xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสสุดท้ายล่า “ทางช้างเผือก” ทิ้งทวน

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพแนวทางช้างเผือกพาโนรามา ณ หอดูดาวควบคุมระยะไกล Cerro Tololo Inter- American Observatory (CTIO) ประเทศชิลี โดยผู้ถ่ายภาพถ่ายในแนวตั้ง มาทั้งหมด 3 แถว รวมทั้งหมดจำนวน 52 ภาพ และนำภาพมาต่อกันด้วยโปรแกรม Hugin โดยในภาพจะสามารถสังเกตเห็นแนวทางช้างเผือกพาดผ่ายเต็มท้องฟ้า ซึ่งมีดาวศุกร์สุกสว่างอยู่ข้างหอดูดาว รวมทั้งแสง Zodiacal light ได้อย่างชัดเจน และยังมี กาแล็กซีแมกเจลแลนใหญ่ กับกาแล็กซีแมกเจลแลนเล็ก ในภาพด้านซ้ายอีกด้วย (ภาพโดย : วิภู รุโจปการ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 50mm USM / Focal length : 50 mm. / Aperture : f/2.0 / ISO : 3200 / Exposure : (10s x 52 Images))
ในช่วงนี้ก็เป็นที่ทราบกันว่าใจกลางทางช้างเผือกนั้น เริ่มจะต่ำใกล้ลับขอบฟ้าหลังดวงอาทิตย์ตกไปทุกที ทำให้การถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือกให้อยู่ในมุมสวยๆ หรือกลางภาพนั้นทำได้ยาก ซึ่งหากใครที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการดูดาวมาแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่าตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกนั้นอยู่ใกล้กับขอบฟ้ามาก ซึ่งช่วงนี้ก็ถือว่าเป็นช่วงสุดท้าย และท้ายสุดของการถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือกในปี 2556 นี้ครับ

เราจะสามารถกลับมาถ่ายภาพทางช้างเผือกที่บริเวณใจกลาง หรือระหว่างกลุ่มดาวแมงป่อง กับกลุ่มดาวคนยิงธนูได้อีก ก็ประมาณช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทางทิศตะวันออกในช่วงเช้าครับ ดังนั้น ช่วงนี้หากอย่างรอเวลาครับ ฟ้าเปิด ใสเคลียร์ เมื่อไหร่ออกไปล่าช้างทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไว้เลยครับ เพราะจะอยู่ให้เราได้เห็นถึงวันที่ 5 พ.ย. นี้เท่านั้น หลังจากนี้ก็จะมีแสงของดวงจันทร์รบกวนไปตลอดทำให้ยากต่อการถ่ายภาพแล้วครับ

ถึงแม้ใจกลางทางช้างเผือก ใกล้ลับขอบฟ้าหลังพระอาทิตย์ตกดินเข้ามาทุกที ณ เวลานี้ผมไม่อยากให้ทุกคนสิ้นหวัง หากแต่เราลองมองหาเทคนิคและมุมมองการถ่ายภาพในรูปแบบต่างๆ มาประยุกต์เข้าด้วยกัน เราก็อาจได้ภาพที่น่าประทับใจได้เช่นกัน ดังเช่นภาพที่ผมจะกล่าวถึงในคอลัมน์นี้ เป็นการใช้เทคนิคการถ่ายภาพพาโนรามา มาใช้ในการถ่ายภาพเพื่อให้ได้แนวทางช้างเผือกที่พาดกลางท้องฟ้าได้สวยงามเช่นกัน

ทำความเข้าใจกันก่อน
สำหรับประเทศไทยนั้น ใจกลางทางช้างเผือกอยู่ใกล้บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู โดยจะปรากฏบนท้องฟ้าในตำแหน่งที่เฉียงไปทางใต้ ซึ่งไม่สูงมากนัก หากใครที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศก็จะมีโอกาศสังเกตใจกลางทางช้างเผือกได้ในตำแหน่งที่ค่อนข้างสูงกว่าภูมิภาคอื่น เนื่องจากทางภาคใต้จะสามารถสังเกตเห็นกลุ่มดาวทางซีกฟ้าใต้ได้มากกว่าทางภาคเหนือค่อนข้างมาก

แนวของทางช้างเผือกนั้นพาดผ่านกลุ่มดาวสว่างเช่น กลุ่มดาวค้างคาว (แคสสิโอเปีย) กลุ่มดาวเพอร์เซอุส กลุ่มดาวสารถี กลุ่มดาวคนคู่ กลุ่มดาวกางเขนใต้ กลุ่มดาวแมงป่อง กลุ่มดาวคนยิงธนู กลุ่มดาวนกอินทรี และกลุ่มดาวหงส์ ซึ่งสามารถดูแผนที่ดาวประกอบ โดยแกนหมุนของโลกทำมุมเอียง กับระนาบของกาแล็กซีประมาณ 60 องศา และโลกก็หมุนรอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงมองเห็นทางช้างเผือกพาดยาวข้ามขอบฟ้า โดยมีทิศทางการวางตัวบนท้องฟ้า เปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ตลอดเวลา บางเวลาก็อยู่ในแนวเหนือ-ใต้ บางเวลาก็อยู่ในแนวเฉียง
จากภาพแนวทางช้างเผือกพาดผ่านทั่วท้องฟ้าเหนือพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ บริเวณยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นแนวทางช้างเผือกที่พาดผ่านจากกลุ่มดาว คนยิงธนู นกอินทรี กลุ่มดาวหงส์ แคสสิโอเปีย และเพอร์เซอุส ซึ่งหากลองสังเกตดูดีๆ ภาพนี้จะเห็นกาแล็กซี อยู่ 2 กาแล็กซี ครับ คือ กาแล็กซีทางช้างเผือก + กาแล็กซีแอนโดนเมดา มุมบนด้านขวา เล็กๆ และแสง Zodiacal Light รวมอยู่ด้วย (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / Exposure : (30s x 18 Images))

ช่วงนี้ตอนเย็นท้องฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ใสเคลียร์เมื่อไหร่ ให้สังเกตดาวสว่าง (ดาวศุกร์) ซึ่งเราสามารถสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้ตั้งแต่หัวค่ำขณะที่ท้องฟ้ายังไม่มืด ตรงนั้นแหล่ะครับใจกลางทางช้างเผือก..รีบออกไปจับช้างกันเถอะครับ... เพราะว่าใจกลางทางช้างเผือกจะมีเวลาถ่ายถึงแค่วันที่ 5-6 พ.ย.นี้เท่านั้น ครับ หลังจากนี้แสงดวงจันทร์จะรบกวนและดวงอาทิตย์ก็จะเคลื่อนเข้าใกล้ใจกลางทางช้างเผือก

ส่วนใครที่พลาดการถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ก็ต้องรอไปอีกประมาณ 3 เดือนกว่า ในปลายเดือนกุมพาพันธ์ของปีหน้า ใจกลางทางช้างเผือกก็จะโผล่ออกมาทางทิศตะวันออกอีกครั้งหนึ่งในช่วงรุ่งเช้า โดยเราจะสามารถสังเกตเห็นทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวแมงป่องกับกลุ่มดาวคนยิงธนู ซึ่งเป็นบริเวณของใจกลางทางช้างเผือก

สำหรับช่วงเวลาที่สังเกตทางช้างเผือกได้ดีที่สุดคือ ช่วงปลายเดือนเมษายน ถึงต้นเดือนตุลาคม โดยเราจะสังเกตเห็นทางช้างเผือกเป็นแนวผาดบริเวณกลางฟ้าในช่วงดึกของเดือนดังกล่าว

เทคนิคและวิธีการ
ในการถ่ายภาพทางช้างเผือกนั้นมีวิธีการที่คล้ายกับการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ทั่วไปแต่จะแตกต่างกันตรงที่ เป็นการถ่ายในเวลากลางคืนซึ่งมีแสงน้อยกว่ามากเท่านั้น เราเรียกภาพประเภทนี้ว่าภาพแนว Skyscape และหากใครที่มีกล้องดิจิตอลที่สามารถเพิ่มความไวแสงได้มากๆ ก็จะได้เปรียบในเรื่องความสว่างของภาพและการควบคุม Noise ในภาพอีกด้วย เพราะสามารถเก็บแสงได้เร็วกว่าในเวลาอันสั้น สำหรับการถ่ายภาพทางช้างเผือกแบบพาโนรามานั้นเรามีเทคนิคและวิธีการง่ายๆ ดังนี้ครับ

1. เมื่อทราบแนวทางช้างเผือกแล้ว โดยในช่วงนี้ใช้ดาวศุกร์ เป็นจุดสังเกตตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือก ในการถ่ายภาพอาจรอจนท้องฟ้าเริ่มมืด ไม่มีแสงทไวไลท์แล้ว จึงเริ่มถ่ายภาพ ไม่อย่างงั้นคุณจะเก็บแสงท้องฟ้ามาด้วยจนภาพอาจสว่างโอเวอร์

2. การปรับระยะโฟกัสของเลนส์ควรศึกษาระยะไกลสุด (อินฟินิตี) และปิดระบบโอโตโฟกัสเพราะกล้องจะไม่สามารถหาโฟกัสได้ในตอนกลางคืน รวมทั้งปิดระบบกันสั่นของเลนส์ด้วย

3. เวลาในการถ่ายภาพ โดยใช้เวลาในการเปิดหน้ากล้องนานไม่ควรเกิน 30 วินาที เนื่องจากที่องศาการรับภาพมุมกว้าง เช่น เลนส์ขนาด 18 mm.ซึ่งมีองศาในการรับภาพประมาณ 100 องศา นั้นเวลา 30 วินาทีจะยังคงไม่ทำให้ดาวยืดเป็นเส้น ทั้งยังไม่ทำให้เกิดสัญญาณรบกวนมากเกินไปด้วย

4. รูรับแสงยิ่งกว้าง ยิ่งได้เปรียบ สำหรับการถ่ายภาพทางช้างเผือกควรเลือกใช้ค่ารูรับแสงของเลนส์ที่กว้างที่สุด เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการสร้างภาพได้ดีมากที่สุด เนื่องจากเราจะเปิดหน้ากล้องในการถ่ายภาพไม่เกิน 30 วินาที

5. สำหรับเลนส์มุมกว้าง ส่วนตัวผมแนะนำให้ถ่ายภาพในแนวตั้ง และค่อยๆ แพนกล้องจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทิศตะวันตก หรือจากซ้ายไปขวา เพราะแนวทางช้างเผือกใจกลางจะอยู่ที่ตำแหน่งเกือบใกล้ขอบฟ้า ดังนั้นเราต้องรีบถ่ายบริเวณใจกลางทางช้างเผือกก่อนที่จะเคลื่อนที่ลับขอบฟ้าไป เพราะแนวทางช้างเผือกจะพาดยาวข้ามขอบฟ้า โดยมีทิศพาดจากทิศใต้ผ่านกลางท้องฟ้าขึ้นไปยังทิศเหนือ และเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ตลอดเวลา
ตัวอย่างการถ่ายภาพทางช้างเผือกแบบพาโนรามา ในแนวตั้งโดยเริ่มถ่ายจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทิศตะวันตก หรือจากซ้ายไปขวา ซึ่งผมถ่ายเป็นมุมกว้างกว่า 180 องศา จำนวนทั้งหมด 18 ภาพ โดยจำนวนภาพนั้น ขึ้นอยู่กับความกว้างและความสูงของสิ่งที่เราต้องการถ่ายครับ กว้างมากถ่ายมาก กว้างน้อยถ่ายน้อย และถ้าสิ่งที่เราจะถ่ายทั้งกว้าง ทั้งสูง ก็อาจต้องถ่ายมากกว่า 1 แถว
6. แต่หากใครที่ใช้เลนส์ที่ไวแสงมากๆ ซึ่งทำให้เราใช้เวลาในการถ่ายภาพเร็วมากขึ้น เช่น f/1.4 ซึ่งมักมีมุมรับภาพไม่กว้างมาก ตัวอย่างเช่นเลนส์ 50mm. f/1.4 ผมแนะนำให้ถ่ายภาพในแนวตั้งเป็นแถวๆ โดยเริ่มต้นถ่ายจากทางทิศของใจกลางทางช้างเผือก แล้วกวาดไป-มา ดังตัวอย่างภาพด้านล่าง
ตัวอย่างภาพถ่ายพาโนรามาด้วยเลนส์มุมที่แคบลงมา คือ เลนส์ 50 mm. f/1.4 โดยถ่ายภาพในแนวตั้ง มาทั้งหมด 3 แถว รวมทั้งหมดจำนวนกว่า 52 ภาพ ซึ่งถ่ายโดยการแพนกล้องไป-มา ดังลูกศรในภาพ
7. การตั้งขาตั้งกล้อง ต้องให้ขาได้ระดับไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง เพราะเราต้องถ่ายภาพโดยการแพนกล้องในมุมที่กว้างกว่า 180 องศา เนื่องจากแนวทางช้างเผือกนั้นมีความกว้างพาดผ่านอยู่เต็มท้องฟ้า

8. อาจเริ่มต้นใช้ค่าความไวแสง ISO ที่ 1600 ก่อน หรือหากท้องฟ้ามืดมากๆ จัดไปเลยครับ ISO 3200 ขึ้นไปหรือมากกว่านั้นหากกล้องควบคุมสัญญาณรบกวน (Noise) ได้ดี

9. ปรับตั้งค่าสมดุลสีขาว (White Balance) โดยอุณหภูมิสีของท้องฟ้าในช่วงกลางคืน ผมจะเลือกใช้ที่ 3600 - 4000 K หรืออาจเลือกใช้ในโหมดการปรับค่า White Balance เป็นแบบฟลูออเรสเซนต์ก็ได้ เพื่อให้ได้ภาพท้องฟ้าที่ไม่อมสีแดงมากเกินไปครับ

10. ใช้สายลั่นชัตเตอร์บนขาตั้งกล้องที่มั่นคงในการถ่ายภาพเพื่อลดความสั่นไหว หรืออาจใช้วิธีถ่ายภาพแบบหน่วงเวลาก็ได้หากไม่มีสายลั่นชัตเตอร์

11. การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format เพื่อความยืดหยุ่นในการปรับภาพเพิ่มเติมในภายหลังได้อีกด้วย

การสังเกตทางช้างเผือกนั้น นอกจากบริเวณอุทยานแห่งชาติต่างๆ ที่อยู่บนยอดเขาสูงๆ แล้วนั้น ตามชนบทที่อยู่ห่างจากแสงไฟและมลภาวะทางแสง และมีทัศนวิสัยของท้องฟ้าที่ดี ก็สามารถสังเกตเห็นทางช้างเผือกเป็นแนวพาดบนท้องฟ้าได้ดีเช่นกัน
ภาพพาโนรามาทางช้างเผือกที่มีแสง Zodiacal Light รวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นลำแสงที่พุ่งออกไปเป็นรูปสามเหลี่ยมทางซ้ายของภาพ (ภาพโดย : ธนกฤต สันติคุณาภรต์ / Camera : Nikon D800 / Lens : Nikon 14-24 mm / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 6400 / Exposure : (36s x 17 Images))
จากภาพข้างต้นเรามักเห็นว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ มักใช้แต่กล้องดิจิตอลแบบฟลูเฟรมกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว กล้องดิจิตอลแบบ A-PSC หล่ะถ่ายได้มั้ย ผมขอยกตัวอย่างภาพของน้องชายผมคนนี้เลยครับ ไปถ่ายด้วยกัน สถานที่เดียวกัน ห่างกันเพียงไม่กี่สิบก้าว แต่ภาพที่ได้ออกมาเรียกได้ว่าสวยไม่แพ้กันเลย โดยคนส่วนใหญ่มักคิดว่า “ปัญหาของการถ่ายภาพทางช้างเผือกคือ เรื่องของเลนส์ การที่มีเลนส์มุมกว้างที่สามารถเปิดรูรับแสงกว้างๆ อาจจะเป็นความต้องการของหลายๆ คน” หากแต่เทคนิคและวิธีการต่างหากที่ทำให้เราก้าวข้ามขีดจำกัดของอุปกรณ์ที่เรามักคิดกันไปเอง ซึ่งผมขออนุญาตยกเอาประโยคเด็ดของน้องชายคนนี้ที่กล่าวว่า

“ในเมื่อเราไม่มี (ทุนทรัพย์น้อย) เราก็ต้องพยายามใช้อุปกรณ์ที่เรามีอยู่สร้างสรรค์ภาพออกมาให้ได้ครับ อย่าหยุดที่จะสร้างสรรค์ภาพ” และที่สำคัญอย่าปล่อยให้ปัญหาเรื่องอุปกรณ์เข้ามามีผลกับแนวคิดในการถ่ายภาพของคุณครับ” ผมพอแล้ว “โดนใจผุดๆ ครับ”
ภาพพาโนรามาทางช้างเผือก โดยการถ่ายภาพแบบพาโนรามา จำนวน 3 แถว แถวละ 10 ภาพ รวมทั้งหมด 30 ภาพ มาต่อกันด้วยโปรแกรม Photoshop (ภาพโดย : ธีรยุทธ์  ลอยลิบ / Camera : Nikon D7000 / Lens : Nikon 18-105 mm / Focal length : 18 mm. / Aperture : f/3.5 / ISO : 2000 / Exposure : (30s x 30 Images))
หลังจากที่อ่านบทความนี้จบแล้ว วันนี้ก็อาจเป็นวันสุดท้ายของการถ่ายภาพทางช้างเผือกก็ได้ ดังนั้นควรรีบเตรียมอุปกรณ์ล่าช้างของท่านให้พร้อม “เพราะโอกาสมักเป็นของคนที่พร้อมเสมอ” สวัสดีครับ



เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน







กำลังโหลดความคิดเห็น