xs
xsm
sm
md
lg

เผยภาพ “ดาวหาง” จากยานตามล่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพดาวหาง 67พี/ชูริวมอฟ-เกราซิเมนโก อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม ในกลุ่มดาวคนแบกงู  (เอเอฟพี/อีซา)
อีซาเผยภาพ “ดาวหาง” จากกล้องบนยานลงจอดดาวหางที่ถูกปลุกให้ตื่น เตรียมพร้อมปฏิบัติการลงยานลงจอดดาวหาง พ.ย.นี้

องค์การอวกาศยุโรป (อีซา) เผยภาพดาวหาง 67พี/ชูริวมอฟ-เกราซิเมนโก (Comet 67P/Churyumov-Gerasimenko) ที่บันทึกด้วยกล้องมุมกว้าง OSIRIS ที่ติดตั้งบนยานฟิเล (Philae) ซึ่งเป็นยานลงจอดดาวหางที่ติดตั้งอยู่บนยานตามล่าดาวหางโรเซตตา (Rosetta) ของอีซา ที่ถูกส่งขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน เพื่อตามล่าดาวหางดวงนี้

ยานแม่โรเซตตาจะส่งยานฟิเลลงจอดบนดาวหางดังกล่าวในเดือน พ.ย.2014 ซึ่งตามรายงานของเอเอฟพีระบุว่า ยานดังกล่าวเพิ่งถูกปลุกให้กลับขึ้นมาทำงานอีกครั้งเมื่อ 28 มี.ค.ที่ผ่านมาหลังจากถูกสั่งให้ “จำศีล” นาน 3 ปี เช่นเดียวกับยานแม่และอุปกรณ์อื่นๆ โดยโรเซตตานั้นเพิ่งถูกปลุกขึ้นเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

โรเซตตาจะแบกยานฟิเลไปถึงดาวหางยักษ์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 กิโลเมตรในเดือน ส.ค.นี้ จากนั้นจะใช้เวลาศึกษาและทำแผนที่ของดาวหางก่อนส่งยานไปลงจอด ซึ่งบีบีซีนิวส์ระบุว่ายานฟิเลจะใช้อุปกรณ์คล้ายฉมวกและและสว่านเจาะน้ำแข็งเพื่อดึงตัวเองลงไปยังดาวหาง เนื่องจากเป้าหมายมีแรงดึงดูดต่ำมาก

ก่อนหน้านี้ยานล่าดาวหางถูกส่งไปตามล่าดาวหาง 67พี/ชูริวมอฟ-เกราซิเมนโก แต่ด้วยระยะที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากทำให้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ผลิตพลังงานได้ไม่เพียงพอ ทางทีมวิศวกรจึงตัดสินใจปิดการทำงานของยานเป็นเวลา 31 เดือน

เมื่อยานโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์อีกครั้ง อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกปิดไว้จึงถูกเปิดขึ้นอีกครั้งทีละระบบ แต่ส่วนใหญ่ก็จะถูกปิดการทำงานอีกหลังจากตรวจเช็คเบื้องต้นแล้ว เนื่องจากพลังงานที่เหลืออยู่เพียงพอสำหรับใช้งานในระยะสั้น ยกเว้น OSIRIS ซึ่งเป็นระบบบันทึกภาพหลัก และทำหน้าที่ช่วยหาตำแหน่งที่ถูกต้องของดาวหางเป้าหมาย 

สำหรับภาพที่เผยแพร่นั้นเป็นภาพดาวหาง 67พี/ชูริวมอฟ-เกราซิเมนโก ที่อยู่ในตำแหน่งกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus) ที่ระบบกล้อง OSIRIS บันทึกไว้เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา


ภาพดาวหาง 67พี/ชูริวมอฟ-เกราซิเมนโก อยู่ในกรอบวงกลม ในกลุ่มดาวคนแบกงู (เอเอฟพี/อีซา)






กำลังโหลดความคิดเห็น