xs
xsm
sm
md
lg

เลี้ยบอ้างหุ้นขึ้น-รัฐไม่เสียหาย โวยถูกเชือดเพราะ"ชินคอร์ป"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 6 ต่อ 2 ชี้มูลความผิด นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สมัยดำรงตำแหน่งรมว.ไอซีที กรณีอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดโดยมิชอบ ซึ่งมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า กิจการดาวเทียม เมื่อยิงขึ้นบนอวกาศจะถือเป็นสมบัติของกระทรวงไอซีที ทันที ไม่ได้เป็นของ บ.ชินแซทเทลไลท์ หากมีการยิงดาวเทียมจำนวนมาก ประโยชน์จะตกเป็นของกระทรวงไอซีที ขณะที่บริษัทเอกชน จะมีหน้าที่ในการบริหารดาวเทียมเท่านั้น และต้องมอบส่วนแบ่งรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย 25 เปอร์เซ็นต์ให้เป็นของรัฐ
ในส่วนของการแก้ไขสัญญานั้น เนื่องจาก บ.ชินคอร์ป มีแผนจะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ จึงขอลดสัดส่วนลง แต่เป็นการลดเฉพาะสัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัทแม่เท่านั้น ไม่ใช่ส่วนแบ่งรายได้ ซึ่งบริษัทชินคอร์ป จะต้องจ่ายให้กระทรวงไอซีที เท่าเดิม ไม่ได้ทำให้รัฐต้องเสียประโยชน์ แต่กลับได้ประโยชน์จากการที่มีดาวเทียมเพิ่มมากขึ้น
นพ.สุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ในขณะนั้น กระทรวงไอซีที ส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อพิจารณาในเรื่องนี้ โดย อสส.ระบุว่า เมื่อได้พิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐไม่เสียประโยชน์แต่ควรนำเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ซึ่งทางกระทรวงไอซีที ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อให้บรรจุเรื่องดังกล่าวในวาระการประชุม แต่ สลค. กลับระบุว่า เรื่องนี้ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเข้าที่ประชุมครม. เพราะเป็นเรื่องของการแก้ไขสัญญา ตนจึงส่งเรื่องไปยัง อสส. อีกครั้งเพื่อสอบถามความถูกต้อง ซึ่งอสส. ได้ตอบกลับมาว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงถือเป็นอำนาจของกระทรวงไอซีที ใช้ดุลยพินิจต่อไป
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเวลามาผ่าน 9 ปี นับตั้งแต่มีการยิงดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งเป็นการพิสูจน์แล้วว่า ผู้ถือหุ้นไม่เสียหายจากเรื่องดังกล่าว ราคาหุ้นพุ่งจาก 10 บาทเป็น 30 บาท และกระทรวงไอซีที เองมีรายได้เพิ่มขึ้นมาก รัฐไม่เสียประโยชน์อะไรเลย ทั้งนี้หากกรณีนี้บริษัทเอกชนไม่ได้เป็น บ.ชินคอร์ป แต่เป็นบริษัทเอกชนรายอื่น ถ้าตนไม่ได้อนุมัติ ถามว่าจะโดนข้อหาว่าขัดขวางไม่ ให้ทำได้หรือไม่ ดังนั้นอย่ามองว่าเป็นใคร แต่ควรมองว่าถูกต้องหรือไม่
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ขั้นต่อต่อไปเมื่อ ป.ป.ช. มีมติอย่างนี้จะมีการส่งเรื่องไปยังอสส.ให้พิจารณา หากอสส. บอกไม่ส่งฟ้อง เรื่องจะกลับไปที่ป.ป.ช. แต่หาก อสส.สั่งฟ้อง ก็ต้องสู้คดีกันไป ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างตนพิสูจน์ได้ อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการ ป.ป.ช. 2 เสียง ที่กรุณารับฟังข้อมูลว่า เรามีความตั้งใจที่จะพัฒนาระบบดาวเทียมของชาติ

** ป.ป.ช.เตรียมส่งสำนวนให้ศาลฎีกาฯ

ด้านนายภักดี โพธิศิริ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า เตรียมส่งสำนวนการไต่สวนให้อัยการสูงสุด เพื่อยื่นฟ้องนพ.สุรพงษ์ กับพวก ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิด ขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งหนังสือแจ้งมติอย่างเป็นทางการให้กระทรวงไอซีที รับทราบ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณากำหนดมาตรการลงโทษทางวินัยกับข้าราชการ
ทั้งนี้ มีรายงานว่าหลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ของกระทรวงไอซีที ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เป็นประธานนั้น จะประชุมพิจารณากำหนดมาตรการลงโทษทางวินัย ตามเหตุผลประกอบ 2 กรณี คือ การกระทำที่จงใจ หรือ ประมาท และมีเหตุลดหย่อนโทษเฉพาะตัวหรือไม่ อาทิ รับราชการมานาน เคยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระดับใดบ้าง ซึ่งโดยกระบวนการ จะใช้เวลาอย่างน้อย 30 วัน
สำหรับข้อกล่าวหาที่ ป.ป.ช.ชี้มูล นอกจากความผิดที่กล่าวหา นพ.สุรพงษ์ ในฐานะฝ่ายการเมือง ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ฉบับที่ 5 เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน ที่ต้องถือในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดแล้ว ยังกล่าวหา นายไกรสร พรสุธี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง ไอซีที และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ เกี่ยวข้อง และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย
โดยนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงไอซีที ส่วนกรณีนายไกรสร พรสุธี ปัจจุบันได้ลาออกจากราชการไปแล้ว ทั้ง ป.ป.ช.ได้พิจารณาไต่สวนคดีตามเรื่องที่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ส่งเรื่องให้ดำเนินการ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.51 ซึ่งพบว่า การอนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานลดสัดส่วนนั้น ไม่ได้นำเสนอต่อครม.ให้ความเห็นชอบ จึงเป็นการอนุมัติโดยมิชอบ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัท ชินคอร์ปฯ ผู้รับสัมปทาน ทั้งนี้ ยังชี้ว่า การลดสัดส่วนยังมีผลเป็นการลดทอนความมั่นคงและความมั่นใจการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของรัฐ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า เชื่อว่า จะมีอีกหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับการเอื้อประโยชน์ตามมา โดยสุดท้ายคนที่เป็นเครื่องมือ ก็ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ตนอยากจะให้เป็นอุทธาหรณ์สำหรับนักการเมือง และข้าราชการทุกคนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันด้วยว่า ถ้าเกิดไปสนองในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สุดท้ายตัวเองก็ต้องรับผิดชอบ แต่คนที่แอบชักใยสั่งการอยู่เบื้องหลัง อาจจะไม่มีความผิดในเรื่องนั้นก็ได้ เพราะอาจจะสาวไปไม่ถึง แต่สุดท้ายแล้วบ้านเมืองก็ต้องอยู่กับกฎหมาย กฎเกณฑ์ ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าได้

**ปลัดไอซีที เมินข้อหาเอื้อชินคอร์ป

ในการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 เมื่อวานนี้ (18ก.ค.) ได้พิจารณางบประมาณของกระทรวง ไอซีที จำนวน 9,658,281,500 ล้านบาท
นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกมธ.ได้อภิปรายท้วงติงถึงการทำหน้าที่ของ นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ ปลัดกระทรวงไอซีที ว่า จะสามารถเข้ามาชี้แจงงบของกระทรวงได้หรือไม่ เพราะเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดนายไชยยันต์ ในสมัยเป็น ผอ.สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จากกรณีที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กับพวก อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
"เมื่อถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่านายไชยยันต์ จะมีอำนาจเสนองบกระทรวงไอซีที หรือไม่ ซึ่งไม่อยากให้งบประมาณไอซีที มีปัญหา ก็ต้องหาทางออก ตนขอเสนอให้รองปลัดกระทรวง เสนองบประมาณแทน เพื่อไม่ให้มีปัญหาข้อกฎหมายในการอภิปรายในสภาฯ ต่อไป" นายวัชระ กล่าว
ด้านนายไชยยันต์ ชี้แจงว่า ปัจจุบัน ตนถูกป.ป.ช.กล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่จริง แต่ตามข้อเท็จจริงการดำเนินการนั้น การที่ตนต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น ป.ป.ช. ต้องแจ้งคำวินิจฉัยไปที่กระทรวงไอซีที ภายใน 30 วัน จากนั้นจะมีอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อกพ.) ของกระทรวงฯ จะพิจารณาว่า จะให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ อย่าไรก็ตาม คิดว่าสามารถชี้แจงงบประมาณของกระทรวงต่อคณะกมธ.ได้ เพราะยังไม่มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
ขณะที่ นายวรชัย พัชราวลัย เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายป.ป.ช. ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า นายไชยยันต์ ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป เพราะตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 วรรคสาม ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการป.ป.ช. มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดแล้วจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานต้นสังกัดที่จะดำเนินการต่อไปภายใน 30 วัน หลังจากได้รับรายงานความเห็นจากป.ป.ช.
กำลังโหลดความคิดเห็น