xs
xsm
sm
md
lg

พบกระทิงป่ากุยบุรีตายแล้ว 6 ตัว ในรอบ 15 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พบกระทิงสัตว์ป่าสงวนที่อาศัยหากินอยู่ในพื้นที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตายอีก 1 ตัว รวมเป็น 6 ตัวแล้วในรอบ 15 วันที่ผ่านมา ตรวจสอบเบื้องต้นส่วนหนึ่งพบมีร่องรอยถูกเสือโคร่งกัด

วันนี้ (19 ธ.ค.) นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขา เพชรบุรี พร้อมด้วย นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขา เพชรบุรี นายปรีชา วิทยพันธุ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี นายพงษ์พันธุ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี สัตวแพทย์ศูนย์การศึกษาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปศุสัตว์อำเภอกุยบุรี เจ้าหน้าที่ WWF ประเทศไทย พร้อมทหารชุดประสานงานโครงการพระราชดำริ บ้านรวมไทย ตลอดจนชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงได้เดินทางเข้าไปตรวจสอบซากกระทิง ภายหลังได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ซึ่งออกลาดตระเวนในพื้นที่ว่า พบซากกระทิง ตายอยู่ในพื้นที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ใกล้กับบ่อน้ำหมายเลข 6

นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3สาขา เพชรบุรี กล่าวว่า จากการเข้าไปตรวจสอบพบว่า กระทิงตัวดังกล่าวนอนตายอยู่ในบริเวณป่าก่อนถึงบ่อเก็บน้ำ หมายเลข 6 ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่า โดยเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมสัตวแพทย์ ได้ร่วมกันตรวจสอบพบว่า ซากกระทิงดังกล่าวเป็นเพศเมีย อายุประมาณ 8-10 ปี คาดว่าเสียชีวิตมานานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว ส่วนลำตัวเริ่มเน่าเปื่อย ส่งกลิ่นเหม็น แต่ไม่พบบาดแผล หรือร่องรอยการถูกทำร้าย

โดยทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้นำเขาทั้ง 2 ข้างมาทำบันทึกเก็บรักษาไว้ที่อุทยานฯ เพื่อการศึกษาวิจัยต่อไป ทั้งนี้ ยังได้ร่วมกับทางเจ้าหน้าที่ WWF ประเทศไทย ติดตั้งกล้องคาเมราแท็บที่บันทึกภาพแบบอัตโนมัติไว้ที่บริเวณจุดที่กระทิงเสียชีวิตใกล้บ่อน้ำหมายเลข 6 และบริเวณที่ลูกกระทิงถูกหมาไนกัดตายอีก 1 จุด เพื่อต้องการทราบว่าจะมีสัตว์ชนิดใดมากินซากกระทิงดังกล่าวต่อไปหรือไม่เพื่อไว้เป็นฐานข้อมูลต่อไป

ด้านนายปรีชา วิทยพันธุ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ระบุว่า ในช่วงตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2556 จนถึงวันนี้ รวม 15 วัน พบมีกระทิงเสียชีวิตในพื้นที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวม 6 ตัวด้วยกัน โดยเป็นเพศผู้ 4 ตัว และเพศเมีย 1 ตัว และลูกกระทิงเพศเมียอายุประมาณ 3 เดือน อีก 1 ตัว

จากการตรวจสอบของสัตวแพทย์พบว่า 2 ตัวที่เสียชีวิตไม่พบบาดแผลแต่อย่างใด เป็นกระทิงอายุระหว่าง 17-20 ปี น้ำหนักขนาดกว่า 1 ตัน คาดว่าเป็นการแก่ตายตามธรรมชาติ ส่วนอีก 2 ตัวนั้นมีร่องรอยถูกสัตว์กัด โดยคาดว่าน่าจะถูกเสือโคร่งในป่าลึกกัดจนเสียชีวิตเพราะพบร่องรอยการกัดที่ส่วนก้น และตามลำคอตามระบบห่วงโซ่อาหารที่มีการล่าเหยื่อเพื่อดำรงชีวิต

ขณะเดียวกัน ซากกระทิงที่เหลืออีก 2 ตัวนั้นเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้เนื่องจากพบซากในสภาพเน่าเปื่อยแล้ว แต่ได้ทำการส่งชิ้นเนื้อ อวัยวะ และน้ำ ที่อยู่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุไปตรวจสอบที่ศูนย์พัฒนาสัตวแพทย์ภาคตะวันตก จ.ราชบุรี เพื่อหาสาเหตุการตายที่แท้จริงแล้ว

นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขา เพชรบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และทหารพราน กว่า 20 นาย ออกลาดตระเวนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และในพื้นที่โครงการฟื้นฟูสภาพป้าสงวนแห่งชาติ ป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านในป่าลึก เพื่อตรวจสอบข้อมูล และหาสาเหตุถึงการเสียชีวิตของกระทิงทั้ง 6 ตัว เพิ่มเติม และเพื่อตรวจสอบอีกว่า ที่ป่าชั้นในยังมีซากกระทิงเสียชีวิตในลักษณะเดียวกันเพิ่มเติมอีกหรือไม่

ด้านนายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า จาการตรวจสอบการเสียชีวิตของกระทิงในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่มั่นใจว่าไม่ได้เกิดจากการล่าของมนุษย์อย่างแน่นอน เพราะส่วนเขา และหัวของกระทิงทุกตัวยังอยู่ครบถ้วน และตามลำตัวไม่พบมีบาดแผล ไม่พบร่องรอยกระสุนแต่อย่างใด

โดยขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ให้น้ำหนักไปที่ประเด็นการล่าเหยื่อของเสือโคร่งในพื้นที่ ซึ่งอุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีการสำรวจประชากรของเสือโคร่งที่อาศัยอยู่ภายในป่าลึกชั้นใน เบื้องต้นมีไม่น้อยกว่า 7 ตัว และอาจเป็นไปได้ว่าอาจเกิดลูกเสือโคร่งตัวใหม่ จึงต้องล่าเหยื่อเป็นอาหาร ซึ่งการล่าเหยื่อนั้นเสือโคร่งต้องช่วยกันอย่างน้อย 2 ตัว เนื่องจากกระทิงเป็นสัตว์ใหญ่ ซึ่งหากเป็นกรณีนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีเพราะเป็นห่วงโซ่อาหาร ในส่วนของลูกกระทิง 1 ตัวนั้น พบว่าถูกหมาไนไล่ล่า และกัดกิน

นายวัฒนา กล่าวอีกว่า จากข้อมูลของทางอุทยานฯ กุยบุรี พบว่า ปัจจุบันกระทิงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีอยู่มากกว่า 150 ตัว และยังมีลูกกระทิงเกิดใหม่อีกเป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ประชาชน หรือนักท่องเที่ยวก็ไม่ต้องกังวล เนื่องจากจุดที่พบกระทิงตายนั้นพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวผ่านเข้าไปเที่ยวชมฝูงกระทิงแต่อย่างใด

ขณะที่ นายปรีชา วิทยพันธุ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี กล่าวอีกครั้งว่า ล่าสุด ทางอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้รายงานข้อมูล และสาเหตุการเสียชีวิตของกระทิงทั้งหมดให้ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับทราบข้อมูลแล้ว

นอกจากนั้น ในส่วนของทางอุทยานฯ กุยบุรี และเจ้าหน้าที่ WWF ประเทศไทย ที่มาทำงานเรื่องโครงการอนุรักษ์ช้างป่าอยู่ในพื้นที่นั้นก็ยังคงออกติตตามจุดต่างๆ ที่ฝูงกระทิงจะลงมาหากินบริเวณแปลงหญ้า 200 ไร่ และบริเวณโป่งสลัดได้อย่างต่อเนื่อง และตามจุดต่างๆ ซึ่งในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่พบฝูงกระทิงลงมาที่แปลงหญ้าซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่าอาจอยู่ชั้นในของป่าลึก ซึ่งทางอุทยานฯ ก็มีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่ง พร้อมทหารพรานเข้าไปเดินเท้าลาดตระเวนอยู่ ซึ่งยังไม่ได้กลับออกมา






กำลังโหลดความคิดเห็น