เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมาผมได้รับโทรศัพท์จากบริษัทแคนนอน แจ้งว่ามีกล้องคอมแพคตัวหนึ่งอยากให้เอาไปลองเล่นดู ซึ่งที่คุยกันทางบริษัทแจ้งว่าเป็นกล้องที่ถ่ายดาวได้ ถ่ายทางช้างเผือกก็ได้ มิหนำซ้ำยังถ่ายภาพแบบ Time Lapse Movie ได้อีกด้วย ความรู้สึกแรกผมก็คิดในใจว่า กล้องคอมแพคจะสามารถถ่ายได้จริงหรือ แล้วตอนถ่ายาภาพในช่วงเวลากลางคืนกล้องจะโฟกัสภาพอย่างไร ขนาดกล้องดิจิตอล SLR ยังโฟกัสในที่มืดแบบ “ระบบออโต้” ไม่ได้เลย แต่ก็ไม่เป็นไร ลองดู แล้วผมเองก็แจ้งกับทางบริษัทไว้ว่า ดีไม่ดีอย่างไรผมก็ว่าไปตามนั้น
หลังจากที่คุยกันผมก็ได้ลองค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์ดูว่า เจ้ากล้องคอมแพคที่สามารถถ่ายดาวนั้นคือรุ่นอะไร และมีกล้องคอมแพคตัวไหนบ้างในท้องตลาดที่มันสามารถ่ายดาวได้อีก จากที่ค้นดูข้อมูลก็พบว่ามีช่างภาพหลายคนที่ได้ทดลองถ่ายภาพในรูปแบบต่างๆ แต่ยังไม่มีช่างภาพคนไทยคนไหนที่เคยเอาไปลองถ่ายดาวแบบจริงจัง จะมีก็แต่ช่างภาพต่างประเทศเท่านั้น และสำหรับคอลัมน์นี้ผมก็ขออนุญาตเล่าเรื่องการถ่ายดาวด้วยกล้องคอมแพคมารีวิวให้ดูกันว่ามันจะถ่ายได้ในระดับไหนบ้าง และเทคโนโลยีทางด้านการถ่ายภาพพัฒนาไปถึงไหนกันแล้ว
กล้องคอมแพค คือ อะไร
กล้องคอมแพค (ภาษาอังกฤษเขียนว่า Digital Compact) คือกล้องถ่ายรูปแบบดิจิตอล ที่ใช้ง่าย เป็นที่นิยมใช้งานในปัจจุบัน เนื่องจากใช้งานง่าย ราคาถูก ตัวเลนส์ติดกับตัวกล้องไม่สามารถถอดเปลี่ยนได้ รูปทรงของกล้องดิจิตอลชนิดนี้มีลักษณะที่แบนและบาง โดยปกติแล้วขนาดของกล้องประเภทนี้จะขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ที่ใช้ รวมทั้งสื่อบันทึกข้อมูลด้วย ซึ่งกล้องประเภทนี้ถือเป็นกล้องที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เริ่มต้นหัดถ่ายภาพ เพราะจะมีฟังก์ชันในการทำถ่ายภาพที่ไม่ซับซ้อน สามารถถ่ายภาพได้รวดเร็ว และมีความสวยงามในระดับหนึ่ง ปัจจุบันกล้องดิจิตอลคอมแพค มีความสามารถสูงขึ้นใกล้เคียงกับกล้องดิจิตอล SLR
สำหรับกล้องดิจิตอลคอมแพคที่ผมได้รับมานั้นมีชื่อรุ่นว่า Canon PowerShot G16 ทางบริษัทแคนนอนส่งมาให้ (โดยไม่มีคู่มือการใช้ติดมาด้วย...สงสัยลืม 555) ซึ่งผมมีเวลาทดลองถ่ายดาวอยู่ประมาณ 1 อาทิตย์ แต่ท้องฟ้าในช่วงเดือนพฤศจิกายนนั้น มีเพียงไม่กี่วันเท่านั้นที่พอจะถ่ายภาพได้ เนื่องจากอิทธิพลจาก "พายุไห่เยี่ยน" ทำให้ฟ้าปิดเสียส่วนใหญ่
ด้วยคุณลักษณะที่กล่าวข้างต้น ที่ว่ากล้องคอมแพคคือกล้องที่ใช้งานง่าย โดยในกล้องตัวนี้มีฟังก์ชันที่ใช้ในการถ่ายภาพดาว (Star Mode) คือความสามารถพิเศษที่กล้องตัวนี้ ที่ทางแคนนอนอยากให้ผมลองเอาไปถ่ายเล่นดูว่าสามารถใช้งานได้ดีจริงหรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีกล้องดิจิตอลตัวไหนที่สามารถถ่ายภาพแบบอัตโนมัติแค่กดเพียงปุ่มเดียว ซึ่งหากใครที่เคยติดตามคอลัมน์บทความถ่ายภาพดาราศาสตร์ที่ผมได้เขียนไว้ก่อนหน้าเกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Star Trails) ภาพทางช้างเผือก หรือแม้แต่ภาพวิวทิวทัศน์กับวัตถุท้องฟ้า นั้นก็จะมีเทคนิคและวิธีการตั้งค่าต่างๆ ซึ่งสำหรับผู้ที่ไม่เคยถ่ายภาพมาก่อนเลยก็อาจฟังดูยุ่งยากสักหน่อย แต่ด้วยความที่เป็นกล้องดิจิตอลคอมแพคกล้องตัวนี้จึงทำได้เพียงแค่ตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง แล้วเลือก SCN Mode > Star Mode ได้ตามความต้องการ ซึ่งมีทั้งหมด 3 รูปแบบด้วยกัน ดังนี้
1. Star Nightscape การถ่ายภาพกลุ่มดาวบนท้องฟ้าทั่วไป รวมทั้งทางช้างเผือก ในรูปแบบภาพเดียว
2. Star Trails การถ่ายภาพเส้นแสงดาว โดยสามารถตั้งเวลาถ่ายได้นานที่สุดถึง 2 ชั่วโมง จากนั้นซอฟต์แวร์ในตัวกล้องจะรวมภาพให้เป็นภาพเส้นแสงดาวแบบอัตโนมัติ ในรูปแบบไฟล์ JPEG
3. Star Time-Lapse Movie การถ่ายภาพท้องฟ้าหรือภาพอื่นๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือนานสุดที่ 2 ชั่วโมง จากนั้นซอฟต์แวร์ในตัวกล้องสร้างภาพที่ถ่ายทั้งหมดให้เป็นภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบวีดีโอแบบอัตโนมัติ
โดยในการทดสอบการใช้งานทางแคนนอน อยากให้ผมเน้นถ่ายภาพดวงดาว ในฟังก์ชัน Star Mode ซึ่งผมเองก็ได้ลองถ่ายทุกฟังก์ชัน และส่วนตัวผมเองคิดว่ามันใช้งานง่าย ตัดปัญหาของคนที่ไม่เคยถ่ายดาวเลยก็ถ่ายได้ การโฟกัสดาวที่เบลอไม่คมชัดหมดกังวลไปเลยเพราะกล้องจะโฟกัสที่ระยะอินฟินิตีให้โดยอัตโนมัติ รวมทั้งเรื่องของเวลาการเปิดหน้ากล้องและการตั้งค่าความไวแสง (ISO) ขนาดรูรับแสงอีกด้วย
สำหรับการถ่ายภาพ Star Mode กล้องจะทำงานแบบ Auto ทุกอย่าง รวมทั้งการแสดงภาพแบบ Live View ที่มีความไวแสงค่อนข้างมาก ทำให้สามารถจัดองค์ประกอบภาพได้ง่ายมาก เพราะจอสามารถแสดงให้เห็นจุดดาวอย่างชัดเจน ซึ่งต่างจากการมองผ่านจอ Live View ของกล้องดิจิตอล SLR ที่มีความสว่างค่อนข้างน้อย จุดนี้ส่วนตัวผมว่าน่าประทับใจมากครับ เพราะสามารถจัดองค์ประกอบภาพได้ง่าย
จากภาพตัวอย่างข้างต้นผมสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กล้องตัวนี้ได้นำเอาเทคนิคและวิธีของการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์มาไว้ในตัวกล้องเลยทีเดียว เช่น เทคนิคการถ่ายภาพ Dark Frame เพื่อใช้ในการลบสัญญาณรบกวนของภาพ การคำนวณช่วงเวลาการถ่ายภาพที่เหมาะสมกับทางยาวโฟกัสของเลนส์เพื่อไม่ให้ดาวยืดเป็นเส้น และอื่นๆ ล้วนแต่เป็นเทคนิคที่นักดาราศาสตร์ในการถ่ายภาพดวงดาวเกือบทั้งสิ้น
ที่น่าประทับใจอีกข้อคือ แบตเตอรี่กล้องดิจิตอลคอมแพคตัวนี้ “อึดดี” ตรงนี้ผมชอบมาก เพราะตอนแรกที่ได้รับกล้องมา ผมก็ได้มาแค่กล้องกับแบตเตอรีแค่ 1 ก้อน และแอบคิดว่า “จะพอสำหรับถ่ายเส้นแสงดาวหรือ ชั่วโมงเดียวแบตฯ ก็คงหมดแล้วมั้ง” แต่เท่าที่ผมลองใช้มาโดยการถ่ายภาพเส้นแสงดาว Star Trails มา 2 ชั่วโมง แล้วถ่าย Star Time-Lapse Movie อีก 2 ชั่วโมง และก็ไปถ่าย Star Nightscape เพื่อถ่ายดาวหางอีกเกือบชั่วโมง แบตเตอรี่จึงจะหมด ซึ่งรวมแล้วประมาณ 5 ชั่วโมง โดยเทคนิคที่ทำให้ผมถ่ายได้นานขนาดนี้อาจจะเป็นเพราะหลังจากที่ปรับตั้งโหมดการถ่ายภาพเสร็จ และจัดองค์ประกอบภาพเรียบร้อยแล้ว ผมก็ปิดการแสดงภาพที่จอ Display หลังกล้อง เพื่อให้กล้องถ่ายภาพไปเรื่อยๆ โดยไม่สิ้นเปลืองแบตเตอรี่
นอกจากนี้กล้องยังมีระบบการแสดงตัวอักษรที่มีสีแดง ซึ่งไม่รบกวนสายตาเหมาะกับใช้ในเวลากลางคืนอีกด้วย แต่ที่น่าเสียดายคือช่วงเวลาดังกล่าวใจกลางทางช้างเผือกตกไปพร้อมกับดวงอาทิตย์จึงไม่สามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกได้ครับ
ตัวอย่างภาพถ่ายดวงจันทร์ ที่สามารถวัดแสงได้อย่างแม่นยำโดยสามารถแสดงรายละเอียดของหลุมบนดวงจันทร์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งภาพนี้ผมได้ถ่ายผ่านช่องมองภาพของกล้องโทรทรรศน์
สำหรับกล้องคอมแพคตัวนี้ผมขอยกให้เป็นกล้องคอมแพคที่ดีที่สุดของปีนี้ก็ว่าได้ เพราะว่าเหลือเวลาอีกแค่เดือนเดียว คงไม่มีกล้องยี่ห้อไหนกล้าออกมาแข่งแน่ 555 (คงไม่ผิดนะครับถ้ากล่าวแบบนี้....)
นี่คือสิ่งที่ผมรู้สึกดีใจมากๆ เพราะปัจจุบันการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์นั้น ได้เริ่มมีคนให้ความสนใจกันมากขึ้นแล้ว ดังจะเห็นได้จากที่มีบริษัทที่กล้าผลิตกล้องที่มีความสามารถในการถ่ายภาพดาวออกมาอย่างนี้ ก็แสดงว่าผู้คนทั่วโลกเริ่มหันมาชื่นชอบถ่ายดาวกันมากขึ้นครับ...
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน