xs
xsm
sm
md
lg

Review : Canon PowerShot G16 ว่าที่กล้องดิจิตอลคอมแพกต์ดีที่สุดของปีนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ผู้เล่นกล้องถ่ายภาพหลายท่านคงได้ยินชื่อเสียงของแคนนอน PowerShot G มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 และ PowerShot G ถือว่าเป็นกลุ่มกล้องถ่ายภาพที่ประสบความสำเร็จสูงตลอดระยะเวลา 13 ปี จนมาถึงรุ่นล่าสุดกับ Canon PowerShot G16 ที่ถือเป็นการปรับเปลี่ยนโฉมใหม่หมดอีกครั้งตลอดหลายปีที่แคนนอนสร้าง PowerShot G ขึ้นมา แน่นอนว่าสื่อหลายสำนักในต่างประเทศต่างจับตามอง Canon PowerShot G16 พร้อมให้ความเห็นว่ากล้องไฮเอนด์คอมแพกต์รุ่นใหม่นี้ของแคนนอนจะเป็นการจุดพลุให้ตลาดดิจิตอลคอมแพกต์กลับมาคึกคักอีกครั้ง

และวันนี้ทีมงานไซเบอร์บิซนำโดย เป๋า (@dorapenguin) เจ้าเก่าจะพาทุกท่านไปสัมผัส เจาะลึกว่าที่กล้องดิจิตอลคอมแพกต์ชิ้นมาสเตอร์พีซล่าสุดจากแคนนอนกันแบบทุกรายละเอียด ชื่นชอบหรือมีความคิดเห็นอย่างไรมาถกเถียงกันได้ในคอมเมนต์ด้านล่างสุดครับ

การออกแบบและสเปก



เริ่มเรื่องแรกกับรูปทรงของกล้อง Canon PowerShot G ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 เป็นต้นมาจะเป็นในแนวทางเดียวกันทั้งหมดคือบอดี้เป็นสีดำ ขนาดเล็กกระทัดรัดประมาณหนึ่งฝ่ามือ รูปทรงบึกบึน มีกริปจับกระชับมือพร้อมสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือช่องมองภาพ Optical Viewfinder แบบแยกออกจากเลนส์กล้อง

แต่สิ่งที่ G16 แตกต่างออกไปก็คือเรื่องประสิทธิภาพภายในที่ถูกอัปเกรดแบบยกเครื่องในใหม่หมด ในขณะที่รูปทรงทั้งหมดจะไม่แตกต่างจาก G15 เดิมมากนักคือ น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 356 กรัม ขนาดตัวเครื่องอยู่ที่ 108.8x75.9x40.3 มิลลิเมตร ส่วนแบตเตอรีใช้รหัส NB-10L แบบเดียวกับ G15



ในส่วนของเลนส์ถูกปรับปรุงใหม่เช่นกัน โดยแคนนอนเลือกใช้ซูมเลนส์ 5 เท่าหรือเทียบระยะเลนส์กับกล้องฟูลเฟรมจะมีระยะอยู่ที่ 28-140 มิลลิเมตร สามารถถ่ายมาโครใกล้สุด 1 เซนติเมตร และที่เด็ดสุดคือค่ารูรับแสงอยู่ที่ f1.8-2.8 หรือความหมายคือ ตั้งแต่ระยะไวด์ (ค่ารูรับแสง f1.8) ถึงเทเลซูมสุดกระบอกเลนส์ ค่ารูรับแสงจะไหลไปสุดแค่ f2.8 เท่านั้น ไม่เหมือนคอมแพกต์หลายรุ่นที่เมื่อซูมหมดกระบอกเลนส์ค่ารูรับแสงจะไหลไปถึง f5.6 หรือ f6.3

ทำให้ PowerShot G16 สามารถรับแสงในที่แสงน้อยได้ดีขึ้น ลดอาการชัตเตอร์ช้าในที่แสงน้อยและสัญญาณรบกวนที่น้อยลง (เพราะรับแสงได้มากขึ้น ISO ไม่ต้องดันขึ้นสูงในที่แสงน้อย) ประกอบกับเลนส์ยังรองรับระบบป้องกันภาพสั่นไหว IS (Image Stabilizer) System แบบออปติคอล Lens-shift type ในขณะที่ผู้ถ่ายภาพที่ชื่นชอบฉากหลังละลายก็สามารถใช้ค่ารูรับแสงต่ำเพื่อละลายฉากหลังได้ดั่งใจต้องการถึงแม้เซ็นเซอร์รับภาพของ G16 จะมีขนาดเล็กก็ตาม



แต่ด้วยข้อจำกัดของเลนส์ที่ต้องทำให้มีขนาดเล็กทำให้ช่วงค่ารูรับแสงแคบสุดอยู่เพียงแค่ f8.0 เท่านั้น ซึ่งก็ไม่ต้องกังวลสำหรับผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์และเกรงว่า f8.0 จะลดความเร็วชัตเตอร์ให้ต่ำได้ไม่พอเมื่อต้องการถ่ายภาพสายน้ำให้พริ้วไหวนุ่มนวล เพราะตัวเลนส์มีการติดตั้ง ND Filter (Neutral density filter) สำหรับลดแสงมาให้ (ตามข้อมูลของแคนนอนบอกว่าลดแสงได้ราวๆ 3 stop)




มาดูที่ด้านหลังของกล้องจะเห็นหน้าจอ LCD แสดงผลภาพขนาด 3 นิ้วความละเอียด 922,000 ดอท อัตราส่วน 4:3 มาให้ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดายที่แคนนอนไม่ทำหน้าจอแบบ Tilt LCD ที่สามารถปรับเปลี่ยนองศาการมองได้



ส่วนช่องมองภาพ Optical Viewfinder ที่เป็นเอกลักษณ์ของ PowerShot G มานาน ในรุ่นนี้ก็สามารถใช้งานได้ดี เลนส์ในช่องมองภาพสามารถซูมภาพเข้าออกได้ตามระยะเลนส์จริง และใช้งานได้ดีมากเมื่อนำ G16 ไปใช้กลางแจ้ง เพราะแสงแดดจะทำให้มองหน้าจอ LCD บน G16 ยากมาก ช่องมองภาพ Optical Viewfinder ที่ดูเหมือนไร้สาระนี้จะมีประโยชน์ทันทีเมื่ออยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว



สำหรับปุ่มคำสั่งรอบตัวกล้องต้องบอกว่าแคนนอนเลือกติดตั้งมาให้อย่างครบครันมาก ปุ่มปรับตั้งค่าต่างๆ มีถึง 4 ตำแหน่ง เริ่มจาก ด้านหลังกล้องจะเป็นวงแหวนสำหรับหมุนเลือกคำสั่งใช้งานต่างๆ และเมื่อกดลงบนวงแหวน 4 ทิศทางก็สามารถปรับโหมดถ่ายภาพแบบเร่งด่วน เปิดปิดเลือกใช้ไฟแฟลช ส่วนปุ่มตรงกลาง FUNC. SET จะใช้บ่อยที่สุดเพราะใช้เลือกฟังก์ชันถ่ายภาพในแต่ละโหมดเป็นหลัก



ถัดขึ้นไปด้านบนบริเวณยางรองนิ้วจะเป็นปุ่มกดถ่ายวิดีโอ และ Shortcut ที่สามารถปรับแต่งเป็นคีย์ลัดปรับค่ากล้องได้ตามต้องการที่หน้าเมนู

มาดูที่ด้านหน้ากล้องบริเวณกริปยางจะมีวงแหวนไว้สำหรับปรับตั้งค่ากล้องอีกหนึ่งจุด ซึ่งเมื่อใช้งานประกบคู่กับวงแหวนด้านหลังกล้องจะช่วยให้ผู้ใช้ G16 สามารถควบคุมการตั้งค่ากล้องในโหมด Program หรือ Manual ได้อย่างลื่นไหลมาก

สุดท้ายกับวงแหวนด้านบน (ที่เขียนเป็นตัวเลข 0,-1,+1...) ซึ่งในรุ่น G16 ถูกเปลี่ยนเป็นคำสั่งชดเชยแสงที่ผมรู้สึกถูกอกถูกใจมากที่แคนนอนยกปุ่มคำสั่งนี้มาใส่ไว้ให้ใช้งานง่ายขึ้นเพียงหมุนๆ ไป + หรือ - เท่านั้น เพราะปกติการถ่ายภาพในสถานการณ์ต่างๆ ที่หลากหลาย บางครั้งระบบวัดแสงของกล้องมีโอกาสทำงานผิดพลาดบ้าง เช่น ถ่านภาพคอนเสิร์ต จนทำให้ภาพติดอันเดอร์หรือโอเวอร์เกินไป เจ้าวงแหวนชดเชยแสงจะเข้ามาช่วยเวลาผู้ใช้ต้องเผชิญกับสถานการณ์เหล่านั้นได้สะดวกสบายไม่ต้องกดเข้าเมนูที่ซับซ้อนและช้าเกินไป



ทีนี้มาดูด้านบนของตัวกล้องซึ่งเป็นที่อยู่หลักของวงแหวนปรับโหมดถ่ายภาพ โดยจากซ้ายบริเวณโลโก้ PowerShot G16 จะเป็นไฟแฟลชที่สามารถเปิดใช้งานได้เพียงเลื่อนสวิตซ์ที่อยู่ติดกัน ถัดมาเป็น Hot Shoe สำหรับใส่ไฟแฟลชแยกภายนอก มาถึงด้านขวาหลักๆ จะเป็นวงแหวนปรับโหมดถ่ายภาพที่มีโหมดโดดเด่นอยู่ 4 โหมดคือ Auto, Hybrid Auto, SCN (Scene) Mode และ Effect Mode ถัดลงไปจะเป็นวงแหวนปรับชดเชยแสงตามที่ทีมงานได้อธิบายไปด้านบน ส่วนปุ่มชัตเตอร์จะติดตั้งอยู่บริเวณขวาบนสุดโดยมีวงแหวนซูมภาพครอบอยู่ พร้อมสวิตซ์ปิด-เปิดกล้องบริเวณด้านล่างพร้อมไฟสถานะสีเขียวเมื่อกล้องเปิดใช้งานอยู่




ส่วนด้านขวาของกล้องจะเป็นที่อยู่ของพอร์ตเชื่อมต่อตั้งแต่รีโมทกล้อง, A/V OUT DIGITAL และ HDMI ส่วนด้านล่างของตัวกล้องจะเป็นช่องใส่แบตเตอรีและการ์ดความจำ พร้อมตัวหนังสือบ่งบอกว่า G16 "Made in Japan" แน่นอน



มาถึงสเปกของกล้องเริ่มจากความละเอียดภาพสำหรับ PowerShot G16 สามารถถ่ายภาพที่ความละเอียดสูงสุด 12.1 ล้านพิกเซล (4,000x3,000 พิกเซล) รองรับการถ่าย RAW File เซ็นเซอร์รับภาพเป็น CMOS ขนาด 1/1.7" แบบคอมแพกต์ที่ดูแล้วไม่น่าตื่นเต้น เพราะขนาดเซ็นเซอร์คล้ายกับคอมแพกต์รุ่นธรรมดาทั่วไป แต่ถ้าสังเกตจากตารางสเปกด้านบนให้ดีแล้วจะพบว่านอกจากเซ็นเซอร์รับภาพแสนธรรมดา แต่ G16 มาพร้อมหน่วยประมวลผลภาพใหม่ถอดด้ามเป็นรุ่นแรกกับ DiGiC 6 ประกบ HS SYSTEM ที่โดดเด่นเรื่องการจัดการภาพในที่แสงน้อยได้อย่างยอดเยี่ยม พร้อมรองรับระบบเชื่อมต่อ WiFi รูปแบบใหม่ที่ใช้ง่ายขึ้น และฟีเจอร์ช่วยเหลือด้านการถ่ายภาพที่ครอบคลุมทุกการใช้งานในชีวิตประจำวันของทุกคนที่ฟังแล้วเหมือนโหหกแต่ลองอ่านบทความรีวิวนี้ให้จบครับแล้วคุณจะอึ้งกับความสามารถใหม่จากเจ้า PowerShot G16 จากผลผลิตของชิป DiGiC 6 ที่ใช้แทบไม่หมด



ในส่วนสเปกอื่น G16 รองรับค่าความไวแสง ISO 80-12,800 รองรับความเร็วชัตเตอร์ช้าสุด 1 วินาที สูงสุดอยู่ที่ 1/4,000 วินาที สามารถถ่ายวิดีโอที่ความละเอียดสูงสุด 1,920x1,080 พิกเซลที่ความเร็วเฟรม 30/60 เฟรมต่อวินาที

นอกจากนั้นในส่วนของระบบออโต้โฟกัสสามารถโฟกัสแบบตรวจจับใบหน้า (Face AiAF), Tracking AF, Center และโฟกัสแบบ FlexiZone

ฟีเจอร์เด่น

Smart Auto 58 Scenes ถือเป็นกล้องคอมแพกต์ตัวแรกตั้งแต่ทีมงานได้รับมาทดสอบแล้วรู้สึกว่าโหมดอัตโนมัติทำงานได้ค่อนข้างฉลาดจนไม่อยากจะหนีไปถ่ายโหมดอื่นๆ เพราะแคนนอนเล่นบรรจงใส่ซีนโหมดอัตโนมัติมาถึง 58 รูปแบบที่เรียกได้ว่า ทุกสภาพแสง ทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น G16 รู้จักหมด (ยกเว้นเจอสภาพแสงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กล้องจะปรับการทำงานได้ไม่ถูกต้องนัก แต่ไม่ต้องกลัวเพราะ G16 มีโหมด Manual มาให้) แถมผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเลือกค่าความละเอียดหรือคุณภาพไฟล์ให้ยุ่งยาก เพราะกล้องจะจัดการให้เอง รวมถึงมีการประมวลผลภาพ สีสัน คามคมชัดให้หลังกดชัตเตอร์ลงไปแล้วให้อย่างอัตโนมัติ





Continuous AF 12.2 เฟรมต่อวินาที ฟีเจอร์นี้ถือเป็นไม้ตายฆ่าทุกคอมแพกต์เลยก็ว่าได้ เพราะ G16 ที่ประกบชิป DiGiC 6 สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องที่ความเร็ว 12.2 เฟรมต่อวินาทีในโหมดล็อคโฟกัสที่เฟรมแรกได้ โดยหลักการทำงานก็คือเมื่อโฟกัสถูกล็อคแล้วกล้องจะถ่าย 5 ภาพแรกด้วยความเร็ว 12.2 เฟรมต่อวินาที หลังจากนั้นกล้องจะบันทึกภาพที่ความเร็ว 9.3 เฟรมต่อวินาทีไปเรื่อยๆ จนกว่าการ์ดความจำจะเต็มหรือผู้ใช้ปล่อยนิ้วจากปุ่มชัตเตอร์ดังวิดีโอด้านบนที่ผมได้รวมภาพถ่ายต่อเนื่องจำนวนหลายร้อยภาพไว้ให้ชม

ส่วนถ้าต้องการถ่ายภาพต่อเนื่องแบบให้ระบบออโต้โฟกัสทำงานตลอดจะสามารถถ่ายภาพที่ความเร็วสูงสุด 5.7 เฟรมต่อวินาที โดยระบบออโต้โฟกัสสามารถจับวัตถุที่เคลื่อนไหวและโฟกัสพร้อมกันได้ด้วยความเร็วเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น



เพราะฉะนั้นด้วยความเร็วในการถ่ายภาพที่สูง แคนนอนได้บอกกับผมตอนไปรับกล้องมาทดสอบว่า "ถ้าอยากถ่ายภาพต่อเนื่องให้ได้เต็มประสิทธิภาพจำเป็นต้องใช้การ์ดความจำ Class 10 หรือให้ดีควรเป็นมาตรฐานใหม่อย่าง UHS-I (Ultra High Speed) จะดีที่สุด" ไม่อย่างนั้นกล้องอาจทำงานช้าและเกิดอาการค้างได้เมื่อกดชัตเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน


starmode

Star Mode มาถึงอีกหนึ่งความสามารถเด็ดที่ไม่มีกล้องตัวไหนในโลกทำได้ ณ ปัจจุบันนี้กับการถ่ายภาพดวงดาวและ Star Trails ได้แบบกดปุ่มเดียว เพราะปกติการถ่ายภาพลักษณะนี้จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากมาก แต่สำหรับ PowerShot G16 (รวมถึงรุ่นน้องเล็ก S120) ที่มาพร้อมชิป DiGiC 6 + HS System สามารถทำได้เพียงยตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง แล้วเลือก SCN Mode > Star ตามความต้องการดังนี้

- Star Nightscape ถ่ายภาพหมู่ดาวบนท้องฟ้าทั่วไปแบบภาพเดียว
- Star Trails ถ่ายภาพการเคลื่อนที่ของหมู่ดาว โดยเปิดหน้ากล้องไว้นาน 2 ชั่วโมง จากนั้นซอฟต์แวร์ในกล้องจะรวมภาพให้อัตโนมัติ
- Star Time-Lapse Movie กล้องจะบันทึกภาพหมู่ดาวเป็นระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นจะรวมเป็นภาพเคลื่อนไหวให้ในรูปแบบ MP4 1080p 24Mbps ดังวิดีโอตัวอย่างด้านล่าง



ตัวอย่าง Star Time-Lapse Movie

IMG_1494-HDR

Smart HDR จะว่าไปแล้วโหมด HDR อัตโนมัติก็ไม่ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ใดๆ เพราะเจ้าอื่นก็มีให้เลือกใช้ตั้งนานแล้ว แต่สำหรับ G16 แคนนอนพัฒนาโหมด HDR ให้มีลูกเล่นเพิ่มเติมเช่น นอกจากจะสามารถถ่าย HDR แบบปกติทั่วไปและ Handheld ได้แล้ว ระบบกล้องยังมีเอ็ฟเฟ็กต์ HDR ให้เลือกใช้งานเช่น Art Embossed, Art Bold, Art Standard, Art Vivid และ Natural ตามภาพตัวอย่างที่ผมได้นำมาให้ชมด้านบน (ถ่ายแบบ Natural)

background-defocus

Background Defocus สำหรับผู้ใช้มือใหม่ที่อยากถ่ายภาพบุคคลให้สวยงาม แต่ไม่มีความรู้เรื่องการปรับค่ารูรับแสงหรือเลือกมุมถ่ายให้ฉากหลังละลาย ใน PowerShot G16 ก็มีโหมดละลายฉากหลังอัตโนมัติมาให้ ซึ่งสามารถใช้งานได้อย่างง่ายดายเพราะระบบจัดการให้อย่างอัตโนมัติ ส่วนถ้าผู้ใช้อยากให้ฉากหลังละลายมากหรือน้อยก็สามารถปรับแต่งได้



ZoomPlus 10x ลืม Digital Zoom ภาพแตกๆ คุณภาพแย่ที่มักพบบนกล้องคอมแพกต์ทั่วไปได้เลย เพราะใน G16 แคนนอนเปลี่ยน Digital Zoom เดิมๆ ให้เป็นระบบ Zoom Plus ที่สามารถซูมภาพต่อจากระยะเลนส์ออปติคอลได้ถึง 10 เท่าในแบบภาพไม่แตกและสูญเสียความคมชัดของภาพน้อยมาก คล้ายๆ Lossless Zoom บนสมาร์ทโฟน Nokia 808 PureView



Focus Peaking หรือระบบจุดสีเพื่อใช้ดูระยะชัดเมื่อใช้ระบบโฟกัสแบบ Manual สำหรับใช้งานเวลาถ่ายวิดีโอหรือภาพนิ่ง




WiFi Built-in อย่างที่เกริ่นไปแล้วข้างต้นว่า PowerShot G16 จะมาพร้อม WiFi ที่ใช้งานง่ายมากๆ เพราะแคนนอนปรับปรุงให้การเชื่อมต่อ WiFi ไม่จำเป็นต้องใส่ Password ให้ยุ่งยากอีกแล้ว เพียงกดเลือก SSID ที่กล้องส่งออกมา ระบบจะทำการจับคู่กันทันที และเมื่อผู้ใช้เข้าไปดึงรูปภาพจากกล้องผ่านแอปฯ CameraWindow เมื่อใดสมาร์ทโฟนและตัวกล้องจะเชื่อมต่อกันอย่างอัตโนมัติ แถมยังสามารถเลือกบันทึกพิกัดของรูปผ่านแอปฯ บนสมาร์ทโฟนได้ด้วย



Macro 1cm ด้วยการที่แคนนอนต้องการให้ PowerShot G-Series มาพร้อมเลนส์ครอบจักรวาลเพื่อความคุ้มค่าเหมาะพกพาติดตัวไว้ใช้ถ่ายภาพได้ทั้งครอบครัว เพราะฉะนั้นเรื่องการถ่ายภาพเฉพาะทางอย่างมาโคร แคนนอนก็ไม่ละเลยที่จะใส่ความสามารถในเลนส์ให้สามารถโฟกัสภาพได้ใกล้สุด 1 เซนติเมตร ซึ่งจากภาพที่ผมได้ทดสอบถ่ายหน้าจอ Apple iPad mini แบบมาโคร 1 เซนติเมตรแล้วครอป 100% จะเห็นว่าเราสามารถมองเห็นเม็ดสีใน 1 พิกเซลได้อย่างน่าสนใจถึงแม้ขอบภาพจะเบลอเพราะความครอบจักรวาลของเลนส์ก็ตาม แต่โดยภาพรวมก็ถือว่าไม่น่าเกลียดแต่อย่างใด



Hybrid AUTO จะเรียกโหมดถ่ายภาพนี้ว่าเป็นลูกเล่นพิเศษก็ไม่ผิดนัก เพราะ Hybrid AUTO (ไอคอนสีเขียวรูปแผ่นฟิล์มกับกล้องถ่ายภาพที่มีอักษร A อยู่ตรงกลาง) เปรียบเหมือน Diary Photo & Video ประจำวัน เพราะเมื่อเรากดถ่ายภาพนิ่งในโหมดนี้ กล้องจะแอบบันทึกวิดีโอไว้ประมาณ 4 วินาที จากนั้นเมื่อจบหนึ่งวันกล้องจะนำวิดีโอความยาว 4 วินาทีและภาพนิ่งทั้งหมดที่ถ่ายในโหมดนี้มาต่อกันเป็นไฟล์วิดีโอ 1 ไฟล์แบบเก๋ไก๋มาก ลองดูวิดีโอตัวอย่างด้านบนได้ครับ



FullHD 60p Video ด้านฟีเจอร์ถ่ายวิดีโอ แคนนอนก็พัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพให้ G16 รองรับการถ่ายวิดีโอที่ความละเอียด 1,920x1,080 พิกเซลที่ความเร็วเฟรม 60 เฟรมต่อวินาทีแบบ Progressive พร้อมค่าความไวแสงที่สามารถตั้งได้สูงถึง 6,400 เพราะฉะนั้นการบันทึกภาพเคลื่อนไหวในที่แสงน้อย เช่น ในงานวันเกิดที่มีแต่แสงเทียน PowerShot G16 สามารถบันทึกภาพเคลื่อนไหวเหล่านั้นได้อย่างไม่มีปัญหาเหมือนรุ่นเก่า

และนี่คือ 11 ฟีเจอร์เด่นที่ตั้งแต่ผมทำหน้าที่ทดสอบกล้องดิจิตอลคอมแพกต์มาตลอด 2 ปีไม่เคยพบเห็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมอะไรที่ทำให้การถ่ายภาพเป็นเรื่องง่ายสำหรับยูสเซอร์ทั่วไปขนาดนี้ ชิป DiGiC 6 และ HS System ที่แคนนอนภูมิใจได้ทำหน้าที่ของมันได้อย่างยอดเยี่ยมจริงๆ แต่ก็ใช่ว่าเจ้า G16 จะเทพขนาดล้มคว่ำกล้อง DSLR ได้เพราะสุดท้ายแล้วด้วยเซ็นเซอร์รับภาพที่แสนธรรมดาก็ทำให้เกิดจุดบกพร่องในเรื่องการถ่ายภาพในบางรูปแบบใช้งานได้เช่นกัน ลองไปติดตามชมในส่วนของการทดสอบประสิทธิภาพต่อครับ

ทดสอบประสิทธิภาพ

ก่อนเข้าสู่การทดสอบประสิทธิภาพผมอยากเล่าบางสิ่งให้คุณผู้อ่านฟังก่อนเล็กน้อย ผมต้องบอกว่าผมได้รับกล้อง Canon PowerShot G16 มาใช้งานร่วมสองอาทิตย์เต็มๆ โดยระหว่างสองอาทิตย์ตั้งแต่ G16 เดินทางมาอยู่ในมือผมจากตึกแคนนอนย่านสาทรผมแทบจะพกเจ้า G16 ติดตัวตลอดเวลาและใช้ถ่ายภาพอย่างหนักหน่วงมากกว่า 1,000-1,300 ภาพทั้งถ่ายงานแบบจริงจังเพื่อใช้ปิดเล่มหนังสือพิมพ์ไปถึงถ่ายเพื่อทดสอบจากหลายสถานที่ตั้งแต่กรุงเทพฯไปถึงระยอง

จากการใช้งานอย่างหนักหน่วงมากสิ่งแรกที่ผมรู้สึกกับ G16 ก็คือการทำงานที่รวดเร็วครับ เชื่อไหมว่าผมไม่เคยเจออาการกล้องค้างระหว่างทดสอบเลย อีกทั้งระบบกล้องทำงานได้รวดเร็วมาก ใช้ถ่ายภาพทั่วไปไม่ค่อยมีปัญหา แต่ผมมีปัญหาอยู่อย่างเดียวก็คือการเวลาถ่ายภาพบุคคลกับสภาพแสงจากหลอดไฟออกโทนเหลือง ผมเจอปัญหาว่าถึงแม้ผมจะปรับ White Balance ให้ตรงอย่างไร ภาพที่ได้และสีผิวของแบบจะติดโทนเหลือง ซึ่งความจริงผมเข้าใจนะครับว่าถ้าปัญหาแบบนี้เกิดก็ใส่ไฟแฟลชยิงกลบแสงเหล่านั้นไปซะก็จบเรื่อง แต่ด้วยความที่ผมเป็นพวกดื้อด้านอยากเอาชนะก็พยายามปรับอยู่นาน แต่สุดท้ายถ้ามีแบบอยู่ในฉากภาพจะติดโทนเหลืองทุกครั้ง (ปรับให้ตายยังไง มันก็ต้องมีติดเหลืองๆ ออกมาบ้าง) กลับกันแต่ถ้าไม่มีแบบ (คน) นั่งอยู่ในฉาก ปัญหาเหล่านั้นจะไม่เกิด

แน่นอนว่าผมทดสอบกับกล้องรุ่นอื่นอย่าง Sony CyberShot RX100II ลองกันแบบ Auto White Balance และ Auto Mode ดื้อๆ แบบ JPEG File เลยกลับไม่พบปัญหาเหมือน G16 ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าปัญหานี้มันเกิดจากสิ่งใด รู้แต่ว่าปัญหานี้เกิดจากการถ่ายภาพบุคคลที่ถ่ายในสภาพแสงออกอมเหลือง เหมือน Skin Tone มันปรับตีกับ White Balance หรือปัญหาเกิดจากการลบ Noise ของ HS System มั้ง???

และคือตัวอย่างภาพที่ผมทดสอบให้ชม


ภาพนี้ขนาดภาพอาจเล็กไปบ้างเพราะผมนำมาจากหน้ากองทุนรวม อสิรภาพทางการเงินคุณก็สร้างได้ รู้ก่อนทำได้เกษียณเร็วกับ"พอล-ภัทรพล"

ภาพแรกผมได้มีโอกาสทดลองกับคุณ พอล-ภัทรพล เอาแบบดิบๆ ไม่ตกแต่งรูปอะไรทั้งสิ้น ปรับแต่ White Balance จะเห็นว่าภาพนี้สีผิวคุณพอลออกอมเหลืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แม้จะปรับ White Balance หลังกล้อง นำกระดาษที่ออกแบบมาเฉพาะแก้ไข White Balance มาเทียบปรับทุกวิถีทางแล้วก็ตาม

วิธีแก้: ถ้าเจอปัญหาลักษณะนี้ จงถ่าย RAW File ออกมาแล้วมาแก้ White Balance ผ่านซอฟต์แวร์อย่าง Lightroom จะช่วยได้

IMG_1649

มาดูภาพที่สอง ที่นี่คือสตูดิโอฝั่ง ASTV ที่ใช้ถ่ายทำรายการหลากหลายรายการกับสภาพแสงจริงอมเหลืองเล็กๆ อ่อนกว่ารูปแรกมาก และส่วนใหญ่กล้องที่ถ่ายผ่านไฟสตูดิโอนี้จะสามารถปรับ White Balance ให้ตรงหรือเล่นโทนอื่นๆ ตามต้องการได้ ผมลองปรับไปโหมดถ่ายภาพบุคคลเลย ผลปรากฏภาพออกมาติดโทนเหลืองหนักกว่าเดิมเกินจากที่ตามองเห็นไปมาก กู่ไม่กลับเลยทีเดียว ต้องพึ่ง RAW File ไปแก้ผ่านซอฟต์แวร์อย่างเดียวถึงหาย

แน่นอนว่าเมื่อทดลองใช้กล้องตัวอื่นตั้งแต่สมาร์ทโฟน Sony Xperia Z1, Sony NEX-6 ไปถึงคอมแพกต์ก่อนหน้าอย่าง PowerShot N ก็ไม่พบปัญหาแสงอมเหลืองมากมายขนาดที่เห็นนี้

IMG_2253

สุดท้ายผมได้ลองทดสอบถ่ายภาพบุคคลด้วยแสงธรรมชาติ ปรับโหมดถ่ายภาพบุคคลเช่นกัน กลับไม่พบเจอปัญหาดังกล่าว สีผิวดูตรงกับตาเห็น กดถ่ายไปสิบภาพก็ได้โทนสีตรงธรรมชาติทั้งหมด

ก็ถือเป็นข้อสังเกตที่ผมก็หาต้นตอของปัญหาไม่ได้จริงๆ เอาเป็นว่าช่างมันเถอะครับ คนที่คิดจะซื้อ G16 จริงๆ ก็คงไม่มีใครคิดนำเจ้า G16 มาใช้งานถ่ายแบบจริงจังอะไรขนาดนั้นใช่หรือไม่? เพราะถึงอย่างไร DSLR ก็ให้มิติภาพในเรื่องการถ่ายภาพบุคคลที่ดีกว่ากล้องประเภทคอมแพกต์ที่เน้นใช้งานหลากหลาย ครอบจักรวาลมากกว่า

ISOTEST-G16

จบเรื่องข้อสังเกตที่อยากบอกเล่าเฉยๆ ไปแล้ว มาถึงการทดสอบภาคสนามจริงในทุกสภาพแสงกันบ้างเริ่มจากการทดสอบค่าความไวแสงและ Noise ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง ISO ซึ่งจากภาพจะเห็นว่าที่ค่า ISO ตั้งแต่ 100-3,200 ภาพยังคงคมชัด Noise ค่อนข้างน้อย ส่วน ISO 6,400 ก็ถือว่ายังใช้งานได้พอประมาณ ส่วนค่า ISO 12,800 ส่วนนี้ถ้าเป็นโหมดถ่ายภาพปกติถือว่าสอบไม่ผ่าน เพราะสูญเสียรายละเอียดไปมาก แต่ถ้าอยู่ใน Star Mode ISO 12,800 ถือว่าให้คุณภาพภาพพอใช้ได้ Noise และอาการภาพเป็นวุ้นๆ ซึ่งเกิดจากการลบ Noise ของหน่วยประมวลผลภาพที่เห็นส่วนใหญ่ต้องชมแบบครอป 100% หรือนำไปพิมพ์ภาพขนาดใหญ่มากๆ เท่านั้นถึงจะเห็น

IMG_1338
IMG_1920
IMG_1424
IMG_1522
IMG_1938

มาดูในเรื่องการถ่ายภาพวิว ทิวทัศน์ทั้งกลางวัน ตอนเย็นและกลางคืนกันบ้าง โดยภาพวิวด้านบนทั้งหมดถ่ายด้วย RAW File ขนาดประมาณ 14-15MB แล้วนำมาประมวลผลผ่าน Lightroom 5 พบว่าคุณภาพไฟล์ค่อนข้างน่าพอใจไม่ว่าจะถ่ายวิวด้วยรูรับแสง f1.8 f2.8 หรือ f8.0 ก็ถือว่าให้ภาพคมชัดพอๆ กัน ส่วนเรื่องอารมณ์ภาพจากเซ็นเซอร์ขนาดเล็กไม่ค่อยมีผลกับภาพที่ออกมานักเพราะหน่วยประมวลผลภาพ DiGiC 6 ทำงานได้ค่อนข้างดี มิติภาพและสีสันที่ออกมาจึงอยู่ในเกณฑ์ดีพอสมควร โดยเฉพาะภาพวิวกลางคืนที่ผมใช้วิธีถ่ายแบบ Manual ปรับรูรับแคบสุด ผลลัพท์ที่ออกมาถือว่าระบบจัดบาลานซ์ของแสงและสีได้ดีทีเดียว

IMG_1793


IMG_1943


เรามาลองดูภาพแบบครอป 100% กันบ้าง โดยรูปแรกถ่ายที่ค่า ISO 80 ส่วนรูปที่สองถ่ายที่ค่า ISO 2,500 พบว่าคุณภาพไฟล์ถือว่าทำได้ดีมาก ถึงแม้ภาพกลางคืนอาจให้สีสันที่จืดกว่าตาเห็นเล็กน้อยแต่เรื่องความคมชัดถือว่าสอบผ่านได้อย่างยอดเยี่ยม

IMG_1792
IMG_1930

มาถึงการตอบคำถามที่หลายคนสงสัยว่าที่ค่ารูรับแสงแคบสุด f8.0 จะให้แฉกแสงที่สวยสมเป็นเลนส์ครอบจักรวาลไหม คำตอบผมได้ทดสอบมาให้ชมแล้ว ขา Landscape ตัดสินใจกันเองเลยว่าชอบแฉกแสงแบบนี้หรือไม่

IMG_1507

ส่วนภาพนี้ผมอยากโชว์ฟิลลิ่ง DSLR จากพลังของเลนส์ f1.8-f2.8 เมื่อซูมออปติคอลสุด 5 เท่าก็สามารถละลายฉากหลังให้มีมิติได้พอกับการซูมภาพบน DSLR APS-C กับเลนส์ที่มีค่ารูรับแสงที่ f5.6 ฟิลลิ่งมันใช่เลย!

IMG_1657
IMG_1929
IMG_1665

มาดูภาพระยะใกล้และผลผลิตจากรูรับแสง f1.8 กันบ้าง

IMG_1953
IMG_2132

ส่วนสองภาพนี้ผมอยากจะบอกว่าเป็นผลผลิตจากโหมด Tv โดยผมปรับ ISO อยู่ที่ 1,600-3,200 และปรับความเร็วชัตเตอร์ค้างไว้ที่ 1/400 วินาทีเป็นหลัก จากนั้นใช้วิธีหมุนวงแหวนชดเชยค่าแสงเอาเวลาถ่าย เพราะสภาพแสงบนเวทีค่อนข้างสับสน เดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่าง แน่นอนว่าด้วยการจัดวางปุ่มปรับการตั้งค่ากล้องไว้ถึง 4 ตำแหน่งทำให้ผมมีความสุขมากกับการถ่ายภาพลักษณะนี้จนลืมไปเลยว่านี่คือกล้องคอมแพกต์ เพราะพี่ท่านควบคุมได้เหมือนกล้อง DSLR เลย

IMG_2013

อีกทั้งด้วยประโยชน์ของระบบถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง 12.2 เฟรมต่อวินาทีและระบบ ZoomPlus 10x ทำให้ผมได้ภาพนี้อย่างง่ายดายมากจนผมอยากให้ผู้อ่านกดชมภาพนี้แบบเต็มความละเอียดเลยครับ เพราะภาพนี้ผมถ่ายที่ระยะ ZoomPlus 10 เท่าพร้อมปรับภาพเป็นขาวดำจากหลังกล้องเลย ซึ่งตอนแรกดูผ่านหน้าจอหลังกล้องแล้วรู้สึกภาพแตกพอสมควร แต่เมื่อกล้องประมวลผลภาพเสร็จเรียบร้อยภาพที่ได้กลับคมชัดอย่างน่าพอใจ

IMG_1353-SuperVIVID
IMG_1361-SuperVIVID
IMG_1346
IMG_1480
IMG_1488

ส่วนเอ็ฟเฟ็กต์ถ่ายภาพต่างๆ ทั้ง Super Vivid, Toy Camera, Nostalgic สามารถเลือกใช้ได้ตามสะดวกจากโหมดเอฟเฟ็กต์ภาพ (ที่เป็นไอคอนวงกลมสองวงซ้อนกัน) ที่ผมมองว่าน่าจะถูกอกถูกใจวัยรุ่นอย่างแน่นอน แถมในอนาคต G16 จะมีอุปกรณ์เสริมเป็น Housing สำหรับดำน้ำพร้อมซีนโหมด Underwater ให้เลือกใช้แบบครบครันจริงๆ ครับ

สุดท้ายในเรื่องแบตเตอรีขนาด 920mAh ที่สามารถถ่ายภาพนิ่งได้สูงสุด 360 ภาพต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง ส่วนถ่ายวิดีโอ FullHD ได้ยาวนาน 1 ชั่วโมงและโหมด Star Trails ได้ยาวนาน 2 ชั่วโมง

IMG_1333
IMG_1433

ส่วนผู้อ่านที่อยากรับชมภาพเพิ่มเติมสามารถกดรับชมได้จากลิงค์ http://www.flickr.com/photos/potsawat/sets/72157637116419754/

จุดขาย

- กล้องที่มีฟีเจอร์ครบครันทุกการใช้งาน สามารถใช้งานทั้งครอบครัว ถ่ายง่าย
- โหมดอัตโนมัติทำงานฉลาด
- วัสดุ งานประกอบดี กริปจับถือกระชับมือ
- ปุ่มคำสั่งติดตั้งมาครบครัน ปรับตั้งค่าได้ง่าย
- กล้องมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบาเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพที่ได้
- เลนส์กล้องอเนกประสงค์มาก มาโคร 1 เซนติเมตร ซูม ซูมพลัส 10 เท่า
- WiFi ใช้ง่ายขึ้นมาก

ข้อสังเกต

- หน้าจอไม่สามารถปรับองศาการมองได้แบบคู่แข่ง
- การถ่ายภาพต่อเนื่องจำเป็นต้องใช้การ์ดที่มีความเร็วสูง ราคาค่อนข้างสูง
- เมนูปรับตั้งค่า เลือกโหมดถ่ายภาพ ขาดภาพกราฟิกทำให้มือใหม่ต้องศึกษาเมนูให้ดี ไม่อย่างนั้นอาจงงปรับเลือกไม่ถูกได้

อีกหนึ่งประเด็นที่ผมอยากจะนำไปใส่ในข้อสังเกตเหลือเกินว่า กล้องไม่รองรับหน้าจอสัมผัส ที่เป็นเหมือนแฟชั่นของคอมแพกต์ยุคใหม่แล้ว แน่นอนว่าถ้าตอนผมยังไม่ได้ทดสอบคลุกคลีอยู่กับเจ้า G16 นานถึงสองอาทิตย์ผมคงเขียนใส่ข้อสังเกตไปแล้ว แต่วันนี้ผมกลับมีความคิดต่างออกไป เพราะการที่ G16 ติดตั้งปุ่มควบคุมรอบกล้องมามากมายถึง 4 ตำแหน่ง ผมว่าเอาเข้าจริงแล้ว ถึงหน้าจอจะสัมผัสได้หรือไม่ก็แทบไม่แตกต่างกันเลย G16 กับปุ่มควบคุมที่ให้มาเพียงพอต่อการใช้งานที่เร่งรีบได้ดีอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเราตั้งปุ่ม Shortcut ให้เหมาะสมต่อการใช้งานแล้วยิ่งดีเข้าไปอีก

เพราะฉะนั้นผมจึงต้องขอห้อยข้อสังเกตนี้ไว้ให้ผู้อ่านไปพิจารณา พิสูจน์กันเองนะครับ


ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?

ตัดประเด็นเรื่องการถ่ายภาพบุคคลในสภาพแสงอมเหลืองออกให้หมด เพราะคงมีแต่พวกซีเรียสเรื่องภาพเท่านั้นที่สนใจ ผมต้องบอกว่า Canon PowerShot G16 ถือเป็นหนึ่งกล้องคอมแพกต์ที่เมื่อเทียบกับราคา 16,900 บาทแล้วเรียกได้ว่าคุ้มค่าที่สุดแล้วในตลาดตอนนี้ เพราะสิ่งที่ G16 ให้มาสามารถตอบสนองผู้ใช้ทั่วไปจนถึงสามารถใช้งานได้ทั้งครอบครับ ลูกเป็นวัยรุ่นชอบแชะแอนด์แชร์ พ่อชอบท่องเที่ยว ตั้งแคมป์ คุณแม่ชอบถ่ายภาพทั่วไป ทุกคนในบ้านสามารถใช้งานกล้อง PowerShot G16 ได้ทั้งหมด เพราะ G16 มีทั้งระบบการถ่ายอัตโนมัติที่ฉลาดหรือถ้าซีเรียสเรื่องภาพหน่อย G16 ก็สามารถถ่าย RAW File แล้วนำไปปรับแต่งเองได้อีกภายหลังจนไปถึงความสามารถในการเชื่อมต่อไฟแฟลชภายนอกได้ ทุกสิ่งที่ PowerShot G16 ให้มาตอบสนองการใช้งานของทุกคนได้ ฟีเจอร์ก็มีให้เลือกใช้หลากหลายเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ทั่วไปที่ไม่ได้มีอาชีพเป็นช่างภาพทุกรูปแบบ

นี่คือกล้องคอมแพกต์ที่ดีคุ้มค่าเงิน 16,900 บาทที่สุดแล้ว และผมขอยกให้ PowerShot G16 เป็น "กล้องคอมแพกต์ครอบจักรวาลที่ทุกบ้านน่าจะมีติดไว้ไม่เสียหลายครับ"

Company Related Link :
Canon

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket


ภาพเปรียบเทียบระหว่างปิดแฟลชกับเปิดแฟลชแบบอัตโนมัติ
กำลังโหลดความคิดเห็น