สำหรับช่วงฤดูกาลแห่งการถ่ายภาพ Star Trails ในช่วงนี้หลายท่านคงพบกับปัญหาไอน้ำเกาะหน้ากล้อง ซึ่งหากวันไหนที่ความชื้นในอากาศสูงๆ แล้ว เราตั้งกล้องเพียงไม่กี่นาทีก็อาจมีไอน้ำเกาะหน้ากล้องเอาง่ายๆ ทำให้ภาพที่เราอดทนถ่ายภาพกกว่า 2-3 ชั่วโมงเสียหมด ซึ่งในช่วงนี้อากาศเริ่มเย็นลงตั้งแต่หัวค่ำทำให้เกิดไอน้ำได้ง่าย จึงทำให้การถ่ายภาพ Star Trails ในช่วงนี้ควรใช้ความระมัดระวังไอน้ำ หรือฝ้าหน้ากล้องเป็นพิเศษ สำหรับการเกิดฝ้าหรือไอน้ำหน้ากล้องนั้น เกี่ยวข้องกับความชื้นและอุณหภูมิในอากาศดังนี้
ไอน้ำหน้ากล้องเกิดขึ้นได้อย่างไร
เนื่องจากอากาศเย็นมีความสามารถเก็บไอน้ำได้น้อยกว่าอากาศร้อน เมื่ออุณหภูมิของอากาศลดลงจนถึงจุดน้ำค้าง อากาศจะอิ่มตัวไม่สามารถเก็บไอน้ำได้มากกว่านี้ หากอุณหภูมิยังคงลดต่ำไปอีก ไอน้ำจะควบแน่นเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว อย่างไรก็ตามนอกจากปัจจัยทางด้านความดันและอุณหภูมิแล้ว การควบแน่นของไอน้ำยังจำเป็นจะต้องมี “พื้นผิว” ให้หยดน้ำ (Droplet) เกาะตัว ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออุณหภูมิของอากาศบนพื้นผิวลดต่ำกว่าจุดน้ำค้าง ไอน้ำในอากาศจะควบแน่นเป็นหยดน้ำเล็กๆ เกาะบนใบไม้ใบหญ้าเหนือพื้นดิน หรือหน้ากล้องของเรานั่นเอง
ในการถ่ายภาพ Star Trails นั้น เราจำเป็นต้องตั้งกล้องทิ้งไว้นานหลายๆ ชั่วโมง เมื่ออุณหภูมิของอากาศลดลง และกล้องของเราก็จะเย็นลงด้วยเช่นกัน เมื่ออุณหภูมิยังคงลดต่ำไปอีก ไอน้ำจะควบแน่นเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว เกิดเป็นไอน้ำเกาะที่ผิวหน้าเลนส์ของเรานั่นเอง นี่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับการถ่ายภาพ Star Trails เลยก็ว่าได้
ดังนั้น จากหลักการทางวิทยาศาสตร์ง่ายๆ นี้ เราก็สามารถอธิบายได้ว่าเหตุใด เวลาตั้งกล้องถ่ายภาพไว้นานๆ ในสถานที่มีอากาศหนาวเย็น จึงมักมีไอน้ำเกาะหน้าเลนส์
ที่ผ่านมาผมใช้อุปกรณ์กันไอน้ำเกาะหน้าเลนส์ ที่เรียกกันว่า “แถบความร้อน” ที่ใช้พันบริเวณหน้ากล้อง เพื่อให้ผิวหน้าเลนส์มีเย็นจนเกิดไอน้ำเกาะหน้ากล้อง แต่อุปกรณ์ชนิดนี้หาซื้อได้ค่อนข้างยาก บ้านเราไม่ค่อยมีใครเอามาขาย และราคาก็ค่อนข้างแพงอีกด้วย ทั้งยังต้องใช้ไฟค่อนข้างมาก หากต่อกับแบตเตอรี่ขนาดเล็กๆ ทั่วไปก็ใช้งานได้ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น
จากประสบการณ์ที่ถ่ายภาพ Star Trails จะสังเกตเห็นว่าคืนไหนที่อากาศมีลมพัดตลอด วันนั้นอากาศจะแห้ง น้ำค้างก็น้อยมาก (ลองเอาลูบๆ ตามพื้นหญ้าว่าเปียกมากน้อย แค่ไหน) แต่หากวันไหนอากาศนิ่งๆ ไม่มีลมพัด วันนั้นก็มักจะมีน้ำค้างเกาะบนใบไม้ใบหญ้าเหนือพื้นดินค่อนข้างเยอะ
จากการสังเกตเราก็นำเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์ข้างต้น มาสร้างเป็นอุปกรณ์กันไอน้ำเกาะหน้าเลนส์อย่างง่ายๆ โดยการใช้พัดลมจากเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ในการสร้างอุปกรณ์ไล่ฝ้ากันครับ มาดูกันเลย...
อุปกรณ์มีดังต่อไปนี้
1. พัดลมคอมพิวเตอร์ หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายอะไหล่คอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้ไฟเพียง 6 – 12 โวลต์ และกินไปเพียง 0.18 แอมป์ เท่านั้น
2. แบตเตอรี่สำรอง เพาเวอร์แบงค์ (Powerbank)
3. เมาส์เก่าที่เสียแล้ว เราจะนำเอาส่วนของสายไฟที่เป็น USB มาใช้เสียบกับแบตเตอรี่สำรอง
เมื่อหาอุปกรณ์ครบแล้ว เพียงตัดสายเมาส์ต่อกับสายไฟพัดลมเท่านั้น แล้วนำมาเสียบกับแบตเตอรี่สำรอง เพาเวอร์แบงค์ (Powerbank) เพียงเท่านี้ เราก็จะได้อุปกรณ์ไล่ฝ้าหน้ากล้องกันแล้วครับ
กลเม็ดเคล็ดลับ
นอกจากอุปกรณ์ไล่ฝ้าหน้ากล้องที่เราสร้างขึ้นแล้ว อีกวิธีการหนึ่งของการตั้งกล้องถ่ายภาพ Star Trails ให้ได้ผลดีที่สุดที่ควรคำนึงถึงคือ การใช้ “ฮูท” ที่แถมมาให้กับเลนส์ที่สามารถใช้ในการกันน้ำค้างตกบนหน้าเลนส์ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งประเด็นสำคัญคือเราต้องตั้งกล้องในมุมเงยที่ฮูทยังสามารถกันน้ำค้างได้ โดยไม่เงยหน้ากล้องมากเกินไปก็จะช่วยให้ไม่มีไอน้ำเกาะหน้าเลนส์ได้อีกทางหนึ่ง
อีกเคล็ดลับหนึ่งที่ผมใช้คือ หลังจากที่เราตั้งค่าทุกอย่างพร้อมที่จะถ่ายภาพแล้ว ผมจะใช้เสื้อสีขาวๆ พันไว้รอบตัวกล้องเพื่อให้กล้องไม่เย็นมากเกินไปแถมยังกันน้ำค้างได้อีกด้วย ซึ่งวิธีการนี้ผมก็คิดจากหลักการทางวิทยาศาสตร์ทั่วไปครับ จากที่เราทราบกันดีว่าวัสดุที่ผิมสีมีดำนั้น จะดูดความร้อนได้เร็วและขณะเดียวกันมันก็จะคายความร้อนได้เร็วเช่นกัน ซึ่งต่างจากสีขาวที่จะดูดความร้อนช้าและก็คายความร้อนช้า
ดังนั้น กล้องเราก็เป็นสีดำก็จะคายความร้อนได้เร็ว ทำให้กล้องเราเย็นได้ง่ายและก็จะทำให้ไอน้ำเกาะได้ง่ายนั่นเอง ผมเลยเอาผ้าขาวพันไว้ซะเลยเพื่อให้กล้องเย็นช้าลง... “ได้ผลดีทีเดียวครับ”
จากเทคนิคที่กล่าวมาทั้ง 3 ข้อ คือ ใช้ลมเป่าหน้ากล้อง, ใส่ฮูทหน้าเลนส์โดยไม่เงยหน้ากล้องมากเกินไป และใช้ผ้าขาวพันกล้องเอาไว้ ทั้งหมดนี้ผมอยากให้ลองเอาไปใช้กันดูครับ รับรองภาพ Star Trails ที่คุณตั้งใจและอดทนถ่ายหลายๆ ชั่วโมง จะปราศจากฝ้าหน้ากล้องอย่างแน่นอนครับ
(สุดท้ายนี้สำหรับอุปกรณ์นี้ต้องขอบคุณน้องชายที่ทำงานผมเองที่อุตส่าห์แกะเอาพัดลมจากคอมพิวเตอร์เก่า มาสร้างอุปกรณ์ไล่ฝ้าชิ้นนี้ให้ครับ)
เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน