xs
xsm
sm
md
lg

อันเนื่องมาจากเรื่องการทำลายป่าและฆ่าวิถีชาวบ้านของโครงการอีสานเขียว

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

เวลาเราเดินทางไปต่างประเทศ เราถูกห้ามมิให้นำพืชและสัตว์ติดตัวเข้าไปในประเทศอื่น ทั้งนี้เพราะพืชและสัตว์จากต่างถิ่นอาจนำเชื้อโรคติดไป หรือไม่ก็อาจไปขยายพันธุ์จนถึงขั้นทำลายระบบนิเวศของผู้อื่นจนย่อยยับ การทำลายของพืชและสัตว์จากต่างถิ่นนี้มีประวัติมาช้านาน แต่ประสบการณ์ชี้บ่งว่า มันยังเกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะความไม่เข้าใจ การรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความประมาทของมนุษย์

ในช่วงเวลากว่า 5 ทศวรรษตั้งแต่เราเริ่มเร่งรัดพัฒนาประเทศ เราทำโครงการสารพัดอย่างในนามของการพัฒนา โครงการจำพวกนี้มักมีชื่อเพราะพริ้งเพื่อหวังผลในด้านการประชาสัมพันธ์ โครงการอีสานเขียวก็อาจจัดอยู่ในแนวนี้ด้วย ชื่อนั้นสะดุดตาสะดุดใจเพราะมันชี้บ่งไปที่การแก้ปัญหาความแห้งแล้งที่ทำให้พื้นดินภาคอีสานเป็นสีน้ำตาลอย่างแพร่หลาย ทั้งที่ในความเป็นจริงโครงการนั้นเป็นการตัดต้นไม้ทำลายป่าดั้งเดิมเพื่อนำที่ดินมาใช้ปลูกต้นไม้ที่มิใช่พันธุ์ไม้พื้นเมืองสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอื่น หนึ่งในพันธุ์ไม้นั้นได้แก่ยูคาลิปตัสซึ่งนำมาจากต่างประเทศ การปลูกไม้ชนิดนั้นไม่ต่างกับการชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน ชาวอีสานกำลังใช้กรรม

ผมเพิ่งได้รับเรื่องราวจากภาคอีสานเกี่ยวกับโครงการปกป้องป่าของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเขียนโดย พ.อ.หญิงชดาษา พนาเวศร์ เรื่องนี้คงมีรายละเอียดอีกมากและควรจะได้รับความใส่ใจจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล นักวิชาการ องค์กรเอกชน หรือนักเคลื่นไหวทางสังคม ผมเห็นว่าเนื้อหาเท่าที่นำมาปันกันต่อไปนี้มีสาระพอที่เราจะช่วยกันนำไปคิดและสานต่อได้จึงไม่รอรายละเอียดที่จะมีตามมา

ข้อเขียนของ พ.อ.หญิงชดาษา มีดังนี้

ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กอ.รมน. (ศปป. 4 กอ.รมน.) รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงพิเศษซึ่งหนึ่งในนั้นคืองานการปกป้องทรัพยากรป่าไม้ ศปป. 4 กอ.รมน. ได้ขับเคลื่อนกลไกการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่และทำลายทรัพยากรป่าไม้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ตลอดมาและพบว่าสามารถยับยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเฉพาะช่วงที่เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจจับเท่านั้น ในทางปฏิบัติเพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทย งานนั้นจำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างมาก นอกจากนั้น การบุกรุกและทำลายทรัพยากรป่าไม้ได้มีการพัฒนาไปสู่การดำเนินการในรูปแบบของกระบวนการอันเป็นการกระทำผิดร่วมกันของนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลนอกพื้นที่ ประชาชนในพื้นที่ และข้าราชการที่หวังประโยชน์ส่วนตน มีการพัฒนาเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพสูงในการบุกรุกทำลายป่าไม้ กล่าวได้ว่า ต้นไม้ใหญ่อายุนับร้อยปีถูกตัดโค่นทำลายโดยใช้เวลาไม่เกิน 10 นาทีเท่านั้น ดังนั้น การตรวจจับแล้วนำมาดำเนินคดีและรอการยึดพื้นที่คืนจึงยังไม่ใช่แนวทางหลักที่จะสามารถหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าไม้ได้อย่างถาวร

พลโทคณิต อุทิตสาร ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กอ.รมน. ได้กล่าวถึงยุทธวิธี 4 ป. ที่ ศปป. 4 พยายามผลักดันให้ใช้เป็นแนวทางในการปกป้องป่าด้วยการปฏิบัติการไปพร้อมๆ กันระหว่าง การปราบปราม การปลูกจิตสำนึก การปลูกป่าและการปรับเปลี่ยนนโยบายมองดูแล้วอาจเหมือนหลักการที่กำหนดไว้ในแผนทั่วๆ ไปซึ่งยากที่จะชัดเจนในการปฏิบัติ ดังนั้น เพื่อให้ยุทธศาสตร์ 4 ป. เกิดเป็นรูปธรรมชัดเจนและนำไปใช้เป็นแบบอย่างการดำเนินการได้จริงในพื้นที่ป่าไม้ทั่วทุกภาคของประเทศ ผอ.ศปป. 4 จึงได้ให้มีการสำรวจพื้นที่ กอ.รมน. จังหวัดต่างๆ เพื่อค้นหาต้นแบบที่ดำเนินการตามแนว 4 ป. อย่างจริงจังและเกิดผลต่อการปกป้องป่าอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน จากผลการสำรวจ ศปป. 4 กอ.รมน.ได้คัดเลือกพื้นที่ กอ.รมน. จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นแบบอย่างของการดำเนินการปกป้องป่าด้วยยุทธวิธี 4 ป. เนื่องจากจังหวัดร้อยเอ็ดมี “กลุ่มจิตอาสาพิทักษ์ป่าดงทำเล-ดอนใหญ่”

กลุ่มจิตอาสาพิทักษ์ป่าดงทำเล-ดอนใหญ่ มีสมาชิกทั้งหมดเป็นชาวบ้านในบ้านหนองบั่ว หมู่ที่ 5 ตำบลช้างเผือก อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อทีมงานประชาสัมพันธ์ของ ศปป. 4 กร.รมน. เดินทางถึงพื้นที่ บ้านหนองบั่วก็ต้องตื่นตาตื่นใจกับความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้เนื่องจากการเดินทางไปหลายพื้นที่ทำให้ทุกคนทราบดีว่า ประเทศไทยแทบจะไม่หลงเหลือความอุดมสมบูรณ์ของการเป็นป่าชุมชนอีกเลย เราตระหนักดีว่าเมื่อใดที่คนอยู่กับป่า เมื่อนั้นความเป็นป่าแทบไม่เหลือหรอ แต่ที่นี่ ที่บ้านหนองบั่ว ไม่ใช่แน่นอน (ภาพ 1-3)



ด้วยเหตุนี้ ทางทีมงานจึงตัดสินใจร่วมกันว่าจะใช้พื้นที่แห่งนี้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เป็นแบบอย่างของความเป็นจิตสำนึกสาธารณะในการพิทักษ์รักษาป่าไม้ด้วยการจัดเวทีชาวบ้านโดย ศปป. 4 กอ.รมน. เป็นหน่วยประสานการปฏิบัติ

การจัดเวทีชาวบ้านนับว่าประสบผลสำเร็จ หลายฝ่ายเข้าร่วมเวทีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ ประชาชนชาวหนองบั่ว ชาวบ้านในหมู่บ้านข้างเคียงและสื่อมวลชนทั้งสื่อในพื้นที่และสื่อหลักระดับประเทศ โดยตั้งประเด็นการสนทนาว่า “ผู้ที่จะรักษาผืนป่าได้ดีที่สุดคือคนในชุมชนนั่นเอง” เวทีดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อ 1 เมษายน ที่ผ่านมาโดยได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดีซึ่งมีรายละเอียดมากมาย ผู้เขียนตั้งใจจะเขียนเรื่องการจัดเวทีชาวบ้านไว้เป็นบทความเฉพาะ แต่สิ่งที่ทีมงานประชาสัมพันธ์ ศปป. 4 กอ.รมน. ได้รับรู้จากการจัดเวทีชาวบ้านครั้งนี้และถึงกับต้องอึ้งกันไปตามๆ กันคือ เมื่อทีมงานได้พบกับลุงสม บุญสงกา ผู้นำของหมู่บ้านหนองอ่างซึ่งได้ขอเข้าร่วมเวทีชาวบ้านครั้งนี้กับบ้านหนองบั่วด้วย

ลุงสมได้เข้าร่วมเวทีชาวบ้านและไปรอพบทีมงาน เพื่อต้องการให้ไปรับรู้ปัญหาของหมู่บ้านหนองอ่างซึ่งไกลจากบ้านหนองบั่วประมาณ 40 กิโลเมตร แต่ก็ยังอยู่ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ดเช่นกัน ทีมงานจึงตัดสินใจแวะไปเยี่ยมเยียนบ้านหนองอ่างก่อนที่ทีมงานจะเดินทางกลับ ทีมงานถึงกับต้องตกตะลึงอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ต่างจากครั้งแรกแบบหน้ามือเป็นหลังมือก็ว่าได้ ผู้เขียนต้องใช้คำว่า “โศกนาฎกรรมป่า” จึงน่าจะเหมาะสมที่สุดเพราะภาพที่เราเห็นตรงหน้าเมื่อเดินทางไปถึงบ้านหนองอ่างคือ ความเป็นทะเลทรายบริเวณกว้างสุดลูกหูลูกตาเลยทีเดียว (ภาพ 4-6)



ลุงสม เล่าว่า “โครงการอีสานเขียว” ทำให้พื้นที่ 4,100 ไร่แห่งนี้ซึ่งเคยเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ให้มีสภาพดังที่เห็นเนื่องจากเมื่อประมาณ ปี 2528 ทางการได้มาบอกว่ามีนโยบายพัฒนาอีสานโดยการถากถางป่าแล้วเอาต้นยูคาลิปตัสมาปลูกทดแทน เหลือแค่พื้นที่ป่ารอบบริเวณวัดประมาณไม่ถึง 400 ไร่เท่านั้นเพราะเจ้าอาวาสท่านขอไว้ มาถึงวันนี้จึงคงเหลือร่องรอยความเป็นป่าสมบูรณ์เพียงไม่ถึง 400 ไร่รอบบริเวณวัดเท่านั้น ส่วนอีกสามพันกว่าไร่ได้กลายเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม สภาพที่ทีมงานเห็นคือ ต้นยูคาลิปตัสถูกตัดเหลือแต่ตอ แต่ก็ยังไม่ตายและพื้นดินก็เป็นดินคล้ายผงแป้งที่ไม่สามารถเก็บความชุ่มชื้นไว้ได้อย่างแน่นอน

ลุงสม เล่าต่อว่า ในอดีตชาวหนองอ่างเคยอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ พืชพันธุ์ธัญญาหารเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่มีการนำยูคาลิปตัสมาปลูกเป็นพืชทดแทน ไม่มีอาหารให้ชาวบ้านได้เข้าไปนำออกมาบริโภคอีกเลย การดำรงชีวิตของชาวหนองอ่างเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ชาวบ้านเกิดความโกรธแค้นจึงพากันเข้าไปตัดฟันต้นยูตาลิปตัส จนเหลือแต่ตออย่างที่ปรากฏในภาพ นับเป็นการซ้ำเติมให้เกิดความเสื่อมโทรมมากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้ชาวหนองอ่างพยายามรวมตัวกันเรียกร้องให้ทางการนำป่าไม้กลับคืนมาสู่แผ่นดินบ้านหนองอ่างอีกครั้ง

เรื่องราวของทั้งสองหมู่บ้านที่ทีมงานประชาสัมพันธ์ของ ศปป. 4 กอ.รมน.ได้สัมผัสมานั้นแม้จะอยู่ห่างกันเพียง 40 กิโลเมตร แต่สภาพแวดล้อมต่างกันโดยสิ้นเชิง บ้านหนองบั่วซึ่งชาวบ้านรวมตัวกันปกป้องผืนป่าท่ามกลางอิทธิพลมากมายที่ชาวบ้านต้องฝ่าฟันอุปสรรคอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารรวมทั้งเห็ด ผัก ไข่มดแดงและปลาซึ่งชาวบ้านแสวงหาได้โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อ ส่วนบ้านหนองอ่างแห้งแล้งกันดาร ชาวบ้านต้องหาอาชีพอื่นเสริมเพื่อหารายได้มาจับจ่ายซื้ออาหารประจำวัน พ่อเฒ่าแม่เฒ่าชาวหนองอ่างยังจำได้ดีถึงวิถีชีวิตที่เคยอุดมสมบูรณ์รวมทั้งสมุนไพรที่ได้ถ่ายทอดความรู้ต่อกันมาหลายชั่วอายุคน อาชีพทำยาสมุนไพรของบ้านหนองอ่างยังคงดำรงอยู่ แต่วัตถุดิบหรือพืชพันธุ์ต่างๆ ต้องไปซื้อหามาจากที่อื่น ชาวบ้านแห่งนี้มีการรวมตัวเช่นกัน แต่เพื่อเรียกร้องให้ทางการช่วยนำผืนป่ากลับคืนมาเพราะพวกเขาเชื่อว่าป่าของพวกเขาโดนปล้นไปโดยทางราชการ ทั้งสองหมู่บ้านคล้ายคลึงกันตรงที่มีจิตสำนึกในคุณค่าของป่าไม้และทั้งสองหมู่บ้านคงยังต้องการความช่วยเหลืออย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กอ.รมน. จังหวัดร้อยเอ็ดและ ศปป. 4 กอ.รมน ได้เข้าไปเพื่อประสานการปฏิบัติ ให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนชาวบ้านบ้านหนองบั่วถึงกับลั่นวาจาว่า “ถ้าตราบใดยังมีหน่วยงานราชการและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม มีความจริงจังและจริงใจ ตลอดจนเป็นมิตรที่ดีอยู่อย่างนี้จะไม่ยอมให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยโดยเด็ดขาดและพร้อมที่จะอุทิศชีวิต เพื่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ไว้จนสุดความสามารถ” สำหรับบ้านหนองอ่างนั้นจะเป็นเป้าหมายต่อไปในการเร่งประสานการปฏิบัติของ ศปป. 4 กอ.รมน.และ กอ.รมน. จังหวัดร้อยเอ็ด ขณะที่เขียนบทความนี้ ผู้เขียนได้เช็กไปยัง กอ.รมน. จังหวัดร้อยเอ็ด มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า กอ.รมน. จังหวัดร้อยเอ็ดได้ประสานให้เกิดกิจกรรมคืนผืนป่าสู่บ้านหนองอ่างโดยจะเริ่มมีการปลูกกล้าไม้หลากหลายชนิดในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้

นอกจากนั้น เป็นที่น่ายินดีที่ได้มีการพูดคุยกันระหว่างชาวบ้านของสองหมู่บ้านเพื่อวางกรอบความร่วมมือกันต่อไป ในเบื้องต้นบ้านหนองบั่วจะช่วยเหลือบ้านหนองอ่างทางด้านการปลูกป่าและแบ่งปันประสบการณ์ในการรักษาป่า ส่วนชาวบ้านหนองอ่างจะถ่ายทอดความรู้ทางด้านสมุนไพรให้ชาวบ้านหนองบั่วเป็นการตอบแทน

เรื่องราวที่ พ.อ.หญิงชดาษา เล่ามาข้างบนนี้มีประเด็นชวนคิดมากมาย โอกาสหน้าผมจะนำมาขยายเพิ่มเติม วันนี้ขอชี้ให้เห็นในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นซึ่งผมเขียนถึงเมื่อสัปดาห์ก่อน นั่นคือ ภาวะโลกร้อนซึ่งจะมีผลกระทบทางลบต่อเมืองไทยอย่างใหญ่หลวง ตอนนี้มีแนวคิดที่จะปลูกป่าในพื้นที่ซึ่งมีลักษณะคล้ายทะเลทรายของบ้านหนองอ่าง ผมมองว่าถ้าการปลูกป่าทำไปพร้อมกับการขุดสระน้ำจำนวนมากไว้ในพื้นที่กว่าสามพันไร่นั้น มันจะทำให้พื้นดินมีความชุ่มชื้นตลอดปีและต้นไม้มีโอกาสรอดและเติบโตเร็วขึ้นจนส่งผลให้พื้นที่กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อย่างรวดเร็ว หากลักษณะพื้นที่อำนวยให้ทำได้ การขุดสระน้ำพร้อมการปลูกต้นไม้ควรทำควบคู่กันไปทั่วประเทศ
"คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน"  กรมป่าไม้-ราชบุรีโฮลดิ้ง-ชุมชน ชูแนวทางพอเพียง
"คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน" กรมป่าไม้-ราชบุรีโฮลดิ้ง-ชุมชน ชูแนวทางพอเพียง
เมื่อเร็วๆ นี้ กรมป่าไม้ ร่วมกับผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และชุมชนทั่วประเทศ ขยายป่าชุมชนสกัดปัญหาการทำลายป่า โดยตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ป่า 40% ของทั้งประเทศภายในปีนี้ เผยป่าชุมชนบ้านดงห้วยเย็น จ.ลำพูน คว้ารางวัลป่าชุมชนชนะเลิศระดับประเทศ ในโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2556 ขณะที่ป่าชุมชนบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 จ.นราธิวาส คว้ารางวัลป่าชุมชนดีเด่นด้านการจัดการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รางวัลพิเศษที่ชูแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการจัดการใช้ประโยชน์จากป่า
กำลังโหลดความคิดเห็น