นส่วนหนึ่งแห่งที่มาของการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี จึงควรที่จะนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีก่อนลงนามสัญญา
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 17 มิ.ย. 47 ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (นายสุรพงษ์) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาการลดสัดส่วนการถือหุ้นตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาฯ ข้อ 4.2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องดังกล่าวคืนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตามหนังสือลงวันที่ 20 ส.ค. 47 โดยให้เหตุผลว่า เรื่องดังกล่าวไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะลดเรื่องที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี
สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ จึงได้มีบันทึกลงวันที่ 2 ก.ย. 47 ลงนามโดยผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ (นายไชยยันต์) ถึงปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์) เสนอข้อพิจารณาว่า ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้แจ้งผลการพิจารณาข้อหารือว่า การลดสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าว ไม่มีกรณีที่รัฐต้องเสียประโยชน์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสามารถที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาอนุมัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาได้ กอปรกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่า เรื่องดังกล่าวไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา จึงเห็นควรเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารพิจารณาอนุมัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาฯ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (นายสุรพงษ์) ได้สั่งการท้ายหนังสือดังกล่าวข้างต้น เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 47 ว่า ให้หารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดอีกครั้ง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 24 ก.ย. 47 หารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้แจ้งตอบข้อหารือ ตามหนังสือลงวันที่ 13 ตุลาคม 2547 ว่า เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีความเห็นว่า เรื่องนี้ไม่อยู่
ในหลักเกณฑ์ที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาดังข้อเสนอแนะของสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงมีดุลพินิจที่จะแก้ไขสัญญาตามร่างที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจแก้ไว้ได้
สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ โดยผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ (นายไชยยันต์) จึงได้มีบันทึกลงวันที่ 14 ต.ค. 47 ถึงปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (นายไกรสร) นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารพิจารณาอนุมัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาฯ ซึ่งในครั้งนี้ นายสุรพงษ์ได้พิจารณาลงนามอนุมัติท้ายหนังสือดังกล่าวข้างต้น เมื่อวันที่ 18 ต.ค.47 ให้แก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ตามที่เสนอ และได้มีการลงนามแก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 47 ในเรื่องการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 47 เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 นี้
ปรากฏต่อมาว่า เป็นหนึ่งในหลายประเด็นข้อกล่าวหาในคดีที่อัยการสูงสุดได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ทรัพย์สินของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ตกเป็นของแผ่นดิน (คดีร่ำรวยผิดปกติ) โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษา ตามคดีหมายเลขดำที่ อม.14/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2553 เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 53 ว่า การที่มีการกำหนดเรื่องการถือครองหุ้นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ไว้ในข้อ 4 ของสัญญาสัมปทานนั้น เป็นนัยสำคัญประการหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้บริษัท ชินคอร์ปฯ ได้รับสัมปทาน การอนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานลดสัดส่วนข้างต้นโดยไม่ได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ จึงเป็นการอนุมัติโดยมิชอบ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ชินคอร์ปฯ ผู้รับสัมปทาน
เนื่องจากในกรณีที่บริษัท ไทยคมฯ ทำการเพิ่มทุนเพื่อดำเนินโครงการใด ๆ โดยเฉพาะโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ บริษัท ชินคอร์ป ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ไทยคมฯ จึงไม่ต้องระดมทุนหรือกู้ยืมเงินมาซื้อหุ้นเพื่อรักษาสัดส่วนร้อยละ 51 ของตนเอง แต่กลับกระจายความเสี่ยงไปให้นักลงทุนรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการลดสัดส่วนการถือครองหุ้นลงประมาณร้อยละ 11 ดังกล่าวย่อมเป็นผลให้บริษัท ชินคอร์ป ได้รับเงินทุนคืนจากการโอนขายหุ้นจำนวนดังกล่าวออกไปด้วย ทั้งการลดสัดส่วนดังกล่าวมีผลเป็นการลดทอนความมั่นคงและความมั่นใจในการดำเนินโครงการดาวเทียมของบริษัท ชินคอร์ป ในฐานะผู้ได้รับสัมปทานโดยตรงที่ต้องมีอำนาจควบคุมบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ และต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ในบริษัท ไทยคมฯ ซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการดาวเทียมตามสัญญาสัมปทาน แม้ว่าบริษัท ชินคอร์ป และบริษัท ไทยคมฯ จะยังต้องร่วมกันรับผิดตามสัญญาสัมปทานอยู่ แต่การลดสัดส่วนการถือครองหุ้นดังกล่าวก็ย่อมที่จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความมั่นคงในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของรัฐ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า การอนุมัติให้ลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัท ชินคอร์ป ในบริษัท ไทยคมฯ จึงเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ชินคอร์ป และบริษัท ไทยคมฯ ผู้รับสัมปทานจากรัฐโดยไม่สมควร