ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับ ช่วงปลายฝนต้นหนาวและสภาพท้องฟ้าในช่วงนี้หากไม่มีพายุเข้ามาแล้วล่ะก็...ใสเคลียร์สุดๆ ทั้งยังเป็นช่วงท้ายของการสังเกตใจกลางทางช้างเผือก (Galactic Center) อีกด้วย และนอกจากนั้นที่ขอบฟ้าทางทิศตะวันตกตามแนวเส้นสุริยะวิถี หรือเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ในวันที่ไม่มีแสงจันทร์รบกวนเราก็อาจจะสามารถสังเกตเห็นแสงจักรราศี (Zodiacal Light) เป็นแสงเรืองจางๆ เป็นโครงรูปสามเหลี่ยมหยาบๆ ที่ปรากฏบนท้องฟ้ายามค่ำคืนหลังจากที่แสงสนธยาตกลับขอบฟ้าไปแล้ว ที่ปรากฏอยู่ในแนวเส้นสุริยวิถีได้อีกเช่นกัน
สำหรับคอลัมน์นี้ผมขอแนะนำการถ่ายภาพ แสงจักราศีกับทางช้างเผือกไว้ด้วยกัน ซึ่งถือว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ดีที่สุด ที่จะสามารถถ่ายภาพได้ดีที่สุด
เพิ่มเติมความรู้ทางดาราศาสตร์
แสงจักรราศี เกิดขึ้นจากอนุภาคของฝุ่นละอองในอวกาศ หรือ ฝุ่นจากดาวหาง และดาวเคราะห์น้อย กระทบกับแสง จากดวงอาทิตย์ จะปรากฏอยู่ในแนวระนาบของเส้นสุริยะวิถี (Ecliptic) เราสามารถเห็นแสงจักรราศีได้จากท้องฟ้าที่มืดสนิทไม่มีแสงจันทร์ และมลภาวะทางแสงจากขอบฟ้ารบกวน ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงเย็นทางทิศตะวันตกหลังจากที่แสงสนธยาจางหายไปหมด หรือในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ก่อนแสงอาทิตย์จะมาถึง
Galactic Center คือใจกลาง หรือส่วนที่สว่างที่สุดของทางช้างเผือก ข้างในประกอบด้วยวัตถุท้องฟ้ามากมายเช่น กระจุกดาว เนบิวลา รวมทั้งหลุมดำด้วย ทางช้างเผือกเป็นวัตถุท้องฟ้าที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีความสวยงาม และเหมาะที่จะเฝ้าดูในช่วงฤดูร้อน โดยช่วงเวลาที่เหมาะสม เราจะเห็นทางช้างเผือกพาดยาวกลางฟ้า ตั้งแต่ฟ้าทิศเหนือจรดทิศใต้ เรียกได้ว่าเป็นวัตถุท้องฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเรามองจากโลกก็ว่าได้
เทคนิคและวิธีการ
ในการถ่ายภาพแสงจักราศีกับทางช้างเผือกนั้น เราสามารถสังเกตทิศทางการถ่ายภาพทางช้างเผือก ได้จากกลุ่มดาวคนยิงธนูกับกลุ่มดาวแมงป่อง ได้ซึ่งเป็นบริเวณของใจกลางทางช้างเผือก โดยเราจะเห็นเป็นแถบฝ้าปรากฏสุกสว่างโดดเด่นอยู่บนท้องฟ้าได้ไม่ยากครับ ส่วนแสงจักรราศีนั้นหากท้องฟ้าใสเคลียร์ไม่มีแสงรบกวน เราจะสามารถสังเกตเห็นเป็นแสงเรืองจางๆ เป็นโครงรูปสามเหลี่ยมหยาบๆ ที่ปรากฏบนท้องฟ้ายามค่ำคืน หลังจากแสงสนธยาตกลับขอบฟ้าไปแล้ว ที่ปรากฏอยู่ในแนวเส้นสุริยวิถีได้ โดยเทคนิคในการถ่ายภาพให้เห็นแสงจักรราศีพาดผ่านทางช้างเผือกนั้น มีเทคนิคและวิธีการตั้งค่ากล้องดังนี้
1. เพื่อให้สามารถเห็นแนวแสงจักรราศีได้อย่างชัดเจน ดังนั้นก่อนการถ่ายภาพให้ปรับตั้งค่าความเปรียบต่าง (Contrast) ให้มีค่าสูงๆ เพื่อให้กล้องสามารถบันทึกภาพที่แสดงความแตกต่างของแสงจักรราศีได้อย่างชัดเจน
2. ปรับเร่งค่าความอิ่มสี (Saturation) ให้มีค่าสูงๆ เพื่อให้แสดงแสงสีของแสงจักรราศี และทางช้างเผือก ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
3. ใช้ความไวแสง (ISO) สูงๆ หากเป็นไปได้ให้ปรับค่าให้มีค่าความไวแสงสูงที่สุดที่ยอมรับได้ ส่วนตัวผมมักเลือกใช้ที่ ISO 3200 เพื่อให้กล้องเก็บแสงได้เร็วที่สุด
4. เปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction เพื่อลดสัญญาณรบกวน และนอกจากนั้นหากกล้องใครที่มีระบบ High ISO speed noise reduction ซึ่งเมื่อใช้ ISO สูงๆ ระบบจะช่วยลด Noise ให้เมื่อเปิดใช้งาน และปรับแก้ไขผลในภาพให้ได้ผลที่ดีที่สุด
5. ใช้สายลั่นชัตเตอร์บนขาตั้งกล้องที่มั่นคงในการถ่ายภาพเพื่อลดความสั่นไหว หรืออาจใช้วิธีถ่ายภาพแบบหน่วงเวลาก็ได้หากไม่มีสายลั่นชัตเตอร์ รวมทั้งปิดระบบกันสั่นของเลนส์เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดที่สุด
6. เวลาในการเปิดหน้ากล้องหรือความเร็วชัตเตอร์ สำหรับการถ่ายภาพโดยปกติแล้วหากเราใช้เลนส์มุมกว้างตั้งแต่ช่วง 24-28 มม. (กล้องฟูลเฟรม) หรือ 17-18 มม. (กล้องตัวคูณ) เวลาที่สามารถถ่ายได้โดยไม่ทำให้ดาวยืดมานัก สามารถถ่ายได้นานกว่า 30 วินาที หรือหากเลือกใช้เลนส์มุมกว้างพิเศษหรือเลนส์ตาปลา (Fisheye lens) ก็สามารถเปิดหน้ากล้องได้นานกว่า 30 วินาที
7. เปิดรูรับแสงยิ่งกว้างที่สุด ยิ่งได้เปรียบ เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการสร้างภาพได้ดีมากที่สุด เนื่องจากเราจะเปิดหน้ากล้องในการถ่ายภาพไม่เกิน 30 วินาทีเท่านั้น
8.ปรับตั้งค่าสมดุลสีขาว (White Balance) โดยอุณหภูมิสีของท้องฟ้าในช่วงกลางคืน ผมจะเลือกใช้ที่ 4700 เคลวิน หรืออาจเลือกใช้ในโหมดการปรับค่า White Balance เป็นแบบฟลูออเรสเซนต์ก็ได้ เพื่อให้ได้ภาพท้องฟ้าที่ไม่อมสีแดงมากเกินไปครับ
9.การปรับระยะโฟกัสของเลนส์ที่ระยะไกลอินฟินิตี หรือระยะอนันต์ ให้มองหาสัญลักษณ์ที่มีลักษณะคล้ายเลข 8 เป็นแนวนอนที่ตัวเลนส์ เนื่องจากภาพที่เราจะถ่ายคือดาวนั่นเองครับ โดยอาจทดลองปรับระยะไกลสุดในช่วงกลางวันก่อน โดยโฟกัสไปที่ระยะไกลสุดเท่าที่จะหาสิ่งที่ใช้ปรับโฟกัสได้ แล้วดูว่าภาพชัดทั่วทั้งภาพที่สุด ที่ตำแหน่งบนกระบอกเลนส์ตำแหน่งใด แล้วติดเทปเอาไว้เพื่อป้องกันโฟกัสเคลื่อน เพราะกล้องจะไม่สามารถหาโฟกัสได้ในตอนกลางคืน รวมทั้งปิดระบบกันสั่นของเลนส์ด้วย
10.การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format เพื่อความยืดหยุ่นในการปรับภาพเพิ่มเติมในภายหลังได้อีกด้วย
ปัจจุบันมีคนให้ความสนใจถ่ายภาพทางช้างเผือกกันค่อนข้างมาก และหลายคนก็มีความรู้ทางดาราศาสตร์เกี่ยวกับการสังเกตวัตถุท้องฟ้ามากขึ้น ถือได้ว่าเมืองไทยเรามีนักดาราศาสตร์สมัครเล่นเพิ่มมากขึ้น และสำหรับการถ่ายภาพแสงจักรราศีกับทางช้างเผือกถ่ายภาพ ถือเป็นอีกแนวทางการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ที่ยังไม่ค่อยมีใครถ่ายกันสักเท่าไหร่นัก ทั้งนี้ก็อาจเป็นเพราะยังไม่ค่อยมีคนรู้จักแสงจักรราศีมากนัก ดังนั้นหากเราลองเริ่มสังเกตการณ์มากขึ้น เราอาจได้ภาพที่ใครๆ อาจไม่เคยได้เห็นหรือได้สัมผัสมาก่อนก็ได้
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน