xs
xsm
sm
md
lg

Bangkok wildwatch: จับชีพจรเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถึงวันหยุดหลายคนจัดกระเป๋าออกไปหาธรรมชาติ จนบางทีอาจลืมว่ายังมีสิ่งมีชีวิตมากมายซ่อนตัวหายใจอยู่ใกล้ตัวเรา เมื่อชุมชนใหญ่ทั่วประเทศกำลังเปลี่ยนเป็นเมือง การหายไปของสิ่งชีวิตอันหลากหลายใกล้ตัวอาจหมายถึงชีพจรเมืองที่เต้นแผ่วลง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา นายปรี๊ดมีโอกาสไปร่วมงาน “Bangkok wild watch – สำรวจชีวิตป่าในเมืองหลวง” ซึ่งปีนี้จัดชึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยมีเจ้าภาพคือ มูลนิธิโลกสีเขียว นำโดยแม่งาน ดร.อ้อย-สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักอนุรักษ์สวยแกร่งฉายานักขี่สีชมพู ผู้นำขบวนการลดใช้รถยนต์และชูธงนำคนเมืองออกมาปั่นจักรยานกันทั่วหน้า ซึ่งอันที่จริงแล้ว...การส่องชีวิตสัตว์ในเมือง กับการปั่นจักรยานนี้มันมีอะไรบางอย่างเชื่อมโยงกัน...เชื่อไหมครับ?

เมื่อเจาะลึกถึงความเป็นมาของการจัดกิจกรรม Bangkok wild watch นั้นมีที่มาที่ไปซึ่งเชื่อมโยงมาจากการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศจากการสำรวจไลเคนตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน

“ไลเคน” หรือสิ่งมีชีวิตที่เป็นส่วนผสมของราและสาหร่ายรูปร่างเหมือนกลากขึ้นตามเปลือกไม้ มีจำนวนหลายชนิดที่พบในเมือง แต่ละชนิดทนมลพิษในอากาศได้ต่างกัน จึงใช้เป็นดัชนีชีวภาพวัดคุณภาพอากาศได้ การสำรวจการเปลี่ยนแปลงของไลเคนจึงทำให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ มาอย่างต่อเนื่อง

จากการสำรวจไลเคนที่สะสมหลายปีก็ส่งผลการถึงการสร้างคู่มือ “นักสืบสายลม” เพื่อให้อาสาสมัครทุกอายุทุกอาชีพได้ร่วมตรวจคุณภาพอากาศทั่วกรุงเทพและปริมณฑล ดร.อ้อยเล่าว่าชนิดของไลเคนในสวมลุมพินีเปลี่ยนแปลงมาตลอด โดยมีจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจคือช่วงที่มีการส่งเสริมให้ใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วเมื่อราวสิบปีก่อน ไลเคนชนิดที่ชอบอากาศดีก็พบได้มากขึ้น จนมาถึงปีที่แล้วไลเคนหลายชนิดกลับหายไปพร้อมๆ กับ “โครงการรถคันแรก” ซึ่งแม้จะยังไม่มีการยืนยันว่าเกี่ยวข้องกันมากขนาดไหน แต่หลักฐานมีชีวิตที่ติดตามต้นไม้ก็ฟ้องว่า “กรุงเทพฯ แย่แล้วนะจ๊ะ...” จนเป็นที่มาของโครงการ “ปั่นเมือง” เพื่อส่งเสริมการลดใช้รถยนต์ และถือเป็นโครงการแรกๆ ที่เริ่มจากการสำรวจสิ่งมีชีวิตแล้วต่อเนื่องมาเป็นการหาวิถีแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

กิจกรรมสำรวจไลเคนจึงขยับขยายให้คนเมืองมีโอกาสติดตามสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ เพิ่มเติม เพราะอาสาสมัครที่มาเข้าร่วมไม่ได้พบเห็นแต่ไลเคน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรม“Bangkok wild watch – สำรวจชีวิตป่าในเมืองหลวง” ซึ่งครอบคลุมการสำรวจสิ่งมีชีวิตในเมือง ทั้ง นก กระรอก แมลง แพลงค์ตอน ปลา พืช และสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งมีหลายภาคส่วนเข้ามาเป็นอาสาสมัครนำชมและมีผู้สนใจทั่วไปมาร่วมกิจกรรม
การเปลี่ยนแปลงของไลเคนจากปี 2553 -2556 พบว่าชนิดของไลเคนที่ทนต่อมลพิษได้น้อย ลดจำนวนลงเรื่อยๆ สีของสัญลักษณ์ใบหน้าที่ใช้แทนภาพสรุปของชนิดไลเคน เหมือนการบ่งบอกว่า “ถ้าไลเคนอย่างพวกฉันทนอยู่ไม่ได้...สักวันหนึ่งคนอย่างพวกเธอ ก็อาจทนอยู่ไม่ได้เช่นกัน!”
รายละเอียดของกิจกรรมผู้อ่านสามารถค้นหาได้ในสื่อต่างๆ และจดหมายข่าวของมูลโลกสีเขียว แต่นายปรี๊ดขอลงลึกถึงเบื้องหลังที่น่าสนใจว่าการจัดกิจกรรมแบบนี้หัวใจของมันคืออะไรกันแน่? แค่เดินดูสัตว์ดูต้นไม้แล้วมันจะได้อะไร? หรือมันก็แค่กิจกรรมของเด็กๆ ที่พ่อแม่พาไปเดินดูนกดูไม้ ใกล้ชิดธรรมชาติปลอมๆ กลางเมืองเท่านั้นแหละ...

สิ่งที่น่าสนใจอย่างแรก “คน” ที่เข้าร่วม คือการรวมตัวของคนเมืองยุคใหม่ที่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น เพราะนอกจากอาสาสมัครรุ่นเล็กรุ่นใหญ่เกือบร้อยคนแล้ว องค์กรที่เป็นไกด์นำชมธรรมชาติ ก็ไม่ใช่องค์กรใหญ่ แต่เป็นกลุ่มคนเมืองตัวเล็กๆ ที่สนใจ หรือมีงานด้านการอนุรักษ์และการศึกษาธรรมชาติเมืองอย่างจริงจัง เช่น Big Trees หรือกลุ่มอนุรักษ์ “ต้นไม้ใหญ่” ในเมือง ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มนักธุรกิจ พนักงานออฟฟิต นักวิชาการ และชาวเมืองกรุงธรรมดาๆ ที่ต้องการรักษาต้นจามจุรีปากซอยสุขุมวิท 35 เมื่อ 3 ปีก่อน จนขยับมาเป็นการติดตามทำแผนที่ต้นไม้ใหญ่ในเมือง ลงขันล้อมย้ายต้นไม้ และมีการเคลื่อนไหวในเชิงนโยบาย ซึ่งมี “พระราชบัญญัติคุ้มครองต้นไม้ใหญ่ในเมือง” เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญ

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทในการเป็นไกด์นำชมสิ่งมีชีวิตในเมืองคือกลุ่ม Siamensis ซึ่งเริ่มต้นมาจากคนเลี้ยงปลาสวยงามไม่กี่คนที่พบกันในเว็บไซต์พันทิป จนขยายตัวรวบรวมกลุ่มคนที่ชอบธรรมชาติ รักการศึกษาสิ่งมีชีวิตเล็กๆ รอบตัว แม้หลายคนไม่ได้เรียนด้านชีววิทยาหรืออนุกรมวิธาน แต่ถือว่าเป็นเซียนที่ฟันธงชนิดของสิ่งมีชีวิตได้ขนาดนักวิชาการยังต้องเข้าหา นอกจากนั้นก็มีกลุ่มใบไม้ที่เป็นแหล่งรวมของนักอนุรักษ์ธรรมชาติรุ่นใหม่ สมาคมดูนกแห่งประเทศไทย และกลุ่มนักวิชาการอย่างกลุ่มวิจัยไลเคน ม.รามคำแหง และ กลุ่มวิจัยภูมินิเวศและการอนุรักษ์เชิงปฏิบัติ (ECA) จาก ม.มหิดล ที่เข้ามาร่วมตามความถนัดของแต่ละคน ถือว่าเป็นเวทีที่รวมภาคีของคนเมืองเพื่อขยายสารจากธรรมชาติเมืองสู่คนเมืองอย่างสนใจ

จุดหมายหลักของการจับชีพจรเมือง น่าจะอยู่ที่การติดตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตทั้งชนิดและจำนวนที่เพิ่มขึ้นหรือหายไปในแต่ละปี
แผนภาพอุณหภูมิในสวนลุมพินีช่วงเวลาที่ทำการสำรวจสิ่งมีชีวิต พบว่าด้าน ถ.พระราม 4 และ ถ.ราชดำริ ซึ่งเป็นถนนใหญ่มีการจราจรคับคั่งมีอากาศร้อนกว่าในสวน และด้าน ถ.วิทยุซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ถึงเกือบ 5 องศา ปัจจัยทางกายภาพพื้นฐานแบบนี้ก็อาจสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกได้แบบง่ายๆ และอาจลองสร้างเป็นกิจกรรมเล็กๆ ในบ้านหรือโรงเรียนได้
การทำการสำรวจสิ่งมีชีวิตในเมืองในต่างประเทศถือเป็นเรื่องปกติและมีความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วนเพื่อกระตุ้นให้คนเมืองหันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อตนเอง ในอเมริกามหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแหล่งเป็นศูนย์กลางจัดกิจกรรมชื่อ Bioblizt ซึ่งระดมนักวิชาการและประชาชนมารวมตัวกันตรวจชีพจรเมืองตั้งแต่สัตว์ พืชไปถึงจุลินทรีย์ มีการสำรวจประชากรสัตว์และพืชที่เปลี่ยนไปในแต่ละปี รวมทั้งขุดดินไปวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมแบบข้ามคืน เพื่อแยกชนิดจุลินทรีย์ในดินสวนสาธารณะว่ายังมีคุณภาพในการค้ำจุนต้นไม้อยู่หรือไม่?

แล้ว Bangkok wild watch ตอบโจทย์นี้ได้บ้างหรือเปล่า? สิ่งที่สะท้อนจากผลการสำรวจสิ่งมีชีวิตมีบางอย่างที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับปี 2555 เช่น ไลเคนที่ชอบอากาศดีลดชนิดลง โดยเฉพาะด้าน ถ. วิทยุ และ พระราม 4 , แพลงก์ตอนในสระน้ำของสวนลุมพินีมีชนิดและจำนวนลดลงครึ่งหนึ่ง ตัวเหี้ยสัตว์ขจัดซากกลางเมืองก็จำนวนลดลง และปลาบู่ใสปลาตัวเล็กๆ ที่อาจบ่งชี้คุณภาพน้ำกลับอันตรธานไปจากสระน้ำ สิ่งเหล่านี้อาจกำลังเตือนว่า “ชีพจรเมืองของกรุงเทพฯ กำลังเต้นแผ่วลงๆ ทุกที”

ดร.อ้อยผู้เป็นแม่งานตั้งคำถามว่าว่า “ถ้านี่เป็นเพียงบทที่ 1 ที่เริ่มเปิดให้คนได้สนใจ แต่เราจะย่ำอยู่กับบทที่ 1 ตลอดไปได้อย่างไร?” สิ่งที่น่ากังวล คือ การเชื่อมโยงปัญหาสิ่งมีชีวิตเมืองที่ลดลงมีความหมายอย่างไรกับชีวิตคน เพราะหากมีข้อมูลการติดตามจำนวนและชนิดของสิ่งมีชีวิต แต่ยังไม่มีการเชื่อมโยงว่าถ้าพวกมันหายไปจะกระทบกับชีวิตเราอย่างไร ก็ถือว่ายังไปไม่ถึงฝั่งฝัน ช่องว่างนี้ยังต้องการความช่วยเหลือจากนักวิชาการที่ต้องสร้างความเชื่อมโยงประเด็นนิเวศเมืองให้ชัดเจน

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ องค์กรที่จะเป็นเจ้าภาพในระยะยาวและกำลังคนรุ่นใหม่ที่สนใจการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองที่น่าจะเข้ามามีบทบาทในอนาคตก็ยังเลือนลาง เพราะหากมูลนิธิโลกสีเขียวเกิดอุบัติเหตุทางการดำเนินงาน ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ในปีต่อๆไป คำถามสำคัญก็คือองค์กรใดหรือใครจะทำต่อ? เพราะต้นแบบอย่างการสำรวจไลเคนยังต้องใช้เวลาเกือบ 20 ปี กว่าจะแปลงสารจากธรมชาติถึงการหาแนวทางแก้ปัญหาได้ ใครจะเป็นผู้กัดติดและเกาะปัญหานิเวศเมืองแบบไม่ปล่อยได้บ้าง?

ที่สำคัญกว่านั้น ไม่ใช่เพียงแต่กรุงเทพฯ ที่ควรมีการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ หัวเมืองทั้งหลายในประเทศก็กำลังเปลี่ยนตัวเองเป็นชุมชนเมืองแบบเต็มขั้น แต่อาจลืมหันไปดูสิ่งมีชีวิตที่เคยหายใจใช้ชีวิตเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาแต่เก่าก่อน จะเป็นได้ไหมหากองค์กรอนุรักษ์ระดับท้องถิ่นจะจับมือร่วมกับมหาวิทยาลัยภูมิภาค ตรวจจับชีพจรเมืองของตนเองปีละครั้ง เพื่อรับรู้สารจากธรรมชาติ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป

เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว

ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์







กำลังโหลดความคิดเห็น