หลังหลับนาน 31 เดือน “โรเซตตา” ยานสำรวจดาวหางของยุโรปก็ส่งสัญญาณกลับโลก และตอนนี้ทีมวิศวกรกำลังปรับจูนยานเพื่อเตรียมพร้อมในการเข้าใกล้ดาวหางเป้าหมายในเดือน ส.ค.นี้ พร้อมเตรียมส่งยานแลนเดอร์จอดดาวหางในเดือน พ.ย.
สัญญาณยืนยันสถานะ “ตื่น” ของยานโรเซตตา (Rosetta) ยานตามดาวหางดวงแรกของโลก ส่งกลับมาถึงศูนย์ควบคุมในเยอรมนี เมื่อเข้าสู่วันใหม่ของวันที่ 21 ม.ค.นี้ หลังจากหลับใหลนานถึง 31 เดือนเพื่อประหยัดพลังงาน ระหว่างการเดินทางสู่ดาวหาง 67พี/ชูริวมอฟ-เกราซิเมนโก (Comet 67P/Churyumov-Gerasimenko) ดาวหางเป้าหมาย
บีบีซีนิวส์รายงานว่า ตอนนี้ทีมวิศวกรได้ปรับวิถีโคจรยานอวกาศขององค์การอวกาศยุโรป (อีซา) เพื่อเตรียมพร้อมการเข้าใกล้ดาวหางในเดือน ส.ค.นี้ และจุดเด่นของภารกิจนี้คือการส่งยานหุ่นยนต์ลงจอดขนาดเล็กชื่อ “ฟิเล” (Philae) บนพื้นผิวดาวหางที่มีความกว้าง 4.5 กิโลเมตร ในเดือน พ.ย.
ทั้งนี้ สัญญาณที่ส่งมาจากยานโรเซตตาจะถูกรับด้วยจานรับสัญญาณดาวเทียมขนาด 70 เมตรขององค์การอวกาศสหรัฐฯ จากนั้นจึงส่งกลับมายังศูนย์ควบคุมของอีซาในเยอรมนี กระบวนการรับส่งสัญญาณนั้นใช้นานถึง 45 นาที ซึ่งหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ของอีซาจะใช้เวลาอีกหลายวันในการสื่อสารกับยานเพื่อให้ “ตื่น” อย่างเต็มที่
ยานโรเซตตาถูกปรับเข้าสู่ภาวะจำศีลเมื่อ มิ.ย.2011 เนื่องจากเส้นทางโคจรในระบบสุริยะทำยานต้องอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากจนแผงเซลล์แสงอาทิตย์สร้างพลังงานได้น้อย จึงนำไปสู่การตัดสินใจทำให้ยานเข้าสู่ภาวะหลับลึก และตอนนี้ยานได้โคจรกลับมาเข้าใกล้ดวงอาทิตย์อีกครั้ง จึงพลังงานมากพอให้ควบคุมและใช้งานยานต่อได้
ทว่า แอนเดรีย แอคคอแมซโซ (Accomazzo) ผู้จัดการปฏิบัติการควบคุมยานโรเซตตา กล่าวว่าจากนี้ไปถึงกลางเดือน มี.ค.พวกเยายังมีแผนใช้ยานอวกาศทำสิ่งใด มีเพียงแค่การตรวจสอบในเบื้องต้น แต่หลังจากนั้นไปจนสิ้นเดือน เม.ย.พวกเขาจะเปิดการทำงานของเครื่องมือต่างๆ ทีละส่วน ทำการตรวจสอบ และบางอย่างอาจต้องมีการปรับปรุงซอฟต์แวร์
“จากเดือน พ.ค.โรเซตตาจะเริ่มจุดเครื่องยนตร์ขับเคลื่อนเพื่อเข้าสู่ดาวหาง 67พี ตอนนี้เราควบคุมยานที่ระยะห่าง (ระหว่างยานและดาวหาง*) 9 ล้านกิโลเมตร แต่ในกลางเดือน ก.ย.ระยะห่างจะลดลงเหลือ 10 กิโลเมตร” แอคคอแมซโซระบุ (*เพิ่มเติม)
สำหรับยานโรเซตตานั้นถูกส่งขึ้นไปตั้งแต่ปี 2004 จากฐานปล่อยจรวดในเฟรนซ์เกียอานา (French Guiana) โดยสเปซด็อทคอมระบุว่า ยานอวกาศลำนี้ได้โคจรรอบดวงอาทิตย์ 5 รอบแล้ว คิดเป็นระยะทาง 800 ล้านกิโลเมตร ส่วนข้อมูลจากบีบีซีนิวส์บอกว่า ยานอวกาศยังได้ทำปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ อย่างการเข้าใกล้ดาวเคราะห์น้อย 2 ดวง คือ ดาวเคราะห์น้อยสไตน์ส (Steins) ในปี 2008 และดาวเคราะห์น้อยลูทีเชีย (Lutetia) ในปี 2010
ทั้งนี้ ดาวหางประกอบด้วยแกนหลางหรือนิวเคลียส (nucleus) ที่เป็นของแข็ง และมีก๊าซห่อหุ้มรอบๆ เรียกก๊าซเหล่านั้นว่า “โคมา” (coma) และมีหาง ซึ่งตามแผนยานโรเชตตาจะเข้าใกล้ดาวหาง 67พี เมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ เพื่อจับตาดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับดาวหาง ส่วนยานลงจอดฟิเล จะรายงานการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวดาวหาง
จากภาพด้านบน
ภาพซ้าย คือ กำหนดภารกิจของ “โรเซตตา” ยานตามหาง
1.ม.ค.2014 – โรเซตตาตื่นจากภาวะจำศีล
2.ส.ค.2014 – โรเซตตาเข้าใกล้และโคจรรอบดาวหาง
3.พ.ย.2014 – ส่งยานลงจอดบนดาวหาง
4.ส.ค.2015 – เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด
5.ธ.ค.2015 - สิ้นสุดปฏิบัติการ
(เส้นประสีขาวในภาพซ้ายคือเส้นโคจรของยานโรเซตตา เส้นประสีส้มคือวงโคจรของดาวอังคาร และเส้นสีน้ำเงิน คือวงดคจรของโลก)
ภาพขวาบน จำลองปฏิบัติการของยานโรเซตตาและยานลงจอดฟิเลเมื่อเข้าใกล้ดาวหาง
ภาพขวากลาง จำลองภารกิจของยานลงจอดฟิเล
ภาพขวาล่าง เป็นภาพ 3 มิติของนิวเคลียสดาวหาง 67 พี ที่สร้างขึ้นจากข้อมูลกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 x4.5 กิโลเมตร