xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียน 100 ปีอนุรักษ์ป่าทุ่งยาวลำพูน สร้างเครือข่ายรักษ์ป่าฟื้น สวล.ศตวรรษหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เครือข่ายป่าภาคเหนือร่วมเปิดงาน “1 ศตวรรษป่าชุมชนบ้านทุ่งยาว ลำพูน” พร้อมถอดบทเรียนการอนุรักษ์จากแหล่งน้ำชำ ที่เจอเมื่อร้อยปีก่อน จนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ผืนป่าระดับนานาชาติ ล่าสุดชาวบ้านเริ่มต่อยอดแนวคิดร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก-ลดคาร์บอนในอากาศ


วันนี้ (28 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC), นางสมหญิง มานะจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันลูกโลกสีเขียว, นายพลากร วงศ์กองแก้ว ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนายธนพล นิลยกานนท์ นายอำเภอเมืองลำพูน ร่วมเป็นประธานเปิดงาน 1 ศตวรรษป่าชุมชนบ้านทุ่งยาว หมู่ 7 บ้านทุ่งยาว ต.ศรีบัวบาน อ.เมืองลำพูน

หลังพิธีเปิดมีการแสดงของเยาวชนฟ้อนแบบประเพณีชาวยองลำพูน, การปาฐกถาพิเศษ และเวทีเสวนา “คนกับป่า อยู่อย่างไรจะยั่งยืน เชื่อมโยงระดับนโยบายและความเป็นรูปธรรม” จากนั้นได้มีการประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดลำพูน ว่าภาคประชาชนที่ร่วมพัฒนาเครือข่ายป่าชุมชน จะร่วมสืบสานเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษในการดูแลรักษาป่าชุมชนที่ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบนพื้นฐานจารีตประเพณี ความเชื่อของท้องถิ่น ทั้งป่าชุมชนในเขตป่าสงวน และเขตอนุรักษ์ สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ให้เกิดพื้นที่รูปธรรม และเพิ่มจำนวนป่าชุมชนที่สอดคล้องกับภูมินิเวศวัฒนธรรมท้องถิ่นทั่วประเทศ เป็นชุมชนแห่งอนาคตที่ปฏิบัติได้จริง โดยจะร่วมกับองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม นักวิชาการ ราชการ ท้องถิ่น ท้องที่ในการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่เพื่อยกระดับการจัดการป่าชุมชน และขับเคลื่อนป่าชุมชนไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน อนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น เพื่อใช้ประโยชน์ทางอาหารและยา พลังงานทางเลือก เศรษฐกิจฐานราก ให้ยั่งยืนตลอดไป

ทั้งนี้ “บ้านทุ่งยาว” มีการอนุรักษ์ป่าชุมชนมาตั้งแต่ปี 2458 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาถึง 100 ปี โดยชุมชนได้อพยพเข้ามาจับจองพื้นที่ มีการขุดลอกเหมืองฝายเพื่อทำกินจนเจอตาน้ำ ซึ่งชาวเหนือเรียกว่า “น้ำชำ” และเชื่อว่า มีผีดูแลอยู่ จึงเข้ามากราบไหว้และพัฒนาความเชื่อแบบท้องถิ่น จนกลายเป็นเขตหวงห้าม และพัฒนาเป็นป่าชุมชนในเวลาต่อมาจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ความพยายามปกป้องป่าชุมชนบ้านทุ่งยาว ผ่านการต่อสู้กับปัญหาการบุกรุกหลายครั้ง ทำให้ชาวบ้านต้องออกไปประท้วงต่อการทำลายป่าและเฝ้าระวังตลอดมา จนปัจจุบันกลายเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับป่าที่เป็นแหล่งดูงานของนานาชาติ สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย

ชุมชนแห่งนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ป่าจากสถาบันลูกโลกสีเขียว ประเภทบุคคลคือ “นางภาคี วรรณสัก” สตรีผู้ที่มีบทบทยุคปัจจุบัน ซึ่งได้สืบทอดการเป็นผู้นำให้แก่ลูกชาย คือ “นายทรัพย์อนันต์ วรรณสัก ผู้ใหญ่บ้านทุ่งยาว คนปัจจุบัน”

ขณะนี้ ชุมชนแห่งนี้กำลังเน้นการสร้างคนรุ่นใหม่สืบทอดการอนุรักษ์ป่าต่อไปในอีก 100 ปีข้างหน้า ภายใต้การพัฒนาแนวคิดจากเดิมที่ใช้เป็นแหล่งอาหาร และการพึ่งพาปัจจัย 4 มาเป็นแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก ลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ







กำลังโหลดความคิดเห็น