xs
xsm
sm
md
lg

กรีนพีซหวั่น “กระบี่” มรกตแห่งอันดามันถูกคุกคามจากถ่านหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรีนพีซ นักวิชาการพลังงาน และสมาคมท่องเที่ยวเกาะลันตา ร่วมวิพากษ์แผนการศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วและแผนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันปกป้องกระบี่จากถ่านหิน เพื่อให้กระบี่คงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มาจากการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น

การวิพากษ์แผนการสร้างท่าเทียบเรือถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มี.ค.57 ก่อนหน้าการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Public Scoping) ซึ่งจะจัดขึ้นโดยบริษัทที่ปรึกษาในวันที่ 9 มีนาคมที่จะถึงนี้  กรีนพีซ นักวิชาการพลังงาน และสมาคมท่องเที่ยวเกาะลันตาได้แสดงความกังวลต่อกระบวนการศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วและแผนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เนื่องจากการระบุผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวนั้นค่อนข้างต่ำกว่าความเป็นจริง

“กระบี่เปรียบเสมือนมรกตแห่งอันดามัน ซึ่งไม่เพียงแต่มีชื่อเสียงในระดับโลกจากภูมิทัศน์อันงดงามโดดเด่น แต่ยังมีระบบนิเวศทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์อีกด้วย โครงการสร้างท่าเทียบเรือ และโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นสวนทางโดยสิ้นเชิงกับแนวนโยบายการพัฒนาของจังหวัดกระบี่ที่ต้องการพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์  นายกสมาคมการท่องเที่ยวเกาะลันตากล่าว

“การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะต้องตระหนักถึงภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้นในจังหวัดกระบี่” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว “เราเกรงว่าการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์นี้ จะไม่มีความแตกต่างจากรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือท่าช้างที่มีการจัดทำไปก่อนหน้า คือ การระบุผลกระทบที่ต่ำกว่าความเป็นจริงหรือหากจะเกิดผลกระทบก็ระบุว่าสามารถแก้ไขได้ ผลคือรายงานที่ออกมาได้ตีตราประทับให้เจ้าของโครงการซึ่งก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย”

โครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้วเป็นแผนทางเลือกล่าสุดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อขนถ่ายถ่านหินนำเข้าจากอินโดนีเซีย ออสเตรเลียหรือแอฟริกา มาเป็นเป็นเชื้อเพลิงในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิตติดตั้ง 870 เมกะวัตต์ จุดของโครงการท่าเทียบเรือตั้งอยู่ ณ ตําบลตลิ่งชัน อําเภอคลองขนาน จังหวัดกระบี่ ในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่มีสถานะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ ในช่วงฤดูมรสุม

การขนถ่ายถ่านหินจากเรือเดินสมุทรขนาดมหึมาลงเรือขนถ่านหินขนาดเล็ก จะเกิดขึ้นบริเวณกลางทะเลใกล้เกาะปอซึ่งอยู่ท้ายเกาะลันตา และบริเวณเกาะกลางในช่วงไม่มีมรสุม แล้วผ่านเข้าไปยังท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว เพื่อขนส่งถ่านหินไปตามสายพานลำเลียงยาว 8.4 กิโลเมตร เข้าสู่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน การขนถ่ายถ่านหิน จะส่งผลกระทบมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อมของกระบี่ โดยเฉพาะปะการัง หญ้าทะเล ผืนป่าชายเลน แหล่งทำประมงพื้นบ้าน แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ถิ่นที่อยู่อาศัยของพรรณพืชและสัตว์ และที่สำคัญจะสร้างความเสียหายต่อวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดกระบี่
 
“กรีนพีซเรียกร้องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยกเลิกโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือถ่านหินและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ พร้อมให้สัตยาบันต่อภาคประชาชนในความร่วมมือแบบพหุภาคีเพื่อผลักดันพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันซึ่งครอบคลุมจังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล รวมทั้งกับการพัฒนาและส่งเสริมการลงทุนพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและปลอดภัย” จริยากล่าวเสริม

ประชาชนสามารถร่วมผลักดันข้อเรียกร้องนี้โดยการลงชื่อ “ปกป้องกระบี่” ได้ที่ www.protectkrabi.org

หมายเหตุ

พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ ถูกขึ้นทะเบียนให้เป็น 1 ใน 10 ของพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (List of Wetland of International Importance) ตามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ (Ramsar Convention) หรือเรียกว่า “Ramsar Site” เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544  มีเนื้อที่ประมาณ 133,120 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ป่าชายเลน หาดทราย และคลองที่ตัวเมืองกระบี่ รวมถึงพื้นที่ป่าโกงกางและหญ้าทะเลที่เกาะศรีบอยา ซึ่งมีพื้นที่ถึง 62,500 ไร่ ปากแม่น้ำกระบี่เกิดจากการที่แม่น้ำหลายสายในพื้นที่ภาคใต้ไหลมาบรรจบกันที่อ่าวพังงา พื้นที่ปากแม่น้ำของกระบี่เป็นตัวอย่างที่ดีของการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับธรรมชาติ โดยป่าชายเลน หญ้าทะเล และแนวปะการัง เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ รวมถึงเป็นพื้นที่อนุบาลและวางไข่ของสิ่งมีชีวิตในทะเล







กำลังโหลดความคิดเห็น