xs
xsm
sm
md
lg

คนท้องมีปัญหาขาดสารไอโอดีนมากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำรวจพบคนไทยใช้เกลือเสริมไอโอดีนมากที่สุด 87.8% น้ำปลา 75.1% กลุ่มหญิงตั้งครรภ์มีปัญหาขาดสารไอโอดีนมากสุด หวั่นกระทบทารก สธ.เร่งเสริมไอโอดีน พร้อมจัดงานวันไอโอดีนแห่งชาติช่วยรณรงค์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (25 มิ.ย.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานรณรงค์เนื่องในวันไอโอดีนแห่งชาติ “สติปัญญาสร้างชาติ คนไทยไม่ขาดไอโอดีน” ว่า จากการสำรวจประชากรอายุ 20-59 ปี ในพื้นที่ศูนย์อนามัยเขตของกรมอนามัย 12 จังหวัด ปี 2555 จำนวน 1,703 คน พบว่า มีการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนประเภทเกลือเสริมไอโอดีน ร้อยละ 87.8 รองลงมาคือ น้ำปลา ร้อยละ 75.1 ซอส ร้อยละ 55 และซีอิ๊ว ร้อยละ 53.1 นอกจากนี้ ร้อยละ 84.1 ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนมากกว่า 1 ชนิด เช่น เกลือ น้ำปลา ซอส และซีอิ๊ว เมื่อสำรวจถึงการรับรู้ของประชาชนด้านการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน พบว่า ประชาชนร้อยละ 92.1 รู้ว่าสารไอโอดีนมีประโยชน์ต่อร่างกายในด้านการเสริมสร้างพัฒนาการสติปัญญาในเด็กเล็ก ร้อยละ 82.7 รู้วิธีป้องกันการขาดสารไอโอดีน โดยรับประทานอาหารทะเล และผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน ซึ่งเท่ากับว่าคนไทยมากกว่าร้อยละ 20 ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนเพื่อป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อไปว่า ปัญหาการขาดสารไอโอดีนจะพบในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ เพราะจะแสดงผลร้ายชัดเจนในทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงอายุ 3 ปี ถ้าหญิงตั้งครรภ์ขาดสารไอโอดีนจะส่งผลให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการทางสมองไม่เต็มที่ หากขาดสารไอโอดีนมาก อาจทำให้ทารกตายในครรภ์ แท้ง พิการ หรือเติบโตเป็นเด็กสติปัญญาด้อย การเรียนรู้ไม่เต็มศักยภาพ โดยมีผลลดความเฉลียวฉลาดหรือไอคิวของเด็กลงถึง 10-16 จุด ซึ่งแม้ว่าขณะนี้ค่าเฉลี่ยระดับไอคิวของเด็กไทยจะอยู่ที่ 98 จุด และอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากล แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ที่มีไอคิวเฉลี่ย 104 จุด

กลุ่มหญิงตั้งครรภ์จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก โดย สธ.ได้มีการจ่ายยาเม็ดเสริมไอโอดีน โฟเลท และธาตุเหล็ก แก่หญิงตั้งครรภ์ทุกคนที่มาฝากครรภ์ในสถานบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะให้ตั้งแต่เมื่อเริ่มตั้งครรภ์เพื่อป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนให้กับทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์และมีผลต่อการพัฒนาไอคิวของเด็ก และยานี้จะได้รับการบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์สำหรับการดูแลหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตรในระยะ 6 เดือน หลังคลอดทุกคน ซึ่งจะมีผลในทุกสิทธิไม่ว่าจะเป็นสิทธิข้าราชการ ประกันสังคม หรือสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนกลุ่มเด็กทารกแรกเกิดได้กำหนดให้มีการตรวจระดับฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ทุกคน หากพบว่ามีค่าผิดปกติจะมีระบบติดตามเพื่อตรวจยืนยันพร้อมให้การแก้ไขทันทีทุกราย” รมช.สาธารณสุข กล่าว

ด้าน นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดปี 2555 ของกรมอนามัยพบว่า สัดส่วนของหญิงตั้งครรภ์ที่มีระดับไอโอดีนในปัสสาวะต่ำกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลิตร เป็นร้อยละ 46.4 ความครอบคลุมการใช้เกลือบริโภคเสริมไอโอดีนของครัวเรือนอยู่ที่ร้อยละ 95.8 และการดำเนินงานชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนที่ผ่านการประเมินรับรองเป็นชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีน จำนวน 38,663 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 53.1 ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยใช้มาตรการส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนใช้เกลือเสริมไอโอดีนและผลิตภัณฑ์ปรุงรสเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพ เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว และซอสปรุงรสในการปรุงอาหารทุกครั้ง เพื่อให้คนไทยได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอ ไม่อยู่ในภาวะเสี่ยง ทั้งนี้ กรมอนามัยจึงดำเนินงานเพื่อควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนมาอย่างต่อเนื่อง และจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันไอโอดีนแห่งชาติเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการสร้างกระแสและรณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงภัยร้ายของการขาดสารไอโอดีนและใช้ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนเป็นประจำ


กำลังโหลดความคิดเห็น