xs
xsm
sm
md
lg

เก็บแสงดาวใต้แสงจันทร์

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ตัวอย่างภาพเส้นแสงดาว (Startrails) ในช่วงคืนที่มีแสงดวงจันทร์ ทางทิศเหนือ บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 17 mm. / Aperture : f/3.5 / ISO : 500 / Exposure : (30s x 460 Images))
หลังจากกระแสการถ่ายภาพทางช้างเผือกที่กำลังเป็นที่นิยมของเหล่าช่างภาพแนว Landscape ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้เป็นช่วงที่เราสามารถสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกได้ในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แต่หลายคนก็กลับพบกับความผิดหวัง เนื่องจากท้องฟ้าในช่วงที่ไม่มีแสงดวงจันทร์รบกวนกลับมีเมฆจากผลกระทบของพายุ ทำให้อดถ่ายภาพทางช้างเผือกกันไปตามๆ กัน หลังจากพายุผ่านพ้นไปท้องฟ้าก็กลับมาใสเคลียร์ แต่ก็กลับมีแสงดวงจันทร์มารบกวนทำให้ยากแก่การถ่ายภาพทางช้างเผือก

หากเราลองมองกลับกันในการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์นั้น หรือที่ผมเรียกว่าการถ่ายภาพแนว Skyscape ยังมีการถ่ายภาพเส้นแสงดาวที่น่าสนใจอีกแบบหนึ่ง หรือที่เราเรียกว่า Startrails นั่นเอง ซึ่งในคอลัมน์นี้ผมก็พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยจะแนะนำเทคนิคการถ่ายภาพเส้นแสงดาวในขณะที่มีแสงของดวงจันทร์อยู่ด้วยให้ได้ภาพออกมาสวยงาม

สำหรับการถ่ายภาพ Startrails นั้น ปกติเราจะคุ้นกับการต้องถ่ายในช่วงเวลาที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงรบกวน หากแต่วันนี้เราจะมาแหกกฎ เพื่อสร้างสรรค์ภาพแนวนี้ให้ดูมีสีสันมากขึ้น โดยการเลือกถ่าย Startrails ในวันที่มีแสงของดวงจันทร์ ช่วงประมาณข้างขึ้น 8 ค่ำ ซึ่งแสงดวงจันทร์ถือว่ามีความสว่างปานกลางไม่มากหรือน้อยไป โดยแสงของดวงจันทร์นี้เองที่จะช่วยทำให้ท้องฟ้าที่เป็นฉากหลังของดวงดาวมีสีสันออกมาทางสีฟ้า ช่วยให้ภาพ Startrails ของเรามีสีสันมากยิ่งขึ้น

การหาตำแหน่งดาวเหนือ
ในการถ่ายภาพ Startrails เพื่อให้ได้ภาพดาวจะเคลื่อนที่หมุนรอนรอบดาวเหนือเป็นวงกลม ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนที่ของดวงดาวที่เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก โดยการหันหน้ากล้องไปทางทิศเหนือ โดยการวางตำแหน่งดาวเหนือไว้กลางภาพ ซึ่งมีวิธีการหาตำแหน่งดาวเหนือดังนี้

สำหรับประเทศไทย ดาวเหนืออยู่สูงจากขอบฟ้าประมาณ 15 องศา
ผู้ถ่ายภาพอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่ละติจูด 15 องศา ขั้วฟ้าเหนือจะอยู่สูงจากขอบฟ้า 15 องศา ดาวขึ้น – ตก ในแนวเฉียงไปทางใต้ 15 องศา ดังภาพตัวอย่าง
การหาตำแหน่งดาวเหนือจากกลุ่มดาวค้างคาว
สำหรับการหาตำแหน่งดาวเหนือนั้น สำหรับช่วงต้นฤดูหนาวเราจะใช้กลุ่มดาวค้างคาว(Cassiopeia) ในการอ้างอิง โดยกลุ่มดาวค้างคาว ประกอบด้วยดาวสว่าง 5 ดวง เรียงเป็นรูปตัว “M” ดังภาพตัวอย่าง
ตัวอย่างท้องฟ้าในช่วงต้นฤดูหนาว ในช่วงหัวค่ำจะปรากฏกลุ่มดาวค้างคาวทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งใช้เป็นดาวในการอ้างอิงดาวเหนือได้
ดาวเหนือจะอยู่สูงจากขอบฟ้า 15 องศา ซึ่งเราสามารถใช้การวัดระยะเชิงมุม โดยการกางนิ้วชี้และนิ้วก้อย แล้วเหยียดแขนให้สุด โดยให้นิ้วก้อยชี้ที่ขอบฟ้า จากนั้นเล็งที่ปลายนิ้วชี้ จะเป็นตำแหน่งที่ดาวเหนืออยู่สูงจากขอบฟ้า 15 องศา ดังภาพตัวอย่าง
เทคนิคและวิธีการ
โดยในการถ่ายภาพ Startrails นั่นนอกจากเราจะให้ความสำคัญกับสีสันของเส้นดาวแล้ว ฉากหลังก็ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราน่าจะให้ความสำคัญ เพราะหากฉากหลังมืดดำสนิท ภาพก็อาจดูไม่มีสีสันมากนัก (ความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ) ซึ่งแนวคิดของผมมองว่า การถ่ายภาพโดยใช้แสงดวงจันทร์มาช่วยเสริมสีสันของพื้นหลังภาพให้ได้แสงสีฟ้าให้กับภาพเส้นแสงดาวน่าจะช่วยให้ภาพของเรามีสีสันมากขึ้น ดังนั้นหากวันไหนที่มีท้องฟ้าใสเคลียร์เห็นแสงดาวได้ แต่มีแสงดวงจันทร์มากวนบ้างอาจลองถ่ายภาพ “เส้นแสงดาวใต้แสงจันทร์” กันดูได้นะครับ สำหรับเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพก็ไม่มีอะไรมาก มาเริ่มกันเลยครับ

1. ตั้งโหมดการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง (Continuous) พร้อมกับต่อสายลั่นชัตเตอร์เพื่อใช้ในการถ่ายภาพ โดยควรใช้เวลาในการถ่ายภาพทั้งหมดรวมไม่ควรน้อยกว่า 3 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ภาพเส้นแสงดาวที่มีความยาวหมุนเป็นวงกลม

2. ปรับโหมดการถ่ายภาพแบบแมนนวล หรือโหมด M เพื่อให้สามารถตั้งค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์เองได้อิสระ

3. ตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ที่ 30 วินาที และเลือกค่ารูรับแสงประมาณ f/3.5 – f/5.6 เพื่อให้ได้แสงดาวที่มีความคมชัดและสว่างพอดี ไม่มากหรือไม่น้อยไป (***แต่สำหรับการถ่ายในสภาพที่ท้องฟ้ามีความมืดมากๆนั้น เราจะต้องใช้ค่ารูรับแสงกว้างที่สุด***)

4. เลือกใช้ความไวแสงประมาณ ISO:400 – ISO:500 ซึ่งเป็นค่าความไวแสงที่เหมาะสมกับการใช้ความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสง ดังที่กล่าวข้างต้น (***แต่สำหรับการถ่ายในสภาพที่ท้องฟ้ามีความมืดมากๆนั้น เราจะต้องใช้ค่าความไวแสงสูง ตั้งแต่ ISO:1600 ขึ้นไป***)

5. ปรับค่าไวท์บาลานซ์ หรืออุณหภูมิสี ที่ 3500 – 3700 เคลวิล เพื่อให้ได้ภาพที่มีสีท้องฟ้าออกทางสีฟ้า (ซึ่งหากเราใช้เป็นแบบ Auto WB ภาพที่ถ่ายจะมีสีออกแดง) หรืออาจเลือกใช้โหมดค่าไวท์บาลานซ์แบบ Fluorescent ก็ได้เช่นกัน
ภาพเปรียบเทียบการปรับค่าไวท์บาลานซ์แบบ Auto WB กับการปรับค่าไวท์บาลานซ์ที่ 3600 เคลวิล ขณะถ่ายภาพท้องฟ้าที่มีแสงดวงจันทร์
ตัวอย่างภาพเส้นแสงดาว (Startrails) ในช่วงคืนที่มีแสงดวงจันทร์ โดยการปรับค่าไวท์บาลานซ์ ที่ 3600 เคลวิล ทำให้ได้ภาพสีท้องฟ้าพื้นหลังเป็นสีฟ้า ณ วัดดอยพระบาทปู่ผาแดง อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง (ภาพโดย : คมสันต์  ธุรี / Camera : Nikon D7000 / Lens : Tokina 11-16mm f/2.8 DX II / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/5.6 / ISO : 200 / Exposure : (30s x 299))
6. ปิดฟังชั่น Noise reduction เพื่อให้กล้องสามารถถ่ายภาพต่อเนื่อง และไม่ทำให้เส้นแสงดาวขาดหายไป

7. ปิดระบบออโต้โฟกัสและระบบกันสั่นของเลนส์ พร้อมกับปรับโฟกัสไปที่ระยะอินฟินิตี้ เพื่อให้ภาพชัดทั่วทั้งภาพ
8. หลังจากที่ถ่ายภาพดาวเสร็จแล้ว ให้ถ่ายภาพ Dark Frame ในทันทีเพื่อเป็นการควบคุมทั้งเรื่องอุณหภูมิ ค่าความไวแสงและเวลา ให้มีค่าเหมือนกัน จำนวนหลายๆ ภาพ เพื่อจะนำมาใช้ในการลบสัญญาณรบกวน
(***ภาพ Dark Frame คือ การถ่ายภาพมืดสนิทโดยปิดฝาหน้าเลนส์ไว้เพื่อให้กล้องไม่รับแสง ซึ่งถ่ายที่อุณหภูมิ ค่าความไวแสงและเวลา ให้มีค่าเหมือนกันกับภาพดาวทุกประการ***)
9. การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format เพื่อที่จะสามารถนำมาปรับเปลี่ยนแก้ไขภาพเพิ่มเติมในภายหลังได้อย่างยืดหยุ่นกว่าไฟล์แบบ JPEG
10. หลังจากที่ได้ภาพแสงดาวและภาพ Dark Frame แล้ว นำภาพทั้งหมดมาต่อกันด้วยโปรแกรม Startrails หรือ StarStax เพื่อให้ได้ภาพ Startrails ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://www.startrails.de/html/software.html และ http://www.markus-enzweiler.de/software/software.html
    รายละเอียดการใช้โปรแกรมสามารถดูได้ที่บทความ “การถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Star Trails) ตอนที่ 2” ตามลิงค์ http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000020698
ตัวอย่างภาพเส้นแสงดาว (Startrails) ในช่วงคืนที่มีแสงดวงจันทร์ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยเลนส์มุมกว้าง ทำให้สามารถเก็บภาพเส้นแสงดาวทั้งทิศเหนือและทิศตะวันออกไว้ในภาพเดียวกัน (ภาพโดย : รณภพ  ตันวุฒิบันฑิต / Camera : Nikon D7000 / Lens : Tokina 11-16 mm  f/2.8 / Focal length : 11 mm. / Aperture : f/4 / ISO : 400 / Exposure : (30s x 414))
ดังนั้น ช่วงนี้ระหว่างรอให้ดวงจันทร์เป็นช่วงข้างแรม หรือช่วงเดือนมืดเพื่อจะกลับมาถ่ายทางช้างเผือกกัน ก็ลองหันมาถ่ายภาพเส้นแสงดาวกับแสงจันทร์กันดูก่อนได้นะครับ สำหรับเทคนิคนี้อยากให้นำไปลองถ่ายกัน รับรองว่าภาพถ่ายแสงดาวของคุณจะดูมีสีสันอย่างแน่นอนครับ



เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน







กำลังโหลดความคิดเห็น