xs
xsm
sm
md
lg

เรือประมงกระบี่รวมพลังร้องขยาย “พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำ” แทน “โรงไฟฟ้าถ่านหิน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวประมงกระบี่ ขนเรือกว่า 70 ลำ ชูป้ายผ้า “ปกป้องกระบี่” เรียกร้องขยาย “พื้นที่ชุมน้ำปากแม่น้ำกระบี่” แทนการก่อสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ชี้พื้นที่ชุ่มน้ำมีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งสัตว์น้ำนานาชนิด หวั่นสร้างโรงไฟฟ้าทำระบบนิเวศพัง

วานนี้ (9 พ.ย.) ชาวประมง พร้อมเรือประมงพื้นบ้านหัวโทงกว่า 70 ลำ จากตำบลศรีบอยา ตลิ่งชัน ปกาสัย และคลองประสงค์ มุ่งหน้าสู่แนวผืนป่าชายเลนบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่(1) เพื่อกางป้ายผ้าลอยน้ำ ขนาด 17x30 เมตร ข้อความ “Protect Krabi” หรือ “ปกป้องกระบี่” พร้อมปล่อยพันธุ์ปู และติดป้ายข้อความรณรงค์ปกป้องป่าชายเลนเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการเรียกร้องขยาย “พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่” แทน “โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน”

พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ เป็นศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล เป็นที่อาศัยให้แก่สัตว์นานาชนิด และทำหน้ารักษาความหลากหลายทางระบบนิเวศวิทยาอย่างมั่นคง นอกจากนี้ ยังได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ไซต์) (2) กิจกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่ชาวบ้านกว่าร้อยคนที่อาศัย และใช้ประโยชน์รอบพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ ได้ร่วมทำการศึกษาวิจัยวิถีชีวิต และความหลากหลายทางชีวภาพชายฝั่งทะเลอันดามันจังหวัดกระบี่ หรือ “งานวิจัยมหาลัยเล” (3) ซึ่งได้มีการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา
แฟ้มภาพ
นายสมใจ ณ นคร ตัวแทนชาวบ้านตำบลตลิ่งชัน จังหวัดกระบี่ กล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ และการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติของชาวกระบี่ว่า “ชาวบ้านหากิน ใช้ประโยชน์ และอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำมานาน ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนทำให้มีสัตว์เศรษฐกิจ กุ้ง หอย ปู ปลาตลอดปี รายได้ของชาวบ้านบางวันสูงถึงหลักหมื่นบาท และเมื่อออกทะเลเราสามารถพบแนวหญ้าทะเลตลอดเส้นทาง ตั้งแต่บ้านคลองรั้ว ศรีบอยา รอบเกาะจำ เกาะปู บ้านติ่งไหร เกาะกลาง เกาะลันตา และเกาะปอมัน เราสามารถพบรอยพะยูนไถกินหญ้าทะเล ฝูงโลมาจะเข้ามาหลบมรสุมในฤดูมรสุม และวาฬที่เข้ามาให้ชาวบ้านได้เห็น

พวกเราจึงยืนยันความต้องการขยายบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ ไม่ใช่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จากการศึกษาเบื้องต้นทำให้ประชาชนในพื้นที่พบว่า นอกจากแหล่งหญ้าทะเล สัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และสัตว์อนุรักษ์ที่มีการยืนยันการพบเห็น และอยู่ในบัญชีสัตว์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย เช่น วาฬ โลมา และพะยูนแล้ว ยังพบว่าชนิดพันธุ์ของสัตว์น้ำมีจำนวนมากกว่าข้อมูลที่ระบุไว้ในการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในปี 2549 (4) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่เพิ่มมากขึ้นในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่

ขณะนี้มีความพยายามในการปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ซึ่งเกิดจากการผลักดันร่วมกันของประชาชนจังหวัดกระบี่ โดยได้จัดทำรายงานศึกษาวิจัยวิถีชีวิต และความหลากหลายทางชีวภาพชายฝั่งทะเลอันดามันจังหวัดกระบี่ ฉบับสมบูรณ์เพื่อเสนอให้แก่คณะทำงานวิชาการพื้นที่ชุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติการขยายพื้นที่ชุ่มน้ำให้ครอบคลุมถึงบริเวณเกาะจำ เกาะปู เกาะลันตา และเกาะปอ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกกำหนดให้เป็นเส้นทางขนส่งถ่านหินของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
แฟ้มภาพ
“การขอขยายพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ เป็นสิ่งบ่งชี้ได้ว่า ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความสำคัญต่อพื้นที่ดังกล่าว และต้องการปกป้องทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่น เฉกเช่นเดียวกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ และยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลก โดยจะต้องมีการจัดการ และใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด” นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ คณะอนุกรรมการวิชาการพื้นที่ชุ่มน้ำ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กล่าว

“โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหิน และโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกระทรวงพลังงาน เป็นโครงการที่สวนทางต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังทำให้สถานะของพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญต้องตกอยู่ในความเสี่ยง การดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ไม่คุ้มค่าต่อการได้มาซึ่งความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ วิถีชีวิต และการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ มูลค่าการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศบริเวณปากแม่น้ำกระบี่ (5) เพื่อการสันทนาการ และการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวอยู่ที่ 9.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 311 ล้านบาท) ต่อปี โดยข้อมูลดังกล่าวยังไม่รวมผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การทำเกษตรกรรม การเพาะเลี้ยงชายฝั่งและการประมง” น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชีตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอเชิญชวนผู้ที่รักกระบี่ ร่วมกันกอดกระบี่เพื่อปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ และควรค่าแก่การอนุรักษ์ โดยสามารถร่วมลงชื่อกอดกระบี่ได้ที่ www.hugkrabi.org
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น