เห็นสุริยุปราคาจากจันทร์ดวงกลมๆ ของโลกมาก็มากแล้ว เปลี่ยนไปชมปรากฏการณ์หาดูยากอย่างสุริยปุราคาบนดาวอังคารกันบ้าง คราวนี้ “คิวริออซิตี” ยานขับสำรวจดาวแดงของนาซา จับภาพขณะ “โฟบอส” หนึ่งในดวงจันทร์ของดาวนักรบผ่านหน้าดวงอาทิตย์ถึง 2 ครั้งได้
สุริยุปราคาบนดาวอังคารเกิดขึ้นไล่ๆ กันถึง 2 ครั้ง คือ วันที่ 19 ส.ค. และ 20 ส.ค.2013 ขณะดวงจันทร์โฟบอส (Phobos) ซึ่งเป็นดวงจันทร์ขนาดใหญ่ที่สุดของดาวอังคารในจำนวนทั้งหมด 2 ดวง ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ และคิวริออซิตี (Curiosity) ยานวิ่งสำรวจบนดาวอังคารขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) บันทึกเหตุการณ์ไว้ได้
สุริยุปราคาเมื่อวันที่ 19 ส.ค.2013
สุริยุปราคาเมื่อวันที่ 20 ส.ค.2013
คิวริออซิตีบันทึกเหตุการณ์ทั้งสองเป็นภาพนิ่งด้วยกล้องแมสต์คาเมรา (Mast Camera) ซึ่งบันทึกภาพเหตุการณ์วันที่ 19 ส.ค.ไว้ 52 ภาพ และเหตุการณ์วันที่ 20 ส.ค.อีก 89 ภาพ โดยในวิดีโอสุริยุปราคาวันแรกนั้นสเปซด็อทคอมระบุว่า ยังมีภาพจากกล้องระวังภัยบนยานสำรวจอีก 5 เฟรม แต่ละภาพห่างกัน 58 วินาทีและเผยให้เห็นแสงสว่างบนดาวอังคารมืดลงเรื่อยๆ จนกลับมาสว่างอีกครั้งเมื่อโฟบอสผ่านไป และนาซาเพิ่งคลิปวิดีโอออกมาเมื่อเร็วๆ นี้
สำหรับโฟบอสนั้นมีความกว้างเพียง 22 กิโลเมตร แต่ดูใหญ่เมื่อผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เนื่องจากดวงจันทร์ดวงนี้โคจรอยู่ใกล้พื้นผิวดาวอังคารในระยะเพียง 6,000 กิโลเมตร ขณะที่ ไดมอส (Deimos) ดวงจันทร์อีกดวงที่มีขนาดเล็กกว่าอยู่ไกลออกไปถึง 20,070 กิโลเมตร โฟบอสใช้เวลาโคจรรอบดาวอังคาร 8 ชั่วโมง ส่วนไดมอสใช้เวลา 30 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น แต่ความเร็วของดวงจันทร์ทั้งสองกำลังเปลี่ยนไป โดยโฟบอสเริ่มช้าลง ขณะที่ไดมอสกำลังเร่งความเร็วขึ้น
เมื่อเทียบกับโลก ดวงจันทร์ของเรามีความกว้างถึง 3,476 กิโลเมตร แต่โคจรรอบโลกที่ระยะทาง 384,600 กิโลเมตร ซึ่งทั้งขนาดและระยะทางที่พอเหมาะ ทำให้ดวงจันทร์บังอาทิตย์จนมิดเมื่อเกิดสุริยุปราคาบนโลกเวลาที่ทั้งโลก ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
สเปซด็อทคอมอ้างความเห็นของลูกทีมในโครงการสำรวจของคิวริออซิตีว่า การสังเกตปรากฏการ์ณสุริยุปราคาของยานคิวริออซิตีนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจวงโคจรของดวงจันทร์ทั้งสองของดาวอังคารได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ คิวริออซิตีลงจอดที่หลุมอุกกาบาตเกล (Gale Crater) ขนาดใหญ่เมื่อเดือน ส.ค. 2012 เพื่อสำรวจว่าดาวอังคารนั้นเคยมีสภาพที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของจุลชีพหรือไม่ และเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ในโครงการสำรวจของคิวริออซิตีได้ประกาสว่า เมื่อพันล้านปีก่อนที่อ่าวเยลโลว์ไนฟ์เบย์ (Yellowknife Bay) บริเวณใกล้ๆ จุดลงจอดของยานนั้น เคยเป็นแหล่งเอื้อต่อการอาศัยของชีวิตได้ และตอนนี้ยานสำรวจก็เดินต้นการเดินทางแสนยาวไกลสู่ตีนเขาของเมานท์ชาร์ป (Mount Sharp) ซึ่งเก็บรักษาชั้นดินมากมายที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา