“ไชยยันต์” ระบุไม่เป็นธรรมกับผลสอบ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่าตนจงใจละเว้นปฏิบัติหน้าที่ แจงรับไม่ได้หากโดนปลดออกจากราชการ แย้งกลับการแก้ไขสัญญาไทยคมกระบวนการทุกอย่างทำตามขั้นตอน เชื่อประเทศไทยยังมีความยุติธรรมอยู่
นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ภายหลังจากที่ได้รับทราบผลการประชุมสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีมติด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 2 เสียงชี้มูลความผิดทางอาญาว่า ในกรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เป็นการกระทำโดยมิชอบในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ
ทั้งนี้ ตามขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมายระบุว่า เมื่อ ป.ป.ช.ส่งเรื่องมายัง ก.ไอซีทีแล้วจะต้องดำเนินการโทษทางวินัยให้เสร็จภายใน 30 วัน เนื่องจากในตำแหน่งปลัดเป็นตำแหน่งข้าราชการ โดยระยะเวลาจะนับตั้งแต่วันที่หนังสือส่งมาถึง ก.ไอซีที ส่วนโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดมานั้นคือการไล่ออก หรือการปลดออกจากตำแหน่ง
“อยากจะบอกว่าตลอดอายุที่รับราชการมานั้น ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมาโดยตลอด และยึดมั่นในเรื่องของความถูกต้อง ดังนั้นเมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลมาว่าตนมีความผิด ถูกกล่าวหา และยังโดนไล่ออกจากราชการจึงรู้สึกรับไม่ได้จริงๆ กับผลการตัดสินดังกล่าว”
สำหรับในประเด็นที่ ป.ป.ช.ชี้มูลว่าตนผิดทางอาญา ในฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น และยังมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 อีกด้วยนั้น
นายไชยยันต์มองว่ากระบวนการและขั้นตอนทุกอย่างในเรื่องการพิจารณาการอนุมัติแก้ไขสัญญาการลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นบริษัท ไทยคม จำกัด ได้พิจารณาอย่างรอบครอบทุกกระบวนการ ภายหลังบริษัททำหนังสือมาที่ ก.ไอซีที จากนั้น ก.ไอซีทีก็ได้มีการพิจารณาข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ โดยตั้งประเด็นไว้หลายเรื่อง เช่น บริษัท ไทยคม ยังเป็นบริษัทคนไทยอยู่หรือไม่ และตั้งประเด็นว่าบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในการกำกับดูแลบริษัทไทยคมเช่นเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามข้อกำหนดเงื่อนไขในสัญญาหรือไม่
นอกจากนี้ เพื่อความรอบครอบ ก.ไอซีทียังได้หารือเรื่องดังกล่าวไปให้อัยการสูงสุดพิจารณา และได้ตอบกลับมายัง ก.ไอซีทีว่าการพิจารณาดังกล่าวไม่ได้ทำให้ประเทศชาติเสียหายแต่อย่างใด พร้อมทั้งยังให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่สุดท้ายเลขาธิการ ครม.มีหนังสือตอบกลับมายัง ก.ไอซีทีว่าเรื่องดังกล่าวไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ต้องเสนอเข้า ครม.พิจารณาแต่อย่างใด
จากนั้น ก.ไอซีทีจึงดำเนินการส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดอีกครั้ง โดยทางอัยการสูงสุดตอบกลับมาว่าในการพิจารณาดำเนินการดังกล่าวให้ ก.ไอซีทีใช้ดุลพินิจในการที่จะลงนามสัญญาดังกล่าวตามที่อัยการตรวจแก้ไขต่อไป ซึ่งสุดท้าย ก.ไอซีทีก็ได้ลงนามในสัญญาแก้ไข
โดยกระบวนการทั้งหมด ป.ป.ช.กลับตัดสินว่าตนทุจริตในมาตรา 157 คือการจงใจละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคำว่าจงใจหมายถึงรู้ทั้งรู้ว่าผิดยังดำเนินการอยู่ แต่กระบวนการที่เล่ามาไม่มีอะไรเสียหาย อีกทั้งการแก้ไขสัญญาฉบับดังกล่าวผ่านมาแล้วกว่า 10 ปี ก.ไอซีทีเสียหายอะไรบ้างไหม ก็ไม่มีเลย
“ที่เล่ามาทั้งหมดนั้นผมเป็นเพียงกระบวนการทางผ่านในเรื่องดังกล่าวเท่านั้น แต่กลับโดน 157 ผมจึงมองว่าไม่ยุติธรรม ดังนั้นจึงขอบารมีของศาล และความคุ้มครองจากศาลในการเมตตา ซึ่งผมเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ยังมีอยู่”
ขณะที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ในประเด็นดังกล่าวตอนนี้ ก.ไอซีทีรอรายงานเอกสาร ความเห็นมติที่ประชุมของ ป.ป.ช.ทั้งหมดส่งมายัง ก.ไอซีที จากนั้นกระทรวงจะดำเนินการพิจารณา ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ต่อไป
“กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า หลังจากที่มีการชี้มูลความผิด และ ป.ป.ช.มีมติแล้ว ทาง ก.ไอซีทีคงต้องรอรายละเอียดทั้งหมดเพื่อเข้าที่ประชุมพิจารณาตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนต่อไป แต่จะยึดกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมายเป็นหลัก”
น.อ.อนุดิษฐ์ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ในตอนนี้ไม่เป็นการสมควรที่จะแสดงความเห็น หรือพูดอะไรออกไปเพราะยังไม่ได้รับรายงาน หรือเอกสารอย่างเป็นทางการจาก ป.ป.ช.
Company Relate Link :
ICT